เกษตรกรชัยภูมิ ยกระดับการผลิตข้าวอินทรีย์ สู่การเชื่อมโยงตลาดข้าวทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันข้าวอินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังได้รับความนิยม เพราะเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยทำนาแบบเคมี มาทำเป็นข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ นอกจากความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคแล้ว เกษตรกรยังให้เหตุผลเสริมว่า การทำนาอินทรีย์ช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายปลอดภัยแล้ว ในเรื่องของราคาจำหน่ายสามารถทำราคาได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

คุณโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว

 คุณโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ให้ข้อมูลว่า การผลิตข้าวอินทรีย์เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมข้าวในโรงเก็บเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าว จะไม่ใช้สิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูง ยังถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการทำเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย ดังนั้น มาตรฐานการผลิตข้าวจึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวต้องพัฒนาและยกระดับให้ได้รับมาตรฐาน โดยปฏิบัติตามระบบการผลิตข้าวที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ สามารถเข้าสู่การแข่งขันของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“การยกระดับมาตรฐานข้าวอินทรีย์สู่ระดับสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของการเชื่อมโยงตลาด เป็นการต่อยอดส่งเสริมให้เกษตรกรได้ขายข้าวอินทรีย์ได้คุณภาพมากขึ้น โดยมีความเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ซึ่งการรับรองมาตรฐานสากลนี้ มีการรับรองมาตรฐานยูเอสดีเอ (USDA) และการรับรองมาตรฐานของอียู (EU) ซึ่งถ้าผ่านการรับรองแล้ว เกษตรกรที่อยู่ในเป้าหมายที่จะดำเนินการมีด้วยกันทั้งหมด 9 จังหวัด ประกอบด้วย 11 กลุ่ม พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ถ้าคิดเป็นผลผลิตก็จะอยู่ประมาณ 1,000 กว่าตัน เมื่อผ่านการรับรองก็เป็นการยกระดับให้พี่น้องเกษตรกรได้ขายข้าวอินทรีย์ออกสู่ตลาดสากลได้ โดยเฉพาะในอเมริการและยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล” คุณโอวาท กล่าว

คุณจำนงค์ บำรุงญาติ

คุณจำนงค์ บำรุงญาติ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านโสก อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นเกษตรกรที่ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาแบบเคมี มาทำการปลูกข้าวแบบระบบเกษตรอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มได้รวมกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์เมื่อปี 2560 โดยได้เข้าร่วมโครงการอินทรีย์ 1 ล้านไร่ กับทางกรมการข้าว ปัจจุบันมีสมาชิก 47 ราย พื้นที่ 526 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 6 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากกรมการข้าว ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สาเหตุที่เขาได้ปรับเปลี่ยนมาทำการผลิตข้าวอินทรีย์นั้น คุณจำนงค์ ให้เหตุผลว่า ตั้งแต่มาทำการผลิตข้าวอินทรีย์สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของสุขภาพ เพราะนอกจากไม่ต้องนำตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเคมีแล้ว ในเรื่องของระบบนิเวศในแปลงนาก็ได้กลับคืนมาสู่ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต อย่างหอย ปู และปลา ที่สามารถหาและนำมาประกอบอาหารได้ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ทำนาเป็นเคมีสิ่งมีชีวิตเหล่านี้แทบจะไม่มีให้เห็น

“ผมเห็นการทำนามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะพ่อแม่ผมทำมาตลอด ซึ่งสมัยก่อนนั้น ผมเน้นในเรื่องของการทำเคมีมาตลอด พอประมาณปี 2559 ได้มีการส่งเสริมให้ทำนาแบบอินทรีย์มากขึ้น ผมก็เลยได้มีการปรับเปลี่ยน เพราะอยากได้ผลผลิตที่ปลอดสารพิษ และที่เห็นได้ชัดเลย คือในเรื่องของผลผลิตที่ทานได้อย่างมั่นใจ จากนั้นก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่มีอยู่ทั้งหมด 14 ไร่ มาทำเป็นอินทรีย์” คุณจำนงค์ บอก

สำหรับในพื้นที่นี้จะทำนาปีละ 1 ครั้ง โดยการปรับปรุงบำรุงดินจะเน้นใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นหลัก คือ หลังจากที่หว่านปอเทืองลงไปในนาข้าวแล้ว เมื่อปอเทืองออกดอกก็จะทำการไถกลบทันที ก่อนที่จะปลูกข้าวใช้รถไถเตรียมแปลงนาได้ตามปกติ โดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกจะเริ่มหว่านประมาณเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนทำให้นาได้มีน้ำ

โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้หว่านลงในแปลงนา จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกอยู่ที่ 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นพันธุ์ข้าวปลูกสายพันธุ์ กข 6 และสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากนั้นดูแลต่อไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ข้าวที่ปลูกทั้งหมดก็จะให้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้

“เรื่องโรคและแมลงที่นี่ไม่ค่อยพบปัญหามากนัก เพราะพันธุ์ข้าวค่อนข้างมีความต้านทานโรค พอเราไม่ได้มาใช้สารเคมีอะไรเลย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราถูกลง หรือเรียกง่ายๆ ว่าประหยัดต้นทุนมากขึ้น พอมาเปรียบเทียบกับการทำนาแบบสมัยก่อน ในเรื่องของสุขภาพนี่เราได้แน่นอน เพราะเราไม่ต้องเจอสารพิษต่างๆ เลย” คุณจำนงค์ บอก

สำหรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้ต่อรอบการผลิต เฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับการใช้เคมีแล้วถือว่าผลผลิตได้สูงกว่ามาก เพราะข้าวที่ปลูกในระบบอินทรีย์จะมีลักษณะใบที่ค่อนข้างหนา จึงทำให้ต้นข้าวมีความแข็งแรงและผลผลิตที่ได้ต่อไร่จึงเพิ่มขึ้น

โดยราคาจำหน่ายข้าวอินทรีย์เป็นข้าวหอมมะลิ สามารถส่งให้กับแหล่งที่รับซื้อได้ถึงกิโลกรัมละ 14 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ยังไม่ได้ผลิตเป็นข้าวอินทรีย์จำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 9 บาท เพราะแหล่งรับซื้อนำข้าวที่ผลิตนำไปแปรรูปและส่งออกยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

การผลิตข้าวอินทรีย์ แปรรูปต่างๆ

“การทำข้าวอินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะเราสามารถควบคุมในเรื่องต้นทุนได้ เพราะตั้งแต่มาทำ ไม่เคยใช้สารเคมีอะไรเลย ทำให้ประหยัดต้นทุน ส่วนการปรับปรุงบำรุงดิน เราก็ใช้ปุ๋ยพืชสดบ้าง ปุ๋ยคอกบ้าง ก็ถือว่าไม่ต้องลงทุนอะไรเลย และตอนนี้ยิ่งมายกระดับเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น ทำให้เราสามารถจำหน่ายได้ราคา เพราะมีแหล่งรับซื้อที่เขาสามารถส่งไปยังตลาดต่างประเทศได้ ตอนนี้ผมจึงมั่นใจและจะทำนาในระบบอินทรีย์ต่อไป” คุณจำนงค์ บอก

 

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำนาในระบบอินทรีย์ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณจำนงค์ บำรุงญาติ หมายเลขโทรศัพท์ 097-092-5955


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354