น้ำใจใคร่ น้ำใจรัก ต้องมี “ใคร่” ด้วย…หรือ?

ชื่อวิทยาศาสตร์ Olax  psittacorum (willd)  Vahl

ชื่อวงศ์ OLACACEAE

ชื่อสามัญ Parrot Olax

ชื่ออื่นๆ กระเดาะ (สงขลา) กระทอก (ประจวบคีรีขันธ์) กระทอกม้า (ราชบุรี) กะทกรก กระดอถอก (ภาคกลาง นครราชสีมา) กระเดาะฮาญิง (มลายู นราธิวาส) เจาะเทาะ (พัทลุง สงขลา) คือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ) กะหลันถอก (กาญจนบุรี) ควยเซียก (นครราชสีมา) ควยถอก (ชุมพร) นางจุม นางชุม (ภาคเหนือ) ลูกไข่แลน (ภาคใต้ บางแห่ง) ส้อท้อ (ทุ่งสง) เครืออีทก (ศรีสะเกษ อุดรธานี อุบลราชธานี) กระดอ (ส่วยท่าตูม สุรินทร์) อีทก อังนก ผักเยี่ยวงัว สอกทอก จี่โก่ย (มัญจาคีรี) ผักรูด (สุราษฎร์ธานี)

ผมรู้สึกเขินๆ ที่จะบอกว่า ชื่อท้องถิ่นแต่ละภาคที่เขาเรียกผมนั้น จวนเจียนจะแสดงอวัยวะร่างกายของสิ่งมีชีวิตชัดเจนมากๆ

เพราะบางชื่อก็ออกเสียงตรงๆ โดยไม่ต้องแปลความ เดิมทีเดียว ชื่อ “น้ำใจใคร่” นี้เป็นชื่อทางราชการ ที่อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย อาจารย์เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 ใครๆ เขาก็ว่าน่าจะเป็นชื่อผู้หญิงวัย “สาวใหญ่” แต่พอเอ่ยชื่อพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกขานกันประจำท้องถิ่น ก็ชัดเจนว่าเป็น “ชายฉกรรจ์” ผมเองจึงต้องยอมรับชื่อพื้นบ้านทุกท้องถิ่นโดยปริยาย อันที่จริงลึกๆ ก็แอบภูมิใจกับทุกชื่อเช่นกัน เพราะมีความหมายเชิงบ่งบอก “ความเป็นชาย” ชัดเจน เพียงแต่มีคำว่า “ใคร่” ตามหลัง เพื่อนผมเขาออกเสียงอังกฤษว่า “desire” ผมจึงอยากรู้ว่าแปลความหมายว่าอย่างไร ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เพราะ “ใคร่” ที่เป็นคำกริยา คือ อยาก ใฝ่หา ปรารถนา ต้องการ และสามารถขยายกริยาหรือเป็นคุณศัพท์ แสดงความรู้สึก เช่น

“ใคร่จะแต่งงานกับหล่อน” หรือจะขอร้องอย่างสุภาพ เช่น “ใคร่กราบเรียนเชิญเพื่อเป็นเกียรติ…” ขณะเดียวกันมีคำว่า “ความใคร่” เพื่อนคนเดิมพูดภาษาอังกฤษว่า “sexual desire” คำนี้แหละที่ผมติดใจ ระหว่างคำว่า “น้ำใจ-ความรัก-ความใคร่” เพราะ “ความใคร่” นั้นค่อนข้างจะติดลบ มีน้ำหนักเชิงกามารมณ์ ถูกชี้นำเรื่องเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ในชื่อ “น้ำใจ” ของผมที่มี “ใคร่” แสดงว่าผมนั้น “ใคร่เชิงสิเน่หา” กระนั้นหรือ..? ช่างเถอะ..! เพราะผมเคยอ่าน “จุลสารวรรณศิลป์” ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ชอบกลุ่มวลีอยู่คำหนึ่งเขียนว่า “ในความรัก อาจมีความใคร่ ..แต่ในความใคร่อาจจะไม่มี..ความรักเลย” ผมจึงต้องขอความเป็นธรรมว่า ในความมี “น้ำใจ” ของผม จะมี “ความใคร่” เจืออยู่บ้างคงไม่เป็นไรนะ?

