ឆេនណារីលក់ពូជឈើ อดีตนักเรียนทุนกรมสมเด็จพระเทพฯ ทำเกษตรผสมผสาน ธุรกิจดี ที่จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ย้อนกลับไปสมัยที่ผมสอนหนังสือชดใช้ทุนรัฐบาลอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว มีนักศึกษาชาวกัมพูชากลุ่มหนึ่งเดินทางมาเรียนระดับปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยในกัมพูชา หลายท่านอายุมากกว่าผมในตอนนั้น จำได้ว่าในชั่วโมงสอนผมต้องใช้ทั้งภาษาไทยใช้ทั้งภาษามือสอนกันสนุกสนาน แต่ผมก็สังเกตได้ว่านักศึกษาชาวกัมพูชาทุกคนล้วนตั้งใจเรียน ยิ่งเวลาได้ออกไปดูงานนอกสถานที่พวกเขายิ่งชอบใจ ผมจึงจัดพาไปดูงานเพื่อให้เขาได้รับความรู้จากภาคปฏิบัติของคนที่ลงมือทำจริงหลายแห่ง วันนี้นักศึกษาชาวกัมพูชาเหล่านั้นหลายคนจบถึงระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ผมเองก็ยังติดตามติดต่อกับลูกศิษย์หลายคน ในฉบับนี้จึงขออนุญาตพาท่านผู้อ่านไปพบกับธุรกิจของลูกศิษย์ท่านหนึ่งที่ทำเกษตรผสมผสาน ขายกิ่งพันธุ์ ขายผลผลิตมัลเบอร์รี่ที่จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา ครับ

คุณเชน ชิน (CHHEN CHIN) อดีตนักศึกษาในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และครอบครัว

นักศึกษาในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา

พบกับ คุณเชน ชิน (CHHEN CHIN) อดีตนักศึกษาในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

คุณเชน ชิน เข้าเรียนปริญญาตรีในคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ปัจจุบันจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ และกลับไปเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีกำปงเชอเตล (Kampong Chheuteal Institute of Technology-KCIT) ที่จังหวัดกัมปงธม (Kampong Thom Province) จังหวัดที่ตั้งอยู่ด้านเหนือของกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของราชอาณาจักรกัมพูชา

Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ (ឆេនណារីលក់ពូជឈើ)

คุณเชน ชิน เล่าว่า เปิดเป็นฟาร์มชื่อฟาร์ม Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ หรือชื่อ ឆេនណារីលក់ពូជឈើ โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่กว่าๆ ทำเป็นฟาร์มแบบผสมผสานมีพันธุ์พืชหลักคือ หม่อนหรือมัลเบอร์รี่ นอกจากนั้น ยังมีแก้วมังกรพันธุ์แดงไต้หวัน แก้วมังกรพันธุ์แดงสยาม และแก้วมังกรพันธุ์เนื้อสีเหลืองอีก 300 กว่าหลัก และยังมีและมีปลูกพืชอื่นๆ เช่น น้อยหน่า จำนวน 60 ต้น พุทราสามรส จำนวน 68 ต้น อะโวกาโด 5 ต้น มีการเพาะเห็ดนางฟ้า ประมาณ 3,000 ก้อน และมีบ่อปลาดุกที่เลี้ยงปลาได้ประมาณ 200 ตัว ควบคู่กันไปอีกด้วย

“ผมเริ่มทำฟาร์มแห่งนี้ เริ่มปลูกไม้ผลต่างๆ ตั้งแต่ปี 2563 ที่ตัดสินใจทำฟาร์มแห่งนี้ขึ้นมาเพราะเนื่องจากได้ไปเห็น ไปเรียน มีความรู้ด้านการเกษตรจากประเทศไทย เห็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ๆ ของไทยจึงสนใจนำกลับมาปลูกในกัมพูชาดูบ้าง” คุณเชน ชิน ใช้แรงงานในครอบครัวเล็กๆ ของเขาเป็นหลักในการทำฟาร์มแห่งนี้ครับ

ปลูกมัลเบอร์รี่เป็นพืชหลัก

“ตอนที่ผมไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ เห็นชาวไทยขายผลหม่อนและผลิตภัณฑ์น้ำหม่อน ขายดีมากที่ตลาดนัดสีเขียวของมหาวิทยาลัย เมื่อมองกลับมาที่ประเทศกัมพูชาผมเห็นว่ายังไม่ค่อยมีคนปลูกมัลเบอร์รี่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกำปงธมไม่มีปลูกเลยครับ ผมจึงเป็นรายแรกๆ ที่นำมัลเบอร์รี่มาปลูกที่นี่และตอนนี้มัลเบอร์รี่ได้กลายเป็นพืชที่นิยมกันปลูกมากในจังหวัดกำปงธม ผลผลิตมัลเบอร์รี่ก็มีราคาดีด้วย เริ่มต้นตอนแรกผมปลูกมัลเบอร์รี่พันธุ์เชียงใหม่ 60 ซื้อต้นพันธุ์มาจากจังหวัดสุรินทร์ ซื้อกิ่งพันธุ์จำนวน 20 กิ่ง เอามาปลูกที่บ้าน แต่ต้นพันธุ์ชุดแรกเหลือรอดได้แค่ 8 ต้นเท่านั้น ผมยังไม่ท้อขยายพันธุ์ต้นมัลเบอร์รี่จากที่เหลือรอดต่อไปเรื่อยๆ จนมีต้นพันธุ์เยอะขึ้น จนตอนนี้ผมปลูกมัลเบอร์รี่เป็นพืชหลัก พันธุ์หลักคือพันธุ์เชียงใหม่ 60 จำนวน 250 ต้น ต่อมาผมก็ซื้อมัลเบอร์รี่พันธุ์อื่นๆ มาปลูกตามทีหลังครับ อย่างมัลเบอร์รี่พันธุ์ดำออสตุรกี พันธุ์ไต้หวันสตรอเบอรี่ พันธุ์ไต้หวันแม่ช่อ พันธุ์ไวท์คิงส์ พันธุ์เรดคิงส์ พันธุ์ขาไก่ พันธุ์ชมพูอิตาลี พันธุ์หม่อนลิ้นจี่” คุณเชน ชิน เล่า

