สุดยอดสวนเกษตรพอเพียง “กินอิ่ม ปลอดหนี้ มีเงินเก็บ”

“เศรษฐกิจพอเพียง” หลักปรัชญาที่เป็นเหมือนแสงนำทางชีวิตให้หลุดพ้นจากความยากจน และมีหลายคนรอดจากวิกฤตได้เพราะการยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ที่สอนให้ทุกคนรู้จักความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอดี รวมถึงกับการมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากที่สุดก็คือการทำเกษตรผสมผสาน คือการไม่รอคอยกับพืชผลเพียงอย่างเดียว เมื่อล้มแล้วจะลุกยาก แต่เกษตรผสมผสานทำแล้วไม่มีเจ็บและสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้ทุกวัน  

พื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ระบบหมุนเวียน
ลุงเสน่ห์ ร่มโพธิ์ เกษตรกรต้นแบบทำสวนพอเพียง

คุณเสน่ห์ ร่มโพธิ์ หรือ ลุงเสน่ห์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 87/3 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาดิน อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ต้นแบบเกษตรกรด้านการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักผลไม้กว่า 50 ชนิด ทำงานไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย อาศัยเพียงแรงงานในครอบครัวดูแลจัดการสวนทั้งหมด โดยยึดคติประจำใจว่า “ให้มองงานภายในสวนคือความสุข มองงานทุกอย่างคือความสุข ยิ้มให้กับทุกอย่าง แล้วการทำเกษตรของเราจะไม่เหนื่อย”

ป้าบุญยัง ภรรยาของลุงเสน่ห์ ภูมิใจกับผลผลิตภายในสวน

ลุงเสน่ห์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำเกษตรผสมผสาน ลุงเป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนาเพียงอย่างเดียว และต้องพบเจอกับปัญหาผลผลิตตกต่ำมานานหลาย 10 ปี จากสภาพพื้นที่ที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา จนไม่สามารถดันทุรังที่จะทำนาต่อไปได้ จึงได้กลับมาคิดหาทางออกกับลูกๆ และภรรยา และตกผลึกได้ว่าต่อไปนี้ เราจะเปลี่ยนจากการทำนา หันมาทำเกษตรผสมผสาน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้หลุดพ้นจากหนี้สินและความยากจน

“หัวใจหลักในการทำเกษตรของผม คือการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอเลิกทำนา ผมก็เริ่มทำเกษตรผสมผสานมาตั้งแต่ปี 51 แล้วค่อยๆ ปรับมาเป็นพื้นที่ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ก่อน จากนั้นเริ่มหาพืชผัก มะเขือเทศบ้าง กวางตุ้งและคะน้าบ้าง มาปลูกผสมผสานภายในแปลงมะละกอ ซึ่งในตอนนั้นยังมีการใช้สารเคมีร่วมด้วย จนกระทั่งต่อมาในปี 56 ที่สวนของผมได้มีการเลิกใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มขยับขยายพืชผักที่ปลูกจนมีมากกว่า 50 ชนิด”

อ้อยคั้นน้ำ สายพันธุ์พื้นบ้าน
ปลูกมะละกอในกระถาง ประหยัดพื้นที่

พื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน 14 ไร่
ปลูกพืชผักผลไม้กว่า 50 ชนิด

จุดเริ่มต้นเปลี่ยนจากการทำนา เป็นสวนเกษตรผสมผสาน ลุงเสน่ห์ บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเพราะตนเองอยู่กับอาชีพการทำนามาเกือบทั้งชีวิต พอเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักระยะจนเริ่มจับทางที่เหมาะสมกับตนเองได้ โดยการทำสวนของตนเองจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดสรรพื้นที่และการวางระบบน้ำ เพราะที่ผ่านมาได้ตระหนักรู้แล้วว่าการทำงานการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ หัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดการวางแผน และอีกปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ “น้ำ” คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำเกษตรกรรม ถ้าไม่มีน้ำก็ปลูกพืชไม่ได้ แต่ถ้าดินไม่ดีก็ยังสามารถปรับปรุงดินได้ ที่สวนจึงได้ดำเนินการจัดทำระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์และระบบน้ำหยดทั่วทั้งแปลง เพื่อง่ายต่อการรดน้ำบนพื้นที่ 14 ไร่ ที่รวบรวมทั้งพืชผักไม้ผลมาปลูกรวมกันไว้กว่า 50 ชนิด

ออกบู๊ธจำหน่ายผลผลิตจาก “สวนเสน่ห์”

