สาวนักจิตวิทยา คว้าที่ 1 รางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” – เปิดวงเสวนาร่วมผลักดันผลงานนักเขียนหญิงสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ (สีลม) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ประกาศผลและมอบรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 โครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายของนักเขียนหญิง โดยมี คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานมอบรางวัล ร่วมด้วย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

โดยมีแขกผู้มีเกียรติ เหล่านักเขียน และนักแปล เข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ อ.เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, คุณปรียนาถ สุนทรวาทะ, ผศ.สกุล บุญยทัต, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, คุณอรุโณชา ภาณุพันธุ์, คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์, คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์, คุณตรีคิด อินทขันตี, คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์, คุณพึงเนตร อติแพทย์, คุณวิทิดา ดีทีเชอร์ นักเขียนหญิงเจ้าของผลงาน “รอยบาศ” ผู้ชนะรางวัลชมนาดครั้งที่ 9

โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลชมนาดครั้งที่ 11 คือ ผลงานนวนิยายเรื่อง “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” (ชื่อประกวด) โดย คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล อดีตนักจิตวิทยา ภายใต้ชื่อหนังสือ “วิหารความจริงวิปลาส” รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมตีพิมพ์ผลงานเป็นรูปเล่มทั้งภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ

สำหรับ นวนิยายเรื่อง “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหลายตัว ที่เดินทางมาพบกันที่โบสถ์แห่งหนึ่งเพื่อร่วมงานศพในขณะที่พายุฝนฟ้าคะนอง การเล่นเกมเล่าเรื่องเพื่อให้ทายว่าเป็นเรื่องจริงหรือลวง เผยให้เห็นสภาวะผิดปกติทางจิตของตัวละครในลักษณะต่างกัน สร้างความแปลกใหม่ด้วยการผสานเรื่องเล่าสยองขวัญกับปมปัญหาทางจิตเวชอันหลากหลายได้อย่างกลมกลืน สะท้อนแนวคิดคุณค่ากับความรัก ความผูกพัน และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคล การนำจิตวิทยาเข้ามาอธิบายเสริมให้เข้าใจความผิดปกติของตัวละคร ช่วยให้สังคมเข้าใจผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชหลากหลายลักษณะมากขึ้น

คุณศศิวิมล เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจที่ได้รางวัลนี้เพราะความหวังสูงสุดคืออยากให้เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับสากล เพราะเนื้อหาของเรื่องน่าจะสามารถเชื่อมโยงให้คนอ่านทุกวัฒนธรรมมีความรู้สึกลึกซึ้งทางอารมณ์ร่วมกัน ได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องหลักวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติต่อศาสนา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สภาวะทางจิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นอาการทางจิตเวชและปัญหาบุคลิกภาพ

“เรื่องนี้มีเวลาทำกระชั้นมาก เพราะเปลี่ยนใจใน 8 วันสุดท้ายก่อนส่งต้นฉบับ ค่อนข้างเครียดมาก แต่เป็นพล็อตที่ตั้งใจจะเขียนมานานแล้ว เป็นพล็อตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวคาทอลิก พูดถึงเรื่องจิตวิทยาพฤติกรรมที่เราพบเห็นโดยทั่วไป แต่คนกลุ่มนี้ถูกกันเอาไปไว้วงนอก หรือเป็นคนชายขอบเพราะหลายคนโดนคำพูดตีตรา เช่น สำออย แกล้งทำ เรียกร้องความสนใจ ซึ่งคำพูดพวกนี้จะไม่สามารถให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ และจะเกิดปัญหากับตัวเองและคนในสังคม

“นอกจากนี้จะพูดถึงเรื่องการนับถือหรือไม่นับถือศาสนา การเลื่อนไหลของความคิดความเชื่อของคนในปัจจุบัน อย่างคนไทยแม้ว่าจะมีการประกาศว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่คนพุทธหลายคนก็ยังนับถือเทพเจ้าหลายองค์ไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับการทำบุญ หรือร่วมพิธีกรรมอื่นๆ ที่ทำให้สบายใจ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย อยากให้มองว่าไม่เป็นเรื่องแปลก แต่มองเป็นความงดงาม ทุกคนประกอบด้วยความรัก ความปรารถนาดีของมนุษยชาติ” เจ้าของผลงาน ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ กล่าว และว่า

รางวัลชมนาดเป็นเวทีที่มอบโอกาสให้ผู้หญิงได้ถ่ายทอดความคิดของตัวเองต่อสังคม ที่ผ่านมาทั้งรูปแบบสารคดีและนวนิยายมีหลายมุมมองที่น่าสนใจ เป็นโอกาสสำคัญของนักเขียนหญิงอย่างมาก เพราะในสังคมไทยในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเพศยังมีอยู่ ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่มีต่อสังคมมากสักเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้แสดงออกเต็มที่และมีโอกาสเผยแพร่ไปสู่วงกว้าง

