คณะเกษตร มช. มีหน่วยตรวจสอบสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสส่งออกให้เกษตรกร

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยไม่ค่อยดีนัก และดันถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ช่วงหลังสินค้าทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่งออกไม่ได้ ราคาสินค้าต่ำ ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกร โดยการสร้างมาตรฐานในการผลิตผัก ผลไม้ เป็นวิธีการที่เกษตรกรจะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและมีอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าได้

คุณธีระพงษ์ ทาหล้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ 

มาตรฐานผัก ผลไม้ ที่รับรองจากหน่วยงานราชการ

คุณธีระพงศ์ ทาหล้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า มาตรฐานที่รับรองจากหน่วยงานราชการปัจจุบันมี 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) และมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) โดยทั้ง 2 มาตรฐานนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

มาตรฐาน AGTRACE

มาตรฐาน Organic Thailand และ GAP ต่างกันอย่างไร

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) เป็นการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ หัวใจของเกษตรอินทรีย์ คือเน้นกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อม ห้ามใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ในทุกกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในการผลิต ปุ๋ย หรือเมล็ดพันธุ์

การปลูกพืชผักอินทรีย์ถือว่าทำค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันทำให้โรคและแมลงเกิดการวิวัฒนาการ และการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุนี้อาจทำให้การบริหารจัดการโรคพืชโดยปลอดสารเคมีเป็นเรื่องยากกว่าในอดีต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีวิธีการที่สามารถป้องกันได้ เช่น การปลูกผักในโรงเรือนเพื่อป้องกันผักจากความชื้นในฤดูฝน การใช้มุ้งตาข่ายเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลง และการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี

ส่วนมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) คือการทำการเกษตรที่เหมาะสม เกษตรกรสามารถใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ในการกำจัดโรคพืช หรือแมลงศัตรูพืชได้ แต่ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตที่จะจัดจำหน่าย หัวใจของมาตรฐาน GAP คือ เกษตรกรต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสม

มาตรฐาน Q

เกษตรกรที่มีความรู้ในการใช้สารเคมีทางการเกษตร และกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย โดยเริ่มจากเกษตรกรต้องหมั่นตรวจสอบแปลง ว่าระยะไหนของพืชที่แสดงอาการขาดธาตุอาหาร เพื่อจะใส่ปุ๋ยเคมีได้ถูกต้องตามระยะการเจริญเติบโต ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง อีกทั้งหากมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง จะสามารถเลือกใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชได้อย่างเหมาะสม ประหยัดต้นทุนในการผลิต และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

“สารเคมีบางชนิดผสมกันได้ บางชนิดผสมกันไม่ได้ เพราะจะเกิดผลเสียตามมาโดยตรง และอาจก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของสารเคมี ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดโรคและแมลงลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น” คุณธีระพงศ์ กล่าว

ขั้นตอนการขอมาตรฐาน GAP

คุณธีระพงศ์ แนะนำว่า ขั้นต้นเกษตรกรควรเข้าใจเรื่องมาตรฐาน และศึกษาข้อกำหนด เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การขอมาตรฐาน โดยเกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ เพื่อขอคำแนะนำในการขอมาตรฐานได้

ข้อกำหนดที่เกษตรกรต้องทำให้ครบตามเงื่อนไขมี 8 ประการ ได้แก่ น้ำและพื้นที่ปลูกที่ใช้ในกระบวนการผลิต ต้องมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต สิ่งที่น่ากังวลคือ การปนเปื้อนของโลหะหนัก และเชื้อโรคจากแปลงเกษตรที่อยู่ใกล้พื้นที่โรงงาน โรงพยาบาล หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ต้องส่งตัวอย่างน้ำและดินไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อนด้วย อีกทั้งวัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องจัดเก็บในสถานที่ที่มิดชิดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร มีแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เก็บเกี่ยวพืชที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการขนย้ายและการเก็บรักษาผลผลิตต้องมีสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน โดยผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติกิจกรรมทุกอย่างในแปลงปลูก เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับเมื่อเกิดปัญหา

 

ประโยชน์ของมาตรฐาน

เมื่อเกษตรกรได้รับมาตรฐานทางการเกษตรที่ออกจากหน่วยงานรัฐจะเพิ่มความเชื่อมั่นในผลผลิต ให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจ เชื่อมั่น และที่สำคัญช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าให้สูงขึ้นกว่าราคาตามท้องตลาด นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เนื่องจากมีผลไม้กว่า 12 ชนิด ที่ต้องใช้มาตรฐาน GAP ในการส่งออก อาทิ กล้วย มังคุด ทุเรียน ขนุน มะพร้าว ลำไย มะม่วง สับปะรด มะขาม ส้มโอ เงาะ และลิ้นจี่

นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน่วยงานที่ให้บริการเกษตรกรในการทำมาตรฐานตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร คือ หน่วย Agtrace (Agricultural Product Traceability Unit) โดยมีระบบให้เกษตรกรสามารถบันทึกกระบวนการผลิตต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้บริโภครู้ต้นทางและกระบวนการในการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้มาก

การขอมาตรฐานต่างๆ จากภาครัฐแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก มีขั้นตอนที่เยอะ แต่เชื่อว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาหลังจากได้รับมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นราคาที่สูงกว่าท้องตลาด และกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสร้างมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรให้กับผลผลิตทางการเกษตร สามารถเข้าร่วมการอบรมวิชาชีพระยะสั้น ในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ในวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ งานเกษตรภาคเหนือครั้งที่ 10