เกลือสมุทรพุ่ง 3 พันบาท/เกวียน ในรอบ 3 ปี

ชาวนาเกลือสมุทรได้เฮ ราคาพุ่งแตะ 3,000 บาท/เกวียน หลังเจอราคาตกต่ำ 3 ปี แถมเจอเกลือสินเธาว์แย่งตลาดเกษตรกร “เพชรบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม” ผนึกกำลัง 5 สหกรณ์ เพิ่มอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลาง เพิ่มคุณภาพผลผลิต พร้อมดันมาตรฐานของกระทรวงเกษตรฯ

นายเชาว์ เฮงสกุล ประธานสหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการทำนาเกลือสมุทรในประเทศไทยมีประมาณ 5-6 จังหวัด โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุด รองลงมาเป็นสมุทรสาครและสมุทรสงครามตามลำดับ โดยสมุทรสงครามมีพื้นที่ทำนาเกลือประมาณ 5,000 ไร่ มีเกษตรกร 100 กว่าราย โดยดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม จำกัด สหกรณ์บางแก้วนาเกลือ จำกัด และอีกส่วนหนึ่งไม่สังกัดสหกรณ์

สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม มีปริมาณเกลือสมุทรประมาณ 30,000 เกวียน ต่อปี (เกวียนละ 1,550 กิโลกรัม) ซึ่งเฉลี่ยได้ผลผลิต 8-10 เกวียน ต่อไร่ โดยใน 1 ปี สามารถทำนาเกลือได้ประมาณ 4 ครั้ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ฤดูหนาวจนกระทั่งถึงฤดูฝน ครั้งแรกจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ส่วนครั้งต่อไปใช้ระยะเวลา 1 เดือน 20 วัน และ 15 วัน ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้เกลือตกผลึกเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาผลผลิตเกลือล้นตลาดและขาดทุน ทำให้ชาวนาเกลือหลายรายหยุดการทำนาเกลือ อีกทั้งเจอปัญหาฝนตกนอกฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณเกลือในปีนี้หายไปจากตลาดประมาณ 60% ราคาเกลือจึงปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/เกวียน เมื่อเทียบจากปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 800 บาท/เกวียน ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาทต่อเกวียน ปัจจัยหลักมาจากค่าแรงที่สูงถึง 1,000 บาท/คน/วัน ซึ่งขณะนี้ยังคงขาดแคลนแรงงาน

ปัจจุบัน พื้นที่ทำนาเกลือในจังหวัดสมุทรสงครามส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าของเอกชน ซึ่งการขยายตัวของเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการทำนาเกลือ ประกอบกับเจอการแข่งขันสูง เนื่องจากมีเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกลือจากต่างประเทศเข้ามารุกตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ทำนาเกลือได้ปรับตัวด้วยการหันมารวมกลุ่มกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 3 จังหวัด 5 สหกรณ์ เพื่อผลิตเกลือที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และมีปริมาณเพียงพอที่จะส่งให้กับโรงงานได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับพ่อค้า โรงงาน และผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาราคาเกลือผันผวนไม่ให้ตกต่ำเกินไป อีกทั้งจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ด้วย คาดว่าจะเริ่มนำระบบนี้มาใช้ในเดือนตุลาคม 2560 นี้ และยังได้รวมตัวกันทำนาเกลือในรูปแบบนาแปลงใหญ่อีกด้วย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 30%

นอกจากนั้น เกษตรกรยังต้องการให้มีมาตรฐานของตัวเองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องใช้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดด้วยความชื้น โดยปกติแล้วเกลือสมุทรจะมีความชื้น 6.5 หรือเทียบได้แค่เกรด C เท่านั้น ทำให้ราคาลดลง เพราะหากได้เกรด A ที่ความชื้น 0.5 ราคาจะสูงถึง 4,000-5,000 บาท/เกวียน

“อนาคตของนาเกลือจะสดใสได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกัน เนื่องจากปริมาณการผลิตของเกลือสมุทรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เกลือสินเธาว์จึงเข้ามาแย่งตลาดเกลือสมุทร จริงๆ แล้วเกลือสินเธาว์เป็นเกลือที่เหมาะกับอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่เหมาะกับการบริโภค แต่กระทรวงสาธารณสุขบังคับให้เติมสารไอโอดีน 20-40 มิลลิกรัม ต่อเกลือ 1 กิโลกรัม ทำให้เราเสียเปรียบค่อนข้างมากและยาวนานมากว่า 20 ปีแล้ว” นายเชาว์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