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปีนี้ได้รางวัลถึง 2 เรื่อง 1. นวนิยายเรื่อง “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” โดย คุณอภิญญา เคนนาสิงห์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของหญิงสาว นามว่า รำเพย หญิงสาวที่ถูกพ่อแม่มองเป็นเพียงทรัพย์สมบัติขายกิน แต่เธอไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค แม้จะผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยที่จะหยุดฝัน พร้อมจะกัดฟันทำงานสู้ชีวิต เพื่อไขว่คว้าฝันให้สมดั่งใจปรารถนา และ นวนิยายเรื่อง “5,929  ไมล์…ระยะฝัน” โดย คุณจีรภา บุณยะทัศน์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของนักเรียนไทยกับการตามฝันไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษในวัย 40 ที่พกความกล้าไปด้วยใจเกินร้อย แม้เงินในกระเป๋าจะไม่เต็มเท่าความกล้าก็ตาม ทั้งนี้ ผู้เขียนนวนิยายทั้ง 2 เรื่อง ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมค่าลิขสิทธิ์หนังสือจัดพิมพ์ภาษาไทย

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “ไกรสร” โดย คุณดวงตา ศรีวุฒิวงศ์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมค่าลิขสิทธิ์หนังสือจัดพิมพ์ภาษาไทย

โดย “ไกรสร” เป็นนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ของทนายความ ชื่อ ประมวล ที่ประสบปัญหาขาดงานเพราะการระบาดของโควิด-19 และเมื่อเขาได้รับว่าจ้างจากเศรษฐีนีให้ตามหาสามีที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทนายประมวลคิดว่าเป็นงานไม่ยาก แต่เมื่อยิ่งสืบเรื่องราวจากการตามหาคนหายธรรมดาอาจกลายเป็นการขุดลึกถึงเบื้องหลังอะไรสักอย่างที่ไม่ชอบมาพากลไปเสียแล้ว

ด้าน ดร.ทวีลาภ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วรรณกรรม เป็นงานสร้างสรรค์ของบุคคลที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสภาพชีวิต สังคม และคตินิยมของงานทุกยุคทุกสมัย “วรรณกรรมรางวัลชมนาด” เป็นการประกวดวรรณกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างจากวรรณกรรมรางวัลอื่นๆ เนื่องจากเป็นการประกวด ที่มุ่งเน้นมอบให้แก่นักประพันธ์ที่เป็นสตรีเท่านั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด มุ่งมั่นส่งเสริมให้นักเขียนหญิงที่มีใจรักในงานประพันธ์ ทั้งมืออาชีพ และมือใหม่ ได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิงบนเวทีคุณภาพแห่งนี้ และมีโอกาสเดินก้าวต่อไปสู่นักเขียนในระดับนานาชาติ

“เรื่องของวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการเรื่องราวต่างๆ ที่สะท้อนสังคมในแต่ละช่วงที่เปลี่ยนแปลงไปมาก นวัตกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่ปรากฏในงานวรรณกรรมต่างๆ ได้ รางวัลชมนาดเป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุนมาเป็นปีที่ 11 ฉะนั้นการสร้างนักเขียนโดยเฉพาะสตรีถือว่ามีบทบาทสำคัญ เราอยู่ในยุคที่พูดถึงความเท่าเทียม สิทธิสตรี และเราก็เห็นว่านักเขียนสตรีที่รางวัลชมนาดได้สร้างมา มีที่มาหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่น มืออาชีพ และได้เห็นพัฒนาการในหลายปีที่ผ่านมา

“คิดว่าวงการวรรณกรรมยังต้องการการสนับสนุนให้มีความทันสมัย มีความเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รวมทั้งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลงานเหล่านี้มีโอกาสได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจคนไทย เข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนกิจกรรมลักษณะนี้ เราคาดหวังว่าการจัดงานเพื่อประกวดปีต่อๆ ไปจะได้รับความสนใจจากนักเขียนมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีส่วนในการสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ๆ และสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่มีคุณภาพให้กับสังคม” ดร.ทวีลาภ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปีนี้มีนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวด 30 เรื่อง และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 9 เรื่อง ได้แก่  “เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์” โดย คุณกชกร ชิณะวงศ์, “กุสุมาอีกครั้ง” โดย คุณกมลวรรณ ชมชอบบุญ, “5,929  ไมล์…ระยะฝัน” โดย คุณจีรภา บุณยะทัศน์, “the present ของขวัญ” โดย คุณชัญญา ศรีธัญรัตน์, “คมบุหลัน” โดย คุณณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน, “ไกรสร” โดย คุณดวงตา ศรีวุฒิวงศ์, “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” โดย คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล, “ผู้พิทักษ์ตนสุดท้าย” โดย คุณสมาพร แซ่จิว และ “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” โดย คุณอภิญญา เคนนาสิงห์

