สาวอรัญประเทศ เลี้ยงปลาตะเพียน ลดต้นทุนอาหาร พร้อมแปรรูปเพิ่มมูลค่า

ปลาตะเพียน เป็นปลาน้ำจืดพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทยนานพอสมควร เพราะสามารถพบได้ในแม่น้ำ บึง คลอง ฯลฯ ในภูมิมาคนี้นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือนานกว่านั้น เพราะมีหลักฐานการเขียนลายของถ้วยชามเครื่องเคลือบ เป็นรูปปลาตะเพียนให้เห็น จึงนับว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่อยู่คู่บ้านเมืองนี้อย่างแท้จริง ซึ่งการนำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ก็ทำได้ง่าย จึงทำให้ปลาชนิดนี้มีการขยายพันธุ์และส่งเสริมการเลี้ยง และนำมาทำการค้าที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดีทีเดียว

คุณรุ่งลาวัลย์ เบ้าคำ หรือ คุณน้อย

คุณรุ่งลาวัลย์ เบ้าคำ หรือ คุณน้อย อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองทับจันทร์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ได้นำปลาตะเพียนมาเลี้ยงและทำการตลาดแบบแปรรูปเอง ทำให้ตัดปัญหาในเรื่องของการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งการแปรรูปเป็นปลาส้มทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เกิดรายได้ในกลุ่มเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน กลุ่มมีความร่วมมือกันอย่างสามัคคีในการผลิตสินค้าแปรรูปจากปลาตะเพียน

คุณน้อย เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันครอบครัวของเธอมีอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรอยู่แล้ว โดยในพื้นที่มีการแบ่งการทำเกษตรหลายอย่าง โดยได้มีบ่อปลูกบัวว่างอยู่จึงได้นำปลาตะเพียนมา ทดลองเลี้ยง เมื่อเลี้ยงได้สักระยะที่ปลาทั้งหมดที่ปล่อยในชุดแรกโตดี สามารถที่จะนำมาทำการแปรรูปได้ จึงได้เกิดความสนใจและนำมาเลี้ยงตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ปลาตะเพียนไซซ์ขนาด 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม

“ปลาชุดแรกที่ได้มาเป็นหน่วยงานของทหาร ที่ได้เขาจัดกิจกรรมและนำปลาตะเพียนมาปล่อยในบ่อให้ได้เลี้ยง พอเราได้เลี้ยงก็รู้สึกว่าปลาโตดีสามารถที่จะขายได้ จึงเกิดความสนใจว่าเราต้องเลี้ยงเสริมรายได้อีกช่องทาง เพราะกลุ่มของเรามีการแปรรูปเห็ดที่ทำไว้ก่อนอยู่แล้วด้วย พอมีปลาตะเพียนเข้ามาก็มองว่าสามารถที่จะทำตลาดแปรรูปได้เช่นกัน เพราะตลาดปลาส้มปลาร้าแถวนี้ถือว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม” คุณน้อย บอก

หลักการเลี้ยงปลาตะเพียนที่นำมาทำการแปรรูปนั้น คุณน้อย บอกว่า จะเน้นในเรื่องของการประหยัดต้นทุนการเลี้ยงเป็นหลัก ซึ่งบ่อที่เลี้ยงเป็นบ่อที่มีอยู่เดิมไม่ได้ขุดใหม่ โดยหลังจากที่จับปลาตะเพียนที่โตส่งจำหน่ายหมดบ่อแล้ว จะวิดน้ำออกจากบ่อให้หมด พร้อมกับตากบ่อทิ้งไว้ 7 วัน แต่ถ้าเห็นมีปลาช่อนอยู่ภายในบ่อต้องจับออกให้หมด จากนั้นโรยปูนขาวบริเวณที่จะปล่อยน้ำเข้ามาภายในบ่อเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ

กลุ่มเพื่อนเกษตรกร

เมื่อเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาเรียบร้อยแล้ว บ่อความลึกอยู่ที่ 1 เมตร ช่วงแรกจะปล่อยน้ำเข้าบ่อให้มีความสูง 50 เซนติเมตร จากนั้นนำลูกปลาตะเพียนไซซ์นิ้วลงมาปล่อย โดยบ่อขนาด 1 ไร่ ปล่อยลูกปลาตะเพียนเลี้ยงอยู่ที่ 10,000 ตัว ต่อบ่อ ในช่วงแรกจะให้ลูกปลาตะเพียนกินรำเพียงอย่างเดียว ช่วงเช้าและเย็น

