ปัจจัยทางการเกษตร

สวัสดีครับทุกท่าน ตอนที่แล้วเราได้คุยกันถึงการขายหรือการตลาดก่อนที่จะผลิตอะไร ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องหลักการหรือเปล่า หรือบางคนบอกอาจจะสรุปปิดประตูไปว่าเกษตรกรขายไม่เก่ง ขายไม่เป็น ขายไม่ได้หรอก…ต่างๆ นานา สารพัดความคิดเห็น แต่เราจงอย่าเพิ่งเชื่อใคร ให้เชื่อมั่นตัวเองก่อน พิสูจน์ก่อนแล้วค่อยสรุป อย่าด่วนสรุปในขณะที่ยังไม่ได้ลงมือทำเลย เพราะถ้ายังคิดเช่นนั้น นั่นคงจะยังไม่เห็นแสงแห่งทางรอดแน่ๆ

คราวนี้เราลองมาดูในเบื้องต้นว่าปัจจุบันนี้คนซื้อหรือพ่อค้าหรือผู้บริโภคต้องการสินค้าแบบไหนกันบ้าง ซึ่งก็คงจะไม่พ้น 2 เรื่องหลักๆ นั่นคือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกของผลผลิต นั่นเอง

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยบ้างว่า อะไรล่ะมันคือปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกที่ว่านั่น ดังนั้น จึงขอนำเสนอให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อเตรียมตัวกัน เพราะเราจะผลิตกันแบบเดิมๆ เก่าๆ ถนัดอะไรปลูกอันนั้น ชอบอะไรก็ผลิตชนิดนั้น คนอื่นทำอะไรก็ทำตามเขาไป คงจะไม่ได้แล้ว ถ้าอยากจะอยู่บนทางรอดต่อไปครับ

 

  1. ปัจจัยภายนอกของผลผลิต

1.1 สีสัน

เรื่องสีสันของผลผลิตทางการเกษตรนี่ก็เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าผู้บริโภคสนใจและให้ความสำคัญไม่น้อยเลย ครั้งผู้ผลิตจะบอกว่าข้างนอกจะสีไหนแต่ข้างในอร่อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องที่ยากแก่การอธิบายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผลเงาะอาจจะต้องสีแดงสด มังคุดอาจจะต้องผิวสีม่วง ส้มเขียวหวานอาจจะต้องสีเหลืองหรือสีทอง สตรอเบอรี่ต้องสีแดงเข้ม เป็นต้น เกษตรกรยุคใหม่ต้องเรียนรู้ว่าการจะทำให้ผิวและสีของผลออกมาดูดี สวย และเชื้อเชิญให้ผู้บริโภคซื้อควรจะดูแลแบบไหนอย่างไร เกษตรกรมืออาชีพต้องรู้ ต้องเข้าใจ และผลิตให้ได้ด้วย

1.2 รูปทรง

เรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าเป็นผลไม้ เป็นพืชผักนับว่าสำคัญมาก ผู้บริโภคก็นิยมซื้อของสวยๆ เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาคนซื้อเลือกหยิบผลไม้ เช่น ทุเรียน น้อยหน่า มะม่วง หรือพืชผักต่างๆ เช่น ฟัก แฟง แตงกวา มะเขือ เป็นต้น ผู้ซื้อจะก็มักจะเลือกหยิบเลือกซื้อผลที่มีรูปทรงสวยๆ สมส่วน เป็นเรื่องธรรมดา และจะเหลือผลที่รูปทรงไม่สวยเอาไว้ สุดท้ายก็ขายไม่หมดและก็เน่าเสีย นี่คือบทสรุปสั้นๆ ว่า รูปทรงของผลผลิตทางการเกษตรมีผลต่อราคาสินค้าด้วยเช่นกัน