การจัดการสวนมัลเบอร์รี่ ของ Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ (ឆេនណារីលក់ពូជឈើ)

การจัดการสวนมัลเบอร์รี่ของ Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ คุณเชน ชิน บอกว่า ที่ Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ จัดการน้ำโดยการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ โดยจะให้น้ำช่วงฤดูแล้งและช่วงที่มัลเบอร์รี่ติดผล เพราะมัลเบอร์รี่เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี การกำจัดวัชพืชใช้เครื่องตัดหญ้าทั่วไป ส่วนการจัดการปุ๋ยเราจะใส่ปุ๋ยคอกปีละครั้ง ปกติใส่ช่วงเดือนพฤษภาคม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-15+TE ก่อนให้ผลผลิต หลังจากนั้นรดน้ำเช้าและเย็นจนถึงช่วงที่ผลผลิตจะสุก ในรอบปีมัลเบอร์รี่ที่ Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ จะมีผลผลิต 3 ช่วง ช่วงแรกในระยะต้นปีประมาณเดือนมกราคม ช่วงที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน และช่วงที่ 3 ประมาณเดือนกรกฎาคม ผลผลิตมัลเบอร์รี่ทั้งหมดจะเก็บด้วยมือโดยใส่ถุงมือให้เรียบร้อยแล้วเก็บผลผลิตใส่กล่องเลย ส่วนใหญ่เราจะเก็บผลผลิตกันตอนเช้า เมื่อเก็บมาแล้วผลมัลเบอร์รี่ของเราจะบรรจุใส่กล่องพลาสติก น้ำหนัก 0.5-1 กิโลกรัม โดยขายผลมัลเบอร์รี่ที่ราคากิโลกรัมละ 30,000 เหรียญเรียลกัมพูชา หรือประมาณ 260 บาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เรียลกัมพูชา เท่ากับ 0.0087 บาท)

น้ำมัลเบอร์รี่ของ Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้

 

ขยายตลาดกระจายผลผลิตผ่านสื่อโซเชียล

คุณเชน ชิน บอกว่า Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ มีผลิตภัณฑ์หลักคือ ผลสุกของมัลเบอร์รี่ ขายกิ่งพันธุ์ของมัลเบอร์รี่หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวน โดยเราทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทั้งทาง Facebook https://www.facebook.com/chinchhennary គ្រូ ឆេន-Teacher Chhen, https://www.facebook.com/chinchhentynary ทาง YouTube  លោកគ្រូជិន ឆេន-Teacher Cin Chhen https://youtube.com/c/chhenchin และ ช่องทาง line Line ID chinchhen

“เราใช้วิธีการขายตามการสั่งของลูกค้าที่สั่งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียโดยส่งผลมัลเบอร์รี่ไปกับรถแท็กซี่ในท้องถิ่นไปยังลูกค้าที่รออยู่ปลายทาง ในส่วนของกิ่งพันธุ์มัลเบอร์รี่นั้นเรามีกิ่งพันธุ์หลายสายพันธุ์ อย่างเช่น พันธุ์เชียงใหม่ 60 ต้นความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ราคา 5,000-10,000 เหรียญเรียลกัมพูชา (ประมาณ 43-87 บาท) ต่อต้น และมัลเบอร์รี่พันธุ์ดำออสตุรกี กิ่งตอนกิ่งละ 30,000 เหรียญเรียลกัมพูชาหรือประมาณ 260 บาท เป็นต้น โดยกิ่งพันธุ์มีมัลเบอร์รี่จะมีขายตลอดทั้งปี หากลูกค้าอยู่ไกลเราจะแพ็กต้นพันธุ์มัลเบอร์รี่ใส่ลังกระดาษ ส่งตามบริษัทขนส่งทั่วประเทศกัมพูชา”

ฉบับนี้ผมพาท่านท่องเที่ยวต่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา คงจะเห็นได้ว่าการทำการตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด การตลาดในโลกโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับตลาดท้องที่ ตลาดท้องถิ่น พี่น้องเกษตรกรไทยของเราโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อยก็ควรที่จะขยับปรับการตลาดของเราให้ทันยุค แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ศึกษาหาแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลที่สะดวกๆ หรือแพลตฟอร์มฟรีที่มีทั่วไปมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากทำไม่ได้ใช้ไม่เป็นก็วานลูกขอแรงหลานๆ มาช่วยมาสอนเพื่อที่เกษตรกรรายย่อยอย่างเราท่านจะได้ไม่ตกยุค ตกรถไฟสายการตลาดที่มาแรงเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างทุกวันนี้

ส่วนใครสนใจอยากพูดคุยเรื่องมัลเบอรร์รี่ หรืออยากซื้อผลผลิต อยากไปเที่ยวชม Chhennary ฟาร์มพันธุ์ไม้ ติดต่อไปได้ที่เบอร์โทร. +855 89 223 552 หรือตามช่องทางโซเชียลมีเดียที่ให้ไว้ข้างบนครับ สำหรับฉบับนี้หมดพื้นที่ของคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย แล้วเอาไว้พบกันใหม่ในฉบับต่อไป ลากันไปก่อน สวัสดีครับ