ตะคร้ำ ค้ำ คือยันไว้ คล้ำ คือเกือบดำ แต่… “คร้ำ” ทำไม..? ช่อเหลืองงาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Garuga pinnata Roxb.

ชื่อวงศ์ BURSERACEAE

ชื่ออื่นๆ หวีด (ภาคเหนือ) อ้อยน้ำ (จันทบุรี) กะตีบ แขกเต้า ค้ำ ไม้ค้ำ กอกฟาน ตำคร้ำ หวิด ลำเมาะ (ลั้ว) ปิซะยอง ปิซะออง (กะเหรี่ยง)

หนูจัดตัวเองเป็นสาวเหนือร้อยชื่อ เพราะแต่ละชื่อของหนูอาจจะขัดแย้งกับบุคลิกหรือภาพรวมทางกายภาพที่มองภายนอก ประการแรก ถ้าหากมีคนออกสำเนียงภาษาไทยไม่ชัดก็มักจะออกเสียงว่า “ตะคล้ำ” หนูโกรธมาก เพราะหาว่าหนูออกดำ ทั้งๆ ที่หนูออกดอกเหลืองนวลผ่องใส ที่โกรธหนักไปอีกคือไปออกเสียงว่า “ดำคล้ำ” จริงๆ ชื่อหนูคือ “ตำคร้ำ” เห็นมั้ย..! น่าโมโห อย่าหาว่าหนูแซว “สาวใต้” เลยนะ เพราะหนูเหลืองนวลเหมือนสีน้ำอ้อย หนูจึงชอบใจที่ชาวเมืองจันท์เรียกหนูว่า “อ้อยน้ำ” แต่หนูก็ชอบชื่อที่ออกเสียงทางยุโรปม้ากมาก ที่เขาเรียกว่า “ปิซะออง, ปิซะยอง” เหมือนชื่อสาวฝรั่งเศส แต่พอสืบจริงๆ เป็นชื่อที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกซะนี่ แหม..! อยากเป็นสาวฝรั่ง กลายเป็น “สาวชาวเขา”

หนูบ่นเรื่องชื่อ เพราะทางเหนือเขานิยมเรียกหนูว่า “หวีด หรือ หวิด” มากกว่าชื่ออื่นๆ หนูท้าได้เลยว่า ถ้าใครไปเที่ยวชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และใช้หางบัตรเข้าชมศึกษาธรรมชาติ โดยเส้นทางเดินลอยฟ้า หรือ Canopy walkway คือสะพานเหล็กที่ยกเหนือเรือนยอดไม้ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทางกว่า 400 เมตร ระดับความสูงกว่า 20 เมตร บางช่วงจะมีพื้นกระจกใสมองเห็นยอดไม้ด้านล่างท่ามกลางต้นไม้ใหญ่เขียวขจี สูดอากาศบริสุทธิ์ ล้างปอด ฟังเสียงนกร้องนกบิน ธรรมชาติ

ถ้าหากเดินสุดทางเดินชมเพลินคิดว่าเราเดินบนยอดไม้ มองออกไปเห็นภูเขาล้อมรอบ บางครั้งก็ขาสั่นเพราะกลัวความสูง บางจุดก็อยากปีนนั่งบนแผงกั้นถ่ายรูปเหมือนเราลอยไปกับเมฆหมอก แล้ว “check-in” ทุกจุด เมื่อเดินมาถึงทางออกปลายทางหากเป็นช่วงต้นปี มกราคมถึงมีนาคม ณ จุดตรวจ มองทางขวามือเห็นต้นไม้ใหญ่ ออกดอกเต็มต้นทุกกิ่งก้านสีเหลืองเพราะช่วงผลัดใบ แผ่กิ่งก้านโชว์ดอกถึงจุดตรวจบัตรทางออก ถามเจ้าหน้าที่ว่า “ต้นใหญ่ดอกเหลือง ชื่ออะไร” ท่านก็ตอบว่า “ต้นหวีด หรือ ต้นหวิด” ไม่เห็นท่านเรียกว่า “ต้นตะคร้ำ” เลย หนูจึงสบายใจว่าใครฟังแล้ว หนูไม่ใช่ “สาวผิวคล้ำ” แน่นอน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่า ลาว กัมพูชา จนถึงอินเดีย หนูมีวงศาคณาญาติอยู่ทุกประเทศ โดยเฉพาะที่ราบ ตามป่าโปร่ง ป่าไม้ผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณเมื่อถึงเวลาออกดอก ด้วยลำต้นที่สูงได้มากกว่า 20 เมตร จึงโดดเด่นในป่าด้วยกัน แต่หนูแปลกใจที่ในป่าเมืองไทยทุกภาคพื้นป่าหนูอยู่ได้ทั่วไป แต่ทำไมเฉพาะภาคใต้ หาพบหนูยากมาก แทบจะไม่มีในภาคใต้ หรือหนูจะกลัวลมทะเล แดดทะเล แล้วผิว “จะคล้ำ” ญาติๆ หนูจึงไม่ยอมอยู่ภาคใต้กันเลย สาวๆ ชาวใต้อย่าว่ากันนะ ก็ถือเป็นนิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ส่วนบุคคลก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตาม ในด้านพฤกษศาสตร์หรือลักษณะวิสัย ก็เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางที่มีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือทรงกระบอก โคนต้นเป็นพูพอน กิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสีเทาคลุมกระจายทั่วเปลือกนอกต้นสีเทาหรือปนเทาแตกสะเก็ดอาจมีหลุมตื้นๆ แต่เปลือกในสีนวลมีริ้วสีชมพูสลับ ถ้าสับดูจะมียางซึมสีออกชมพูปนแดง แต่ถ้าทิ้งไว้นานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำ มีกระพี้เป็นสีชมพูอ่อนๆ แต่แก่นต้นเป็นสีน้ำตาลแดง

ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงเวียนสลับเป็นกระจุกปลายกิ่ง ก้านช่อหนึ่งจะมีหลายใบ ยาวถึง 10 นิ้ว แต่ปลายก้านมีเพียงใบเดียว โคนใบแหลมมนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบสั้น ใบอ่อนสีขาวมีขนสั้นๆ เมื่อโตแผ่นใบจะเป็นสีเขียว

ดอก ออกเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอด ช่อดอกยาวถึง 6 นิ้ว มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก เป็นดอกสมบูรณ์ ลักษณะดอกเป็นรูประฆัง กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน แต่ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมีสีครีม สีเหลือง หรือสีชมพูอ่อน เมื่อออกดอกเต็มต้นจะเหลืองอร่าม หากอยู่ในสวนป่าซึ่งมีฉากหลังเป็นใบไม้สีเขียว จะมองดูดอกเหลืองโดดเด่นมาก เมื่อพัฒนาเป็นผล มีลักษณะเป็นทรงกลมอวบน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายในสีเขียวอมเหลือง เนื้อนุ่มเมื่อแก่จัดสีดำ ผิวหุ้มเมล็ดแข็งภายในฉ่ำน้ำ มี 1-2 เมล็ด เป็นส่วนที่นำไปเพาะขยายพันธุ์ได้ดี จึงกระจายพันธุ์ทั่วไปทั้งประเทศเนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน

สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้ได้ทั้งผล ต้น ใบ เปลือกต้น นิยมใช้เป็นยาภายนอกภายในกับผู้คนมาตั้งแต่โบราณ นอกเหนือจากให้ร่มเงา ดอกสวย กลิ่นหอมอ่อนๆ เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้บิด ท้องร่วง ปวดท้อง ห้ามเลือด หรือล้างแผลเรื้อรังได้ แม้กระทั่งคั้นน้ำจากลำต้นหยอดตา แก้เยื่อตาอักเสบ ใบคั้นน้ำผสมน้ำผึ้งรักษาโรคหืด เป็นยาบำรุงธาตุบำรุงกระเพาะอาหาร ผลสุกตะคร้ำรับประทานได้และใช้เบื่อปลาได้ด้วย รวมถึงใช้ย้อมตอกให้มีสีดำ ส่วนที่นิยมใช้มากที่สุดคือต้นกับเปลือกต้น โดยนำมาแช่น้ำให้เด็กทารกอาบป้องกันผิวขึ้นผื่น นำมาตำพอกต้มอาบ ชาวเผ่าอีก้อใช้เป็นยาแก้อักเสบ ติดเชื้อแผลหนองและห้ามเลือด ชาวขมุ นำมาขูดใส่ลาบ สตรีหลังคลอดใช้ต้มอาบ ส่วนเปลือกต้นมีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วให้น้ำฝาด ชนิด pyrogollol และ catecho รวมทั้งมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด

เดี๋ยวนี้หนูไม่น้อยใจแล้ว ใครจะเรียก “ค้ำ-คล้ำ” ช่างปะไร เพราะหนูภูมิใจที่หนูเป็นหนึ่งพันธุ์ไม้ในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่แม่ริม ปลายทาง canopy walkway และที่ “พระจุฑาธุชฐาน” บนเกาะสีชัง ที่สร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2435 ท่ามกลางหาดหินสลับหาดทรายเลียบทะเล และพอแก่ตัว เขาบอกว่าเนื้อไม้ใช้งานการเลื่อย เจาะ กลึง ยึดตะปู ขัดเงา สวยชัด ทำฝาบ้าน เครื่องเรือน หีบ ลังลายสวยงาม

เป็นไม้มงคลที่ใช้มัดเสาเอก หรือใส่หลุมเสาเรือนเป็นสิริมงคลบ้าน “ค้ำชูเป็นไม้ค้ำยัน” ให้กับบ้านเรือน คิดจะสร้างบ้านใหม่ เรียกหาหนูไปผูกหัวเสานะเจ้าค่า..!

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354