หลังจากเลี้ยงในบ่อได้ 1 เดือนครึ่ง ก็จะเปลี่ยนเลี้ยงด้วยอาหารปลากินพืชเม็ดเล็ก ให้กินวันละ  1 ครั้ง อีกประมาณ 1 เดือน ก็จะเปลี่ยนอาหารเลี้ยงเป็นอาหารลดต้นทุนเข้ามาเสริม

“อาหารในช่วง 2-3 เดือนแรก เลี้ยงด้วยรำและอาหารเม็ด หลังจากนั้นจะปล่อยให้เขากินอาหารเองตามธรรมชาติ โดยเราจะทำแซนด์วิชให้ปลา คือการนำฟางมาปูลงไปในน้ำ 1 ชั้น จากนั้นโรยด้วยขี้วัวตามไป และนำฟางมาโรยทับกันสลับไปมาอย่างน้อยประมาณ 3-4 ชั้น โดยชั้นแซนด์วิชนี้จะให้ความกว้างและยาวอยู่ที่ 2×2 เมตร ชั้นอาหารเหล่านี้มันก็จะค่อยๆ เปื่อยเกิดเป็นไรแดง เป็นอาหารให้ปลาในบ่อได้กิน เลี้ยงด้วยการทำอาหารลดต้นทุนแบบนี้ไปจึงจับปลาขายได้ จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือน”

การทำปลาตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง มาทำการแปรรูป

ส่วนโรคที่เกิดขึ้นกับปลาตะเพียนที่เลี้ยงในบ่อ จะมีเป็นแผลตามตัวบ้าง หรือบางช่วงถ้าเป็นช่วงฝนตกก็จะมีอาการน็อกน้ำให้เห็น จะแก้ด้วยวิธีการโรยปูนขาวลงไปบ้างเพื่อปรับสภาพน้ำ ตั้งแต่เลี้ยงมายังไม่มีโรคที่ทำให้ปลาตายจนหมดบ่อ

คุณน้อย เล่าต่อว่า ในสมัยก่อนที่เลี้ยงแรกๆ จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี แต่ไซซ์ขนาดของปลาที่ได้มีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้นำมาทำการแปรรูปเป็นปลาส้มไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ต่อมาจึงได้ลดเวลาการเลี้ยงลงมาอยู่ที่ 8 เดือน ทำให้ได้ปลาตะเพียนไซซ์ 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม

การทำแซนด์วิชปลา อาหารปลาแบบลดต้นทุน

จากการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ทำให้ได้ปลาตะเพียนที่มีขนาดไซซ์ที่ตลาดต้องการและการเลี้ยงก็ประหยัดต้นทุนไปได้อีกด้วย ปลาตะเพียนที่เลี้ยง 1 บ่อ ปล่อยปลาเลี้ยง 10,000 ตัว จะได้ปลาตะเพียนที่นำแปรรูปเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 800 กิโลกรัม โดยการแปรรูปทยอยทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งมา ทางกลุ่มเพื่อนเกษตรกรด้วยกันก็จะมาช่วยกันทำการแปรรูป สินค้าเฉลี่ยต่อวันจะจำหน่ายได้อยู่ที่ 60 กิโลกรัม ซึ่งราคาปลาตะเพียนสด ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท แต่เมื่อผ่านการแปรรูปเป็นปลาส้ม ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท

การแปรรูปปลาตะเพียนเป็นปลาส้ม

“ตั้งแต่เลี้ยงปลาตะเพียนมา และนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเองขายเอง ถือว่าเกิดรายดีที่ดีมาก เพราะปลาส้มนี่ลูกค้าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ค่อนข้างชอบ และเวลาเราไปออกบู๊ธที่ไหนลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมากๆ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงที่ดี คือเราต้องทำการแปรรูป จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้เป็นเท่าตัว ในอนาคตทางกลุ่มก็จะพัฒนาการแปรรูปให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้ปลาตะเพียนที่เลี้ยงนำไปแปรรูปได้หลากหลายมากขึ้น” คุณน้อย บอก

พื้นที่บ่อเลี้ยงปลาตะเพียน
การแปรรูปปลาตะเพียนเป็นปลาส้ม
สินค้าพร้อมจำหน่าย

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาตะเพียน หรือต้องการสินค้าแปรรูปอย่างปลาส้ม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณรุ่งลาวัลย์ เบ้าคำ หรือ คุณน้อย หมายเลขโทรศัพท์ 080-095-3952

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2565