“มีทั้งมะม่วงสายพันธุ์พื้นบ้านสร้างรายได้หลัก มีกล้วย มีมะดัน ออกให้เก็บมาแปรรูปขายตลอดทั้งปี และที่เหลือก็แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผักไว้อย่างละนิดละหน่อยเพื่อให้มีผลผลิตออกมาให้เก็บขายตลอด เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะยงชิด ฝรั่งกิมจู ส้มมะขุน ส้มเกลี้ยง ส้มโอ ละมุด มะขาม ขนุน มะขามเทศ พืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา และอื่นๆ อีกมากมาย”

มะขามเทศ มีให้เก็บตามฤดูกาล

ส่วนการจัดการสวนผสมผสานอย่างไร ให้ไม่เหนื่อย ลุงเสน่ห์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การปลูกพืชผสมผสานสามารถดูแลได้โดยใช้แรงงานในครอบครัว แต่คนในครอบครัวก็ต้องมีแนวทางไปในทางเดียวกันด้วย “ที่บ้านของผมจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงาน อย่างตัวผมเองตื่นมาตอนเช้าจะมีหน้าที่ช่วยภรรยาจัดร้านขายของก่อน จากนั้นจึงค่อยออกไปดูแลจัดการสวน ส่วนภรรยามีหน้าที่ในการขายผลผลิตที่เก็บมาจากในสวนมาแปรรูปทำกล้วยทอด มันทอด กล้วยปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้ง แล้วแต่ฤดูกาลของผลผลผลิต ส่วนลูกๆ จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาตามหน้าที่ที่ผมมอบหมายให้”

มะยงชิด อีกหนึ่งไม้ผลขายดีของสวนเสน่ห์
ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์บ้านดงมะไฟ

ในลำดับถัดมาคือต้องมีหลักในการเลือกพืชมาปลูก หากเป็นไม้ผลต้องใช้ความพิถีพิถีนในการเลือกสักหน่อย อย่างเช่น มะม่วง เป็นไม้ผลที่ต้องใช้เวลาปลูกนานหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต เพราะฉะนั้นขั้นตอนที่เราต้องเลือกสายพันธุ์มาปลูก จำเป็นต้องเลือกสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือเป็นสายพันธุ์ที่หากินได้ยาก ที่สวนจึงเน้นเลือกปลูกมะม่วงสายพันธุ์พื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่น มะม่วงอกร่อง มะม่วงเขียวสามรส และมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ซึ่งขายดีมาก

เทคนิคการดูแลพืชผักในสวนมีวิธีการอย่างไร

ขุดหลุมปลูกพืชผักตามความสะดวก
มะม่วงเขียวสามรส

ลุงเสน่ห์อธิบายถึงเทคนิคการดูแลสวนผสมผสานสไตล์ของตนเองให้ฟังว่า เทคนิคการทำเกษตรของตนเอง คือ

  1. ไม่เน้นยึดหลักทฤษฎีในการปลูก แต่จะยึดหลักความสะดวก และความเหมาะสมของพื้นที่ในการปลูกพืช จะไม่มีการใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก ไม่มีการเตรียมดิน อยากปลูกตรงไหนก็ปลูก แต่จะเน้นปลูกพืชในหน้าแล้งอย่างเดียว เพราะหากปลูกในหน้าฝนพืชจะไม่กินอาหาร และพาให้รากเน่า จะไม่เหมือนกับการปลูกในหน้าแล้งที่รดน้ำเพียง 2-3 ครั้ง ต้นไม้ก็เจริญเติบโตได้ไว ทั้งนี้ ต้องดูที่ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำประกอบด้วย เพราะที่สวนของตนเองปลูกพืชในหน้าแล้งได้เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน ถือเป็นจุดแข็งในการทำสวนของเรา
  2. ระบบน้ำ จะใช้วิธีการเดินระบบน้ำไปพร้อมกับการปลูกต้นไม้ วางระบบไปเรื่อยๆ “คือเราเดินระบบน้ำเป็นแถวแล้วเราก็ปลูกต้นไม้ตาม ระยะห่างประมาณ 3-4 เมตรต่อจุด ดูช่วงเหวี่ยงประกอบด้วยว่าน้ำสามารถรดได้ถึงรัศมีเท่าใดต่อความห่างแต่ละจุดที่เดิน”
  3. ปุ๋ย เน้นใช้ปุ๋ยคอก ผลไม้ ขี้เค้กอ้อย มูลวัว มูลค้างคาว และน้ำหมักชีวภาพเป็นหลัก โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินนครสวรรค์ เนื่องจากที่สวนเราเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เป็นสูตรน้ำหมักที่ใช้ได้กับทั้งไม้ผลและผักใบ
กระท้อนพันธุ์ทองกำมะหยี่