ชื่อแปลกๆ ของผม ทั้งชื่อทางการและชื่อเรียกในท้องถิ่น เชื่อว่าไม่มีใครคิดว่าเป็นต้นไม้พุ่มรอเลื้อย ซึ่งสูงได้มากกว่า 3 เมตร หรืออาจจะเลื้อยได้ยาวไกลกว่า 20 เมตร และไม่มีมือเกาะ เปลือกต้นสีเขียวเข้ม หรือถ้าอายุมากก็เป็นสีน้ำตาล มีกิ่งก้านมาก กิ่งแก่มีหนามทั่วๆ ไป แต่เนื้อไม้มีสีขาวนวล กิ่งก้านมีขนสั้นๆ กิ่งมักห้อยลง ตามกิ่งอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นรูปรีขอบขนาน ปลายมนโคนแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนประปราย ออกดอกตามซอกใบดอกเล็กมีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ดอก ช่อออกเป็นกระจุก 1-3 ช่อ ต่อง่ามใบ ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก ก้านชูดอกสั้น ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ผลเป็นมีลักษณะกลมผิวเรียบเกลี้ยงสีเขียว มีวงกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ ผนังชั้นในแข็ง ขนาดผล 0.6-1.0 เซนติเมตร ยาว 0.8 1.5 เซนติเมตร โคนผลซึ่งห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ปลายผลมีสีเข้มครอบเหมือนหมวก และมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ จะร่วงหลุดเมื่อผลแก่จัด ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มถึงเหลือง มีเมล็ด 1 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้ เพาะขยายพันธุ์ได้ดี

ในระบบนิเวศประเทศไทย พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าเขา แต่ชอบขึ้นตามดินปลวก กระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ อินเดีย พม่า จีน ชวา มลายู รวมถึงแถบอินโดจีน สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาค แต่พบมากในจังหวัดสระบุรี จันทบุรี ลำพูน เชียงใหม่ พิษณุโลก พบได้ตั้งแต่ริมถนน ป่าละเมาะ ในหมู่บ้าน หากถามชาวบ้านมักจะเรียก “อีทก” ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมไม่เรียก “อ้ายทก” ทั้งๆ ที่ชื่ออื่นๆ บอกความเป็นชายชัดๆ

เป็นความภาคภูมิใจว่า ตั้งแต่ ยอด ใบ กิ่งก้าน เปลือกต้น ราก รวมถึงผลของอ้ายหนุ่มใหญ่ชื่อไม่ไพเราะนี้ ใช้ประโยชน์สรรพคุณสมุนไพรได้ทุกส่วน โดยใช้ยอดเป็นผักเคียงน้ำพริก ใบมีรสฝาดร้อน ใช้ตำสุมศีรษะแก้หวัด เปลือกต้นรสฝาด ใช้ทารักษาแผลเปื่อย ต้มบำรุงกำลัง ลำต้นต้มดื่มแก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขุ่นเหลือง หรือแน่นท้อง รากมีรสสุขุม ต้มดื่มแก้ตัวร้อน ขับพยาธิ ต้มรวมผสมเป็นยาถอนพิษเมาเบื่อ รักษากามโรค บำรุงกำลังเสริมกำหนัด แค่เปลือกต้นเปลือกกิ่งต้มดื่มก็ “คืนความเป็นชาย” คึกคักกาย

เนื้อผลใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง เมล็ดมีรสฝาดเผ็ดร้อนนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสับปะรด หรือรมควันให้อุ่นทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด ขับผายลม ขับพยาธิ ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสหวานมันเล็กน้อย ใช้แกงส้ม แกงเลียง จิ้มน้ำพริก ทำหมกปลาได้อร่อย ส่วนเนื้อไม้ใช้ทำกรง ทำลอบ-ไซดักปลา หรือม้วนโค้ง มีเรื่องที่เหลือเชื่ออีกอย่างคือ ลักษณะผลของ “น้ำใจใคร่” นี้ ชาวบ้านใช้เป็น “กรมอุตุ” คือตัวตรวจสอบว่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าปีไหนผลน้ำใจใคร่มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลมากเกือบมิดผล แสดงว่าน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ ปีไหนกลีบเลี้ยงหุ้มผลน้อย ฝนจะตกน้อย สำหรับปีนี้คงจะเดาได้เลยซินะว่า กลีบเลี้ยงจะหุ้มผลมากแค่ไหน…ใช่ไหม?

ลักษณะรูปลักษณ์ของ “ผล” ที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่เกินครึ่งผลส่วนปลายและสีเข้มครอบอยู่ บางคนมองด้วยจินตนาการสูง ที่ส่วนโผล่นี้ ไปเปรียบกับ “ปลายองคชาติ” ชวนให้คิดถึง ผลของต้น “นารีรำพึง” เมื่อกำไว้ แล้วให้ผลโผล่ออกมาครึ่งเดียว อย่างนี้ละมั้งที่ผมถูก “ใส่ไคล้” ว่ามี “ความใคร่” ยังดีนะนี่ ที่ให้มี “น้ำใจ” นำหน้า ดังนั้น ขอสรุปเองว่า

แม้ผมจะถูกจัดอยู่ใน “หนุ่มอารมณ์ใคร่” ก็ยังมีน้ำใจที่ใครๆ ก็อยากจะรับประทานเป็นยา   ชูกำลังชั้นเยี่ยม เพื่อให้ “คงมีความใคร่อยู่ทั้งชีวิต” หรือใคร…? จะยอมรับว่าตัวเอง “หมดใคร่” แล้วยกมือขึ้น…!