1.3 ขนาด

สำหรับเรื่องขนาดนี่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลต่อผู้ซื้อและผู้บริโภคจริงๆ ทั้งพืชผัก ผลไม้ และปศุสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์บก ตัวอย่างผลไม้ เราต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคนิยมขนาดไหน ถ้าผลิตลำไยหรือส้มเขียวหวาน ควรจะขนาดกี่ผลต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ผู้ผลิตต้องรู้ความต้องการตลาดเรื่องเหล่านี้ หรือถ้าจะเลี้ยงปลานิลหรือปลาทับทิม ผู้บริโภคนิยมขนาดกี่ตัวต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตัวเล็กเกินไป หรือใหญ่เกินขนาด อาจจะไม่เป็นที่นิยมก็เป็นได้ แม้แต่การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม บางตลาดอาจจะต้องการขนาดใหญ่สุด และบางตลาดอาจจะต้องการขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เรื่องนี้ก็ต้องศึกษาให้รู้ตลาดที่แท้จริงอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างกันไปได้เช่นกัน

1.4 น้ำหนัก

เรื่องน้ำหนักอาจจะเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในทำนองเดียวกับปริมาณ เพราะความต้องการแต่ละผู้ซื้อ แต่ละผู้บริโภคมีต่างกันไป เราต้องรู้ไว้ด้วย เช่น เลี้ยงปลาดุกขาย ถ้าคนซื้อไปเพื่อย่างขาย ก็อาจจะต้องมีน้ำหนักที่ไม่มาก ตัวไม่โตเกินไป แต่ถ้าตลาดรับซื้อไปทอดเป็นปลาดุกฟูหรือทำน้ำพริกขาย เกษตรกรก็คงต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนักต่อตัวที่มากขึ้น ไซซ์ใหญ่ขึ้นด้วย

1.5 ความนิยม

เรื่องความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคนี่ก็นับว่าสำคัญมากทีเดียว เพราะนอกจากความชอบ ความต้องการเฉพาะตัวของผู้บริโภคแล้ว ก็อาจจะมีเรื่องความเชื่อหรือศาสนาเกี่ยวข้องด้วย เช่น บางคนไม่รับประทานเนื้อหมู บางส่วนไม่รับประทานเนื้อวัว แม้กระทั่งบางคนไม่รับประทานเนื้อกบ หรือไม่รับประทานเนื้อแกะ ซึ่งก็อาจจะทำให้ตลาดแคบลงไป ผู้ซื้อและผู้บริโภคอาจจะน้อยลง ดังนั้น เมื่อจะทำการผลิตก็ต้องมีข้อมูลทางด้านการตลาดประกอบด้วยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ลง ซึ่งก็ถือว่าเพิ่มทางรอดให้เกษตรกรได้อย่างดีด้วย

 

  1. ปัจจัยภายในของผลผลิต

2.1 รสชาติ

เป็นที่แน่นอนว่าผู้บริโภคทุกคนมีรสนิยมในรสชาติของผลผลิตที่ต่างกัน ยิ่งถ้าเป็นพืชผัก ผลไม้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเข้าใจด้วยว่าผู้บริโภคต้องการรสชาติแบบไหน ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคต้องการรสผลไม้ที่หวานจัด เราก็ต้องมีความรู้เรื่องการดูแลรักษาอย่างไร ใช้ปัจจัยการผลิตชนิดใด ใช้ช่วงไหน ปริมาณเท่าไรที่จะทำให้รสชาติผลไม้นั้นๆ มีรสหวานจัด หรือจะต้องเก็บผลผลิตในช่วงเปอร์เซ็นต์ความแก่ที่เท่าไร หรือถ้าผู้บริโภคต้องการรสชาติปานกลางจะต้องดูแลแบบไหน เก็บเกี่ยวช่วงอายุเท่าไร เรื่องเหล่านี้ต้องตระหนักรู้และนำไปประกอบการผลิตให้ได้ ทำให้เป็นด้วยครับ

2.2 คุณค่าทางโภชนาการ

เรื่องคุณค่าทางโภชนาการนี่ก็สำคัญยิ่ง เราต้องรู้และอธิบายถึงผลผลิตที่เราทำการผลิตว่ามีคุณค่าทางใด มีวิตามินอะไร รับประทานแล้วนอกจากรสชาติอร่อยหอมหวานแล้ว ยังจะทำให้คุมน้ำหนักได้ด้วย ช่วยลดไขมันในเลือด หรือมีวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างคุณค่าของร่างกายได้ด้วย เกษตรกรยุคใหม่ต้องรู้ ต้องค้นคว้าด้วย จึงจะเป็นมืออาชีพและอยู่บนทางรอด และก้าวไปสู่ทางรุ่งได้ด้วย