สูตรที่ 1 ใช้สำหรับบำรุงไม้ผล มีส่วนผสมดังนี้ 1. น้ำนม 2. กากน้ำตาล และ 3. พด.2 นำมาผสมหมักทิ้งไว้ ละลายไปพร้อมกับระบบสายน้ำหยด หรือใช้ฉีดพ่นทางใบ ช่วยให้ต้นไม้มีความเจริญเติบโต ช่วยเร่งผลผลิต ส่วนมากที่สวนจะเน้นใส่ระบบสปริงเกลอร์ทั้งหมดเลย ใช้บำรุงช่วงกำลังออกช่อ ติดผล อาทิตย์ละ 1 ครั้ง

สูตรที่ 2 สำหรับดูแลผักใบ มีส่วนผสมคือ 1. ขี้วัว 2. กากน้ำตาล นำมาผสมคลุกเคล้ากับ พด.2 แล้วหมักทิ้งไว้ประมาณเดือนครึ่ง แล้วนำมาใช้ใส่เป็นปุ๋ยในแปลงผักได้เลย

ปลากินพืชที่เลี้ยงในสวนผสมผสาน จับขายสร้างรายได้เสริม

การสร้างรายได้มาก-น้อย
ขึ้นอยู่กับความขยัน

ลุงเสน่ห์ บอกว่า การทำเกษตรผสมผสานข้อดีอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือเกษตรกรจะหลุดพ้นจากความหิวโหย และถัดมาคือการหลุดพ้นจากหนี้สิน จากการผลิดอกออกผลของผักผลไม้ที่ปลูกผสมผสานไว้ค่อยๆ ทยอยออกมาเก็บขายสร้างรายได้ไม่ขาดมือ ส่วนจะได้น้อยได้มากก็ต้องขึ้นอยู่กับความขยัน

ถังหมักปุ๋ย ไว้ใช้บำรุงพืชผัก ไม้ผลภายในสวน

“อย่างช่วงนี้ที่สวนผมเก็บมะดันแช่อิ่มขายได้โลละร้อย และตอนนี้เพิ่งลงกะหล่ำปลี รอเก็บผลผลิตปลายเดือนธันวาคมนี้ ที่สวนจะขายโลละ 30-40 บาท มีลูกค้ามาซื้อถึงสวน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ จะมีกวางตุ้ง ผักกาดขาว เดือนเมษายน เป็นช่วงของไม้ผล ฝรั่งกิมจู มะม่วงอกร่อง มะม่วงเขียวสามรส ไปจนถึงเดือนมิถุนายน พอเสร็จจากนี้ก็ต่อด้วยกล้วยน้ำว้าเก็บขายและแปรรูปได้ทั้งปี มะดัน อ้อยคั้นน้ำ บวกกับเลี้ยงปลากินพืชอีก 30,000-40,000 ตัว หากวันไหนอยากได้เงินมาใช้ก็ไปจับปลามาขาย 300-400 บาทก็ได้แล้วแป๊บเดียว เท่ากับลุงมีรายได้ทุกวัน รายได้ก็ได้มากได้น้อยขึ้นตามความขยัน ถ้าขายสองอย่างทั้งกล้วยทอด กล้วยปิ้ง ขายผลไม้จากสวน ก็ได้มาก”

พื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ระบบหมุนเวียน
มะม่วงอกร่องพื้นบ้าน
กะหล่ำดอก

โดยจุดประสงค์หลักของการทำสวนคือเน้นการแปรรูปสินค้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีมะม่วงและมะยงชิดที่แบ่งขายเป็นผลสดเพราะขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นเน้นนำมาแปรรูป เช่น มะดันจะนำมาแช่อิ่มขายเพิ่มมูลค่า เพราะให้คิดง่ายๆ ถ้าขายมะดันสดขายได้ราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท แต่เมื่อนำมาแช่อิ่ม ผ่านกระบวนการแปรรูปไม่กี่วันขั้นตอนสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้เป็นหลักร้อย ถือเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ สำหรับเกษตรกร

คัดมะม่วงคุณภาพส่งลูกค้า ห่อกันกระแทกอย่างดี

“ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ กับสมัยก่อนที่ลุงทำนา 3 เดือนได้เงินครั้ง ปลูก 10 ไร่ สมมติว่าได้ผลผลิตไร่ละเกวียน เมื่อหักต้นทุนออกแล้วยังไม่เหลือเลยนะ แต่เราทำผสมผสาน วันนี้ถ้าเราขยันอยากได้เงินสัก 500 ก็ไปจับปลา ขยันสอยมะดันมาดอง แป๊บเดียวก็ได้หลายกิโลละ ขยันหน่อยทอดกล้วยขาย มันได้ทุกวัน ผิดจากพืชเชิงเดี่ยว เรามีเงินใช้ตลอด แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร” ลุงเสน่ห์ กล่าวทิ้งท้าย

กะหล่ำปลี เลือกปลูกให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาล
มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4

สนใจสอบถามรายละเอียดการทำเกษตรผสมผสานเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-973-8243