“เชน นครปฐม” ผลิตบอนไซเน้นตลาดสะสม จากงานอดิเรกยามว่าง สู่อาชีพทำเงิน

บอนไซ เป็นอีกหนึ่งการปลูกต้นไม้ที่เรียกได้ว่าต้องมีศิลปะในการทำ เพราะไม้แต่ละต้นที่นำมาทำเป็นบอนไซ ผู้ปลูกต้องคัดสรรและแต่งแต้มจินตนาการเข้าไป เพื่อย่อส่วนไม้ลงในพื้นที่ทรงกระถางต่างๆ ที่มีรูปทรงที่ต้องการ ซึ่งไม้ที่นำมาทำเป็นบอนไซ ไม่ว่าจะเป็นไม้ชนิดไหนสามารถทำได้ เพียงแต่ผู้ปลูกต้องมีเทคนิค และการทำโครงสร้างต้นให้ออกมาเป็นแบบธรรมชาติดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด

คุณณรงค์ศักดิ์ ล้ำกิจเสรีชัย หรือในวงการบอนไซรู้จักเขาในนาม “เชน นครปฐม” เจ้าของสวนเชนบอนไซ ตั้งอยู่เลขที่ 252/1 ถนนเกษตรสิน ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ได้สนใจในการปลูกเลี้ยงบอนไซมามากกว่า 20 ปี โดยเขาได้เรียนรู้และสร้างผลงานที่เน้นเป็นบอนไซสำหรับสะสม จึงทำให้สวนแห่งนี้มีบอนไซที่เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์และมากมนต์เสน่ห์ที่ใครหลายๆ คน ต้องเข้ามาศึกษาและหาซื้อเพื่อไปสะสมกันเลยทีเดียว

คุณณรงค์ศักดิ์ ล้ำกิจเสรีชัย ในวงการรู้จักเขาในนาม “เชน นครปฐม”

ทำบอนไซเป็นงานอดิเรก

คุณเชน เล่าให้ฟังว่า เขามีงานประจำและมีธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการจำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง และย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน เขาได้เห็นภาพการทำบอนไซจากหนังสือ ทำให้เกิดความชอบในขณะนั้นมาก เพราะจากที่สังเกตไม้ที่นำมาทำบอนไซค่อนข้างเป็นไม้ที่ต้องปลูกลงดินให้มีขนาดที่ใหญ่ แต่เมื่อนำมาทำเป็นบอนไซแล้ว ไม้กลับมีขนาดที่เล็กลง และมีสัดส่วนที่พอดีกับกระถางได้อย่างลงตัว

“พอเห็นจากหนังสือช่วงนั้นแล้ว ผมเกิดความทึ่งมาก สนใจอย่างตั้งใจเลยว่า ต้องเข้าไปศึกษาให้ได้ โดยในช่วงแรกผมก็หาซื้อหนังสือต่างๆ ศึกษา จากนั้นก็มีหาสวนที่เขาทำและเข้าไปเรียนรู้ พอได้ประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว ก็จัดการหาไม้ หลักๆ ที่นำมาทำ ผมจะเน้นเป็นไม้ไทยก่อน เพราะว่าไม้ไทยบางชนิดจะดูดึกดำบรรพ์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สายพันธุ์ไม้ 4 ชนิดที่ผมสะสมเยอะสุด ประกอบไปด้วยต้นตะโก ต้นมะขาม ต้นเทียนทะเล และไม้ตระกูลพุด พุดผา พุดป่า ประมาณนี้ครับ” คุณเชน บอก

โดยไม้อย่างตะโกที่นำมาทำเป็นบอนไซนั้น คุณเชน บอกถึงลักษณะพิเศษเวลานำไม้มาทำเป็นบอนไซว่า ให้อารมณ์ที่มีความขึงขัง เมื่อมองด้วยสายตายังได้รูปทรงไม้โบราณที่ชวนหลงใหล เพราะกิ่งของไม้โค้งงอมีทรงที่สวย ผิวของเนื้อไม้ก็มีความขรุขระผิวสีดำ และที่สำคัญมีความคงทนต่อการปลูกเลี้ยงในกระถาง ซึ่งสามารถเติบโตเป็นรูปทรงที่สวยงามในแบบที่เขาต้องการ

