ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านยางโทน พลิกโฉมทำนาสมัยใหม่ เน้นคุณภาพ-ปริมาณ

นายศักดิ์ดา เขตกลาง Smart famer ต้นแบบ และประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านยางโทน อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของรางวัลเกษตรกรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2564 เปิดเผยว่า จากการที่กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตนเอง และสมาชิกนาแปลงใหญ่ สามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน บริหารจัดการภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบ และต่อยอดให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการแปรรูปผลผลิตข้าว จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายช่องทาง จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

“ปัจจุบันมีพื้นที่ทำนารวม 36 ไร่ เน้นทำนาปี ปลูกแบบอินทรีย์ และใช้วิธีปักดำโดยใช้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นหลัก จนได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์จากกรมการข้าว ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ความชื้น 15% ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของจังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ที่ 353 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อประหยัดแรงงาน และลดต้นทุนการผลิต เช่น การไถกลบตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ใช้เครื่องหยอดข้าวแห้ง และเครื่องโรยข้าวงอก ช่วยลดปริมาณเมล็ดพันธุ์และลดการระบาดของศัตรูข้าว มีการให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยที่ผลิตขึ้นใช้เอง อีกทั้งมีการผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าว พร้อมสำรวจโรคแมลงในแปลงนาข้าวอยู่เสมอ ทำให้ประหยัดแรงงาน และลดต้นทุนการผลิต” นายศักดิ์ดา กล่าว

นายศักดิ์ดา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่นั้น นอกจากเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจ เกี่ยวกับการผลิตข้าวอินทรีย์ การปลูกข้าวแบบประณีต การผลิตจุลินทรีย์น้ำหมักชีวภาพ การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าแล้ว ยังสนับสนุนให้เกษตรกรใช้แหนแดง ปลูกผักกางมุ้ง และทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย พร้อมกับการรวมกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพและข้าวอินทรีย์ จำนวน 9 กลุ่ม พื้นที่รวม 2,309 ไร่

ต่อมาได้มีการต่อยอดเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนของกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด  ได้รับการสนับสนุนอย่างครบวงจร ทำให้ผลิตข้าวได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพ โดยสมาชิกสามารถนำข้าวคุณภาพ ทั้งข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข 6 ข้าวเหนียวลืมผัว กข 83 ทับทิมชุมแพ และไรซ์เบอร์รี่ ออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มยางโทน” โดยผลิตภัณฑ์ข้าวที่จำหน่ายมีทั้งเมล็ดพันธ์ข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป ประกอบด้วย ข้าวบรรจุถุงแบบสุญญากาศ ข้าวเกรียบ แป้งข้าว และข้าวมงคล อีกทั้งยังมีเป้าหมายเป็นแปลงสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดอีกด้วย สำหรับการตลาดได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ด้วย

Advertisement

การปลูกข้าวเพื่อให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพนั้น ควรใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่น หากน้ำแล้ง ก็ควรเจาะบ่อบาดาล เพื่อใช้น้ำในหน้าแล้ง การใช้ Application เพื่อสืบค้นข้อมูลและความรู้ต่างๆ เช่น MOAC App, Protect Plant, Rice pest Monitoring เป็นต้น

Advertisement

ขณะเดียวกัน ต้องปรับปรุงและรักษาหน้าดินด้วยเพื่อลดการพังทะลายของหน้าดิน โดยใช้วัสดุมาคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น และลดการไหลบ่าของน้ำ และปลูกพืชคลุมดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว และหญ้า ส่วนการปรับปรุงดิน ทำได้ด้วยการปลูกปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วลาย ถั่วอัญชัน และที่สำคัญ ต้องลดต้นทุนการผลิต ด้วยการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมทั้งผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าว เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ จะทำให้แปลงนาได้ข้าวที่มีคุณภาพ และมีปริมาณมากกว่าการทำนาแบบเดิม

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2565.