สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุนในฤดูฝน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภัยแล้ง อย่างมีประสิทธิภาพ

สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ

แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

โดย สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” “โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาและรักษาน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” ณ “สถานีผลิตน้ำคลองกะทะ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต” “ขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล” และ “โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ” โดยคาดว่าโครงการข้างต้น จะช่วยสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและติดตามผลการการศึกษาของโครงการ ซึ่ง สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ด้านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานศึกษาวางโครงการเบื้องต้น สำหรับโครงการที่มีความเร่งด่วน ตามแนวทางการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างน้อย 6 โครงการ

นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

จากการศึกษาพบว่า จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำ 21.53 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุมน้ำและขุมเหมือง 21.02 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดเล็ก 9.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำบาดาล 27.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 87.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 และในปี 2583 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 104.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะความต้องการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการน้ำถึง 23.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 33.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.89 และ 31.62 ของความต้องการน้ำทั้งหมดต่อปี

พื้นที่ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” แหล่งผลิตน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

“การเพิ่มศักยภาพให้แก่การสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ จากการศึกษา ได้มีการวางโครงการเบื้องต้นแล้ว จำนวน 6 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” นายสราวุธ กล่าว

โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต

ทางด้าน รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมแผนการดำเนินการจัดการน้ำพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในการจัดการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่ทาง สทนช. ได้มีการวางนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาไว้อุปโภค-บริโภค ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสูงสุดในการรองรังรับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในอนาคต

ขุมน้ำประปาเทศบาลเชิงทะเล

รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญในอนาคต ประกอบกับทาง สทนช. ได้มีแผนการดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ และดูแลในส่วนของคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงและลดการปนเปื้อน

คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. เยี่ยมชมขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล
คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. ติดตามโครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แหล่ง จะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจากทั้ง 4 แหล่ง ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตรงนี้จะมีทั้งกรมชลประทาน ที่ดูแลในพื้นที่ชลประทาน เข้าไปสำรวจหน่วยงานในท้องถิ่นที่มีแหล่งผลิตระบบน้ำประปาด้วยตัวเอง รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ยังไม่เคยรวบรวมมาไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ทาง สทนช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อรวมแผนหลักให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน

โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

“ถ้าหากแผนงานทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยตามกระบวน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เราจะขับเคลื่อนผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตัวแผนบูรณาการที่จะทำต่อไปก็จะเป็นแผนอีก 15 ปีถัดมา ว่าภายใน 15 ปีจะเกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต และในอีก 15 ปีจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้เราจะนำแผนมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และในพื้นที่ เพื่อทำแผนนำเสนอต่ออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และเสนอไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้อนุมัติแผน เพราะฉะนั้นแผนทั้งหมดจะขับเคลื่อนโดยผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการบูรณาการน้ำกันแล้วก็จะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วเพียงพอหรือไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่อไปก็จะมีประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาข้อมูลใน 4 พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการแผนต่อไป” นายนิธิเดช กล่าว