พื้นที่สวนบอนไซ

“พรรณไม้” ที่ทำเป็นบอนไซ

เป็นงานศิลปะที่มีชีวิต

ต้นไม้หรือสายพันธุ์ไม้ที่นำมาทำเป็นบอนไซ คุณเชน บอกว่า จะหาจากแหล่งต่างๆ หลายพื้นที่ ตั้งแต่หัวไร่ปลายนา ซึ่งบางครั้งไม้เหล่านี้อยู่ในพื้นที่นาอาจจะเกะกะจึงทำให้มีการไถทิ้ง แต่สำหรับเขาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และนำมาทำเป็นงานศิลปะที่ยังคงมีชีวิตได้ ซึ่งการขยายพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน มีตั้งแต่การเพาะเมล็ดไปจนถึงการตอนกิ่ง

การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งจะให้ระบบรากที่แตกต่างกันไป โดยไม้ที่ผ่านการเพาะเมล็ดและขุดมาจากแหล่งธรรมชาติจะให้ระบบรากที่ดี เพราะระบบรากจะมีความซับซ้อน โค้งงอม้วนเป็นแบบธรรมชาติ ส่วนการตอนกิ่งจะให้ความสวยในเรื่องของฐานรากเป็นหลัก

“การเลือกต้นไม้ให้ตรงตามแบบการทำบอนไซ คือการทำไม้ใหญ่ย่อส่วนลงมา เพราะฉะนั้นเราจะเลือกไม้ที่มีโคนใหญ่ปลายยอดเรียว เราจะเลือกประมาณนี้ ส่วนต้นที่เป็นแท่งตรงๆ เราจะไม่เลือกมาทำบอนไซ และกิ่งเราก็จะเลือกต้นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีความคดโค้งมีความแปลก ซึ่งอายุของไม้ที่นำมาทำบอนไซ ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุ แต่เราจะเน้นไม้ที่เก่าที่อายุมากยิ่งดี อย่างไม้บางตัวในสวนผม ก็ซื้อต่อจากเจ้าของท่านอื่นๆ ที่เลี้ยงมามากกว่า 50 ปีก็มี เราก็มาเลี้ยงต่อ ทำในแบบจินตนาการของเราแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม้ที่นำมาทำบอนไซ จึงเป็นทั้งไม้เก่าและไม้ใหม่” คุณเชน บอก

มะขาม

การปลูกไม้ที่นำมาทำเป็นบอนไซจะบังคับให้อยู่ในกระถางเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ รากจะแผ่ขยายเต็มพื้นที่ ในทุกๆ 2-3 ปี ก็จะทำการตัดแต่งราก เพื่อให้รากเกิดเป็นเซลล์รากใหม่ที่สามารถดูดซึมอาหารไปเลี้ยงต้นได้ดีขึ้น ส่วนในเรื่องของการตัดแต่งกิ่งจะทำปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่เหมาะสม โดยการตัดแต่งจะขึ้นอยู่กับจินตนาการของเขาที่มองเห็นในตัวไม้ว่าจะทำ หรือจะกำหนดรูปทรงแบบใด มีทั้งทำทรงให้โค้งงอยอดตกลงมาต่ำกว่ากระถาง หรือเป็นทรงตั้งตรงสง่างามดูมั่นคง

เฟื่องฟ้า

สำหรับเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชที่ต้องระวัง หลักๆ จะป้องกันในเรื่องของเชื้อรา เพราะจะทำให้รากของไม้เน่า การป้องกันคือจะดูแลในเรื่องของวัสดุปลูกให้มีความโปร่ง ไม่ให้อัดแน่นมากจนเกินไป สามารถระบายน้ำได้ดี ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้รากเน่าที่เป็นสาเหตุจากเชื้อราเข้ามาทำลาย หรือกรณีที่รากเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ขั้นสุดท้ายจะป้องกันด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้ามาช่วยป้องกันและรักษา ส่วนแมลงศัตรูพืชไม่ค่อยพบปัญหามากนัก เพราะไม้แทบทุกต้นค่อนข้างมีความคงทนแข็งแรง