2.3 ปลอดภัยและไร้สารพิษ

เรื่องความปลอดภัยนี้สำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะโลกของข้อมูลข่าวสารไปไกลอย่างในโลกดิจิทัล ย่อมสร้างการรับรู้ได้เร็ว ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจริงหรือข่าวลือเรื่องสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพืชและสัตว์บางชนิด เรื่องนี้ก็สามารถเป็นปัจจัยลบให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อไม่ซื้อ หรือหาเหตุรับซื้อในราคาต่ำและกดราคาจากเกษตรกรผู้ผลิตเสียเลย มันก็จะทำให้เสียโอกาส ดังนั้น การผลิตชนิดปลอดภัยหรือจะแบบปลอดสารพิษ ไม่มีเคมี เราก็ต้องเรียนรู้เพื่อให้ทำได้ ทำเป็นและอธิบายได้ด้วย เราจึงจะไม่เสียเปรียบผู้ซื้อ ผู้บริโภคก็มั่นใจในผลผลิตของเรา

2.4 ระยะเวลาในการเก็บรักษา

เรื่องระยะเวลาการเก็บรักษานี่นับว่าสำคัญยิ่ง เพราะทั้งพืชและสัตว์ย่อมมีอายุการจัดเก็บอยู่ในเวลาของแต่ละประเภท แม้หลายท่านอาจจะบอกว่าเดี๋ยวนี้มีห้องเย็นเก็บรักษาได้นาน แต่ว่าผลผลิตแต่ละชนิดก็ใช่ว่าจะเก็บได้แบบไม่มีวันเสียหรือไม่มีวันเปลี่ยนแปลงคุณภาพและรสชาติก็มิใช่เช่นนั้น มันมีอายุจำกัดของมันด้วย ดังเช่น ทุเรียนที่แก่จัดย่อมมีอายุเก็บรักษาได้สั้นกว่ามังคุดหรือเงาะแก่ หากไม่ได้แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ย่อมจะสุกและเสียเร็วกว่า ดังนั้น เรื่องการจัดเก็บรักษาตามระยะเวลาของผลผลิตแต่ละชนิดก็เป็นเรื่องที่มืออาชีพต้องรู้ครับ

2.5 มีคุณค่าทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้

เรื่องนี้นับว่าจะเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อโลกทางวิทยาศาสตร์อาหารและการแพทย์เจริญขึ้น มีงานวิจัยและค้นคว้าจากสถาบันต่างๆ องค์กรภาครัฐหรือเอกชน ผู้ประกอบการสมัยใหม่มักเน้นงานวิจัยและค้นคว้าจนสามารถแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปจนถึงของเหลือจากการผลิตที่คนไทยมักพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษกันว่า บายโปรดักต์ (by-product) ซึ่งอาจจะสามารถนำมาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ เช่น เวชภัณฑ์ ยาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และอื่นๆ ซึ่งหากเป็นผลผลิตเหล่านี้ ก็ย่อมดีกว่าผลิตสินค้าที่ขายได้แค่นำไปรับประทานช่วงสั้นๆ เก็บรักษาไม่ได้ ซึ่งถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อาจจะพูดถึงแตงไทยสุกที่เก็บรักษาได้ไม่นานและอาจจะแปรรูปไปเป็นอย่างอื่นแทบจะไม่ได้เลยนั่นเอง

ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้เล่ามานี่ เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้รู้ ได้เห็น ได้พูดคุย และได้ศึกษามาโดยตลอดหลายสิบปีทีเดียว ซึ่งก็เทียบได้กับผลการวิจัยเล่มหนึ่ง จึงต้องการนำมาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนกับเกษตรกร และผู้อ่านไว้ในบทความตอนนี้ด้วยครับ หวังว่าคงจะได้ประโยชน์ไม่น้อยเลย เพราะนี่คือความจริงที่ไม่ได้จินตนาการ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