ทั้งนี้ ภายหลังประกาศผลรางวัล มีการจัดเสวนาหัวข้อ “จะร่วมกันผลักดันงานเขียนสตรีสู่นานาชาติชนิดยั่งยืนอย่างไรกัน” โดย คุณกนกวลี พจนปกรณ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศ และ ดร.สวัสดิ์ เก่งชน ที่ปรึกษาและผู้นำการสัมมนาอาวุโสหลักสูตรกลยุทธ์การตลาด และกลยุทธ์การขาย

โดย คุณกนกวลี กล่าวว่า การผลักดันงานเขียนสตรีสู่นานาชาติ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. ผู้สร้าง คือ นักเขียน 2. ผู้เสริม คือ การแปลที่แข็งแรงและดีพร้อมที่จะได้รับการสนับสนุนไปสู่เป้าหมาย และ 3. ผู้ส่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเขียนไม่สามารถทำได้ ต้องมีผู้ส่งที่มีศักยภาพและมีพลังพอสมควร ตัวอย่างงานเขียนที่ประสบความสำเร็จที่มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศและได้รับความนิยม อาทิ เรื่องบุพเพสันนิวาส ที่มีการแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันงานเขียนและพล็อตเรื่องสู่นานาชาติ อาทิ ประเทศเกาหลี

คุณกนกวลี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันงานเขียนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ อาทิ จากงานเขียน การพิมพ์หนังสือ ละคร ภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น หนังสือภาพ หนังสือเสียง สติ๊กเกอร์ไลน์ และเกมส์

ด้าน ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า การผลักดันงานเขียนสตรีสู่นานาชาติต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย 1. มีคณะทำงานร่วมผลักดัน สรรหานักเขียน วางไทม์ไลน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และการแปลสู่สายตานานาชาติ 2. มีผู้อุปถัมภ์ วางแนวทางเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก โดยเสนอว่าสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักพิมพ์ ต้องมาทำ MOU ร่วมกันในการสร้างนักเขียนและการโปรโมตสู่เวทีนานาชาติ

ขณะที่ ม.ล.วีรอร กล่าวว่า รางวัลชมนาด เราเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของคนเขียน ขณะเดียวกันนักแปล การแปลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องเคารพต้นฉบับ เคารพคนเขียน เป็นสิ่งที่นักแปลต้องคำนึงถึง เพราะไม่ว่าสำนวนนั้นๆ จะถูกแปลกี่ครั้ง ความหมายก็คือสิ่งเดียวกัน สิ่งสำคัญจริงๆ คือต้องมองด้วยหัวใจ ทั้งนี้มองว่าหนังสือแปลที่วางบนแผงในปัจจุบัน ทำไมต้องแปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่านอย่างเดียว ทำไมถึงไม่แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น

“ขณะเดียวกันในเรื่องของเนื้อหาหนังสือที่จะแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ต้องเป็นสากล รับรู้ได้ในวงทั่วไป เพราะบางครั้งการนำเสนอเนื้อหาหรือวัฒนธรรมที่มีความเป็นไทยมากๆ จะทำให้ต่างชาติเข้าใจยาก รวมถึงเนื้อหาต้องให้แง่คิด สำนวนอ่านแล้วชื่นชอบติดใจ”ม.ล.วีรอร กล่าว

ส่วน ดร.สวัสดิ์ กล่าวถึงมุมมองในแง่การนำนวนิยายไทยออกสู่ตลาดโลก ว่า ถ้าเราจะมุ่งสู่เวทีโลก ต้องเอาตลาดมาเป็นตัวนำ ลูกค้าไม่ได้ซื้อหนังสือแต่ซื้อเนื้อหา ดังนั้นสิ่งที่ควรรู้คือ 1. กลุ่มเป้าหมาย เขียนให้ใครอ่าน และ 2. ลูกค้าอยากได้อะไร อยากอ่านอะไร เพื่อกำหนดทิศทางการเขียนหนังสือ

“โลกเปลี่ยนเร็วมาก รุ่นผมเด็กๆ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 2.50 บาท ปัจจุบันชามละ 250 บาท เราต้องปรับตัวให้เร็วตามโลก รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งนวนิยายต้องมีนวัตกรรมเหมือนกัน รวมถึงมองว่าวัฒนธรรมหรือกรอบจะเป็นอุปสรรคต่อความเจริญ อย่างสหรัฐอเมริกาเขาไม่มีกรอบ Think Out of The Box ดังนั้นถ้าเราหลุดออกจากกรอบ เราจะไปได้ไกล” ดร.สวัสดิ์ กล่าว

ภายหลังการเสวนา ดร.พิสุทธิ เลิศวิไล กรรมการบริหาร บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวถึงกติกาการเปิดรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 ว่า สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 – 30 เมษายน 2566 โดยผลงานต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 120 หน้ากระดาษ A4 ขนาดอักษร 16 Point ส่งต้นฉบับมาที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 บุษราคัม เทอเรส ถนนพุทธมณฑล สาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. 10170


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354