“วัสดุปลูกในสวนผม ก็จะเน้นที่ระบายน้ำได้ดี มีความโปร่ง ประกอบไปด้วย แบล็กลาวา หินภูเขา ดินเผาดินอบ กรวดแม่น้ำ และถ่านไบโอชาร์ นำส่วนประกอบเหล่านี้มาผสมเข้าด้วยกัน และใช้เป็นวัสดุปลูกทั้งหมดให้กับไม้ เพราะพวกนี้คุณสมบัติเหมาะสมมาก ทำให้พื้นที่ในกระถางโปร่ง ช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกไปได้ดีมาก พร้อมกับเก็บความชื้นได้ดีเยี่ยม และที่สำคัญเมื่อปลูกไปนานๆ วัสดุปลูกพวกนี้ไม่ย่อยสลายตัว เราก็ไม่ต้องใส่หรือเปลี่ยนบ่อยๆ มากเกินไป” คุณเชน บอก

ตะโก

จากทำเป็นงานอดิเรก

จนขายได้ราคา เป็นอาชีพทำเงิน

ในเรื่องของการจำหน่ายหรือทำเป็นการตลาดจำหน่ายนั้น คุณเชน เล่าว่า เขาไม่ได้มีหน้าร้านหรือนำบอนไซออกไปจำหน่ายที่ไหน ช่วงแรกยิ่งปลูกเลี้ยงยิ่งทำออกมาสวย ยังไม่ได้ตัดสินใจที่อยากจะทำเป็นการตลาดเลย เพราะรู้สึกทั้งรักและเสียดายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเพื่อนสนิทเข้ามาชมไม้และเห็นความสวย จึงอยากที่จะขอซื้อเพื่อนำไปปลูกเลี้ยงต่อ หลังจากนั้นก็มีการบอกกันไปปากต่อปาก ทำให้เขาเริ่มที่จะมีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอๆ

สนเลื้อย

โดยบอนไซที่เขาทำทั้งหมดจะเป็นคุณภาพเพื่อเน้นตลาดสะสม ซึ่งตลาดหลักๆ ก็จะเน้นเพื่อนักสะสมหรือตั้งโชว์เป็นหลัก จึงทำให้ราคาของไม้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความสวยงาม และคุณค่าเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น ส่งผลให้ราคาก็ไม่มีราคาที่ตายตัวแน่นอนด้วยเช่นกัน แต่จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขายและลูกค้าที่ตกลงกัน

โมกเขาสามร้อยยอด

ราคาบอนไซถูกสุดเริ่มต้นอยู่ที่หลักพันบาท และราคาที่สูงสุดอยู่ที่หลักล้านบาท

“กลุ่มตลาดบอนไซ ต้องบอกว่า จะแยกอยู่ประมาณ 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่เขามาทำใหม่ๆ กลุ่มนี้ก็จะมีการซื้อขายกันอยู่ตลอด และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มตลาดที่ผมจับอยู่ เป็นตลาดเพื่อการสะสมเป็นหลัก เพราะกลุ่มนี้จะเน้นสะสม และเราก็จะมีการดูแลหลังการขายด้วย อย่างลูกค้าผมบางคน ซื้อแล้วก็ฝากผมดูแลก็มี พอเขาอยากจะนำไปตั้งโชว์หรือมีงานอะไรก็จะยกไป เสร็จงานแล้วก็มาให้ผมดูแลต่อ ซึ่งจากที่ทำมาตลอด ผมมองว่าตลาดบอนไซยังถือว่าไปได้ และสิ่งที่ผมได้กลับมาเห็นๆ เลยคือความสุข” คุณเชน บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำบอนไซให้ได้คุณภาพ คุณเชน แนะว่า ช่วงแรกอยากให้ทำเป็นงานอดิเรกที่มีความสุขเสียก่อน จากนั้นเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เมื่อยึดการทำบนพื้นฐานของการทำแบบมีใจรัก ไม่นานสิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างแน่นอน ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณเชน นครปฐม หมายเลขโทรศัพท์ 087-557-2561

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354