เผยแพร่ |
---|
การรวมพลังเกษตรกรที่มุ่งปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมี สู่การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และมุ่งต่อยอดการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดการผสานพลังในรูปแบบเครือข่าย เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมการแสดงสินค้าด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ได้จัดเวทีเสวนาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ภายในงานมีเครือข่ายชุมชนเกษตรอินทรีย์จากหลากหลายพื้นที่เข้าร่วม โดยล้วนเป็นเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ร่วมวางรากฐานจนไปนำสู่ความยั่งยืน และสร้างพื้นที่ต้นแบบในการสนับสนุนระหว่างชุมชนที่เข้มแข็งกับภาคธุรกิจ ช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป
SX 2022 ยังมีตัวแทนผู้นำเครือข่ายชุมชนเกษตรอินทรีย์มาร่วมพูดคุย อาทิ เวทีเสวนาหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์…การขับเคลื่อน ‘กินดี อยู่ดี’ ด้วยพลังเครือข่าย” ที่ได้ ทิวาพร ศรีวรกุล ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กาญจนบุรี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีกาญจนบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ฑิฆัมพร กองสอน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีน่าน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีน่าน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เข้มแข็ง ปูทางสู่ความยั่งยืนต่อไป
‘ผักปลอดสารพิษ’ สร้างรายได้-สร้างอาชีพเกษตรกร จังหวัดกาญจนบุรี
ทิวาพร ศรีวรกุล ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กาญจนบุรี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีกาญจนบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บอกว่า พื้นที่ส่วนมากของกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ป่ากว่า 12 ล้านไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ แต่พื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้มีมากนัก เพราะส่วนมากเป็นพื้นที่อนุรักษ์
“กาญจนบุรีส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชผักได้สวยงาม จึงเป็นที่หมายปองของกลุ่มบริษัทและคู่ค้าต่างๆ เมื่อสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกาญจนบุรี ได้รับความสนใจจากลูกค้าส่วนต่างๆ จึงทำให้เกิดเครือข่ายมากขึ้น แต่จะมีการคัดกรองในการเข้าเครือข่าย คือ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
ทิวาพร บอกอีกว่า สำหรับการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กาญจนบุรี และเข้าร่วมเป็นประชารัฐรักสามัคคีกาญจนบุรี ถือเป็นการตอบรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีนโยบายนำผักปลอดภัยเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการส่งผักปลอดสารพิษเข้าสู่โรงพยาบาล มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท และผักปลอดสารพิษต่างๆ ยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกด้วย ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง
“แต่กว่าจะประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผักอินทรีย์จะทำให้มีความสวยงามเหมือนผักเคมี เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะผู้บริโภคและลูกค้าจะไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมผักถึงตำหนิและจะส่งคืนผักกลับมา ผักอินทรีย์เป็นการปลูกโดยวิธีทางธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องโดนแมลงต่างๆ กัดกินไปบ้าง ทำให้ไม่สวยงามเท่าไหร่นัก อยากให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้” ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กาญจนบุรี เผย
‘1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพ’ ผลักดัน ‘ฟักทองไข่เน่า’ ของดีประจำจังหวัดน่าน
ฑิฆัมพร กองสอน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีน่าน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีน่าน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เล่าถึงที่มาของการทำเกษตรอินทรีย์ว่า ในอดีตพื้นที่ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ผู้คนตั้งหมู่บ้านอยู่เฉพาะที่ราบเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านก็หักร้างถางพงจนป่าไม้หมดไป กลายเป็นภูเขาหัวโล้น อีกทั้งลำน้ำน่านก็มีแต่สารพิษ เพราะมีการใช้สารเคมีทำการเกษตร ทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ เสื่อมโทรมตามไปด้วย จึงมีแนวคิดพัฒนาและช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้พื้นที่ป่าในจังหวัดน่านฟื้นคืนกลับมา
“หากเรามัวแต่คิดเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ช่วยอะไร จึงคิดว่าควรมีการฟื้นฟูที่ดินทำกินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยได้หันมามองเรื่องเกษตรอินทรีย์ เมื่อปี 2556 ผ่านแนวคิด 1 ไร่ เกษตรอินทรีย์ โครงการนี้อาจไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรนำเงินที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ไปใช้หนี้สินต่างๆ ได้ แต่อยากให้มองว่าให้ปลูกทุกอย่างที่เรากินและปลอดสารเคมี เพื่อให้ปลอดภัยต่อร่างกายของเรา และหากเหลือก็สามารถนำไปขายต่อได้”
การดำเนินงานเรื่องเกษตรอินทรีย์เดินหน้าได้มากขึ้น เมื่อปี 2556-2559 เครือข่ายได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจาก ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ พร้อมด้วย ธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ลงไปสำรวจพื้นที่ เกิดเป็นโครงการ ‘1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพ’ โดยแบ่งที่ดินคนละ 1 ไร่ มาปลูกพืชสวนครัวอินทรีย์ โดยไทยเบฟสนับสนุนเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก การบริหารจัดการ และช่องทางการตลาดในการจัดจำหน่ายสินค้า
“พื้นที่ตำบลบัวใหญ่ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดน่าน มีฟักทองพันธุ์พื้นเมือง ชื่อว่า ‘ไข่เน่า’ ซึ่งเมื่อ ดร.อนุรักษ์และคุณธารทิพย์ได้ชิมแล้วก็ชมว่าอร่อยมาก จึงได้เล็งเห็นและส่งเสริมให้ส่งออกฟักทองไปขายยังพื้นที่ตลาดต่างๆ โดยคิดว่าหากเกษตรกรแบ่งพื้นที่การเกษตรมาปลูกฟักทองและส่งขายด้วย จะช่วยสร้างเม็ดเงินเป็นจำนวนมาก” ฑิฆัมพร กล่าว
‘1 ครัวเรือนต้องมีแปลงผักอินทรีย์เป็นของตนเอง’ แก้ปัญหาวงจรการใช้ยาฆ่าแมลง
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย เล่าถึงการเดินทางไปสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่จังหวัดน่าน ว่าเริ่มจากทำงานในมูลนิธิสัมมาชีพ ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมด้วยทีมงานจากทั้งประเทศมารวมกันกว่า 40 คน จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา โดยมีแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
“ในกรณีพื้นที่จังหวัดน่าน มีทีมไทยเบฟขึ้นไปสำรวจจนเจอพื้นที่ตำบลบัวใหญ่ ซึ่งเป็นตำบลที่มีแบบแผนในการพัฒนาชุมชนอย่างชัดเจน จึงเชิญชวนคนในชุมชนกว่า 200 คน ร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาวงจรการใช้ยาฆ่าแมลง และมาทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน จนเกิดเป็นโครงการให้แต่ละครัวเรือนควรจะมีแปลงผักปลอดสารพิษ หรือแปลงเกษตรอินทรีย์เป็นของตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน และส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วย” ดร.อนุรักษ์ บอก
เกษตรอินทรีย์อาจมีรูปลักษณ์ไม่สวยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งตอนท้ายทั้ง 3 คนได้เชิญชวนว่า ถ้าอยากกินอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ ไม่ควรเลือกความสวยงามของผักเท่านั้น เพราะหลายครั้งที่ความสวยงามดังกล่าวอาจปนเปื้อนสารเคมี หากเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกคนหันมาปลูกผักอินทรีย์หรือผักปลอดสารพิษกินเองในครัวเรือน เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน และยังสอดรับกับประเด็นความยั่งยืนอีกด้วย