รังสิยาฟาร์ม ดินแดนแห่งความสุข

จากประสบการณ์ที่เขียนเรื่องราวการเกษตรมาสิบปีพบว่า คนที่ทำการเกษตรในปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงชาวไร่ชาวนาโดยอาชีพนะครับ แต่หมายถึงคนที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืออาชีพอื่นแล้วหันกลับมาทำเกษตรในปัจจุบัน แต่กลายเป็นคนที่ไม่ได้เรียนด้านการเกษตรในระบบการศึกษา เช่น วิทยาลัยการเกษตรหรือมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาเกษตรกรรมหรือวิชาที่เกี่ยวข้องมาทำอาชีพการเกษตรกรรม 9 ใน 10 คนทีเดียว ส่วนคนที่ร่ำเรียนมาทางการเกษตรไปไหนไม่รู้

คุณทองดี และ คุณออดี้

ความรู้ทางด้านการเกษตรสามารถหาได้ง่ายมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร หรือทางสื่อออนไลน์มีมากมาย และยิ่งเป็นคลิปภาพเคลื่อนไหวยิ่งชัดเจนกว่า แต่ความจริงเราไม่สามารถเลียนแบบตามที่เห็นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเห็นเพียงด้านเดียว ปัจจัยต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานของแต่ละคนก็เช่นกัน เราต้องการปลูกอะไรเพียงแค่คลิกก็ได้ความรู้เกี่ยวกับพืชที่ต้องการปลูกทันที ประเทศเราเหมาะกับการปลูกพืชมากชนิด บางทีแค่โยนเมล็ดไว้ก็ได้ผลผลิต ประกอบกับคนส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากการเกษตรกรรม จึงไม่ยากที่จะปลูกพืช แต่เรื่องความรู้ด้านการตลาดเรากลับด้อย เพราะปลูกออกมาแล้วไม่รู้จะขายใคร

ธิดาประจำไร่ คุณออดี้
ออกรายการทีวี

ผู้เขียนพูดเสมอว่า การตลาดต้องมาก่อนการเกษตร ก่อนปลูกต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่า ผลผลิตออกมาแล้วจะขายใคร ผู้เขียนจึงพยายามเสาะหาเกษตรกรที่มีความคิดทางการตลาดดีๆ มานำเสนอ เช่นในวันนี้ คุณธนพล ขานหยู หรือ คุณออดี้ เจ้าของรังสิยาฟาร์ม บ้านซำแฮก ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม คุณออดี้จบการศึกษา ปวส. คอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม และระดับปริญญาตรีด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2550 จบมาก็ทำงานเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยสารคามอยู่ประมาณ 2 ปี ก็ลาออกไปทำอาชีพนักจัดรายการวิทยุ ชื่อ เฮฮาลูกทุ่ง โดย ดีเจ ออดี้ธนพล ในปี พ.ศ. 2553 ต่อมาได้ลาออกมาเปิดร้านส้มตำกะเทย กิจการรุ่งเรืองสามารถเปิดร้านถึง 10 สาขา ต่อมาบริษัททำน้ำปลาร้าบริษัทหนึ่งได้ซื้อตัวไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ต่อมาได้เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ยอดขายถล่มทลายจนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับทีมงาน หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิดทำให้กิจการมีปัญหา

กระปุกออมสินเดินได้ 

เมื่อวิธีคิดเปลี่ยนชีวิตก็จะเปลี่ยน

ในปี 2562 หลังโควิดระบาดจึงกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่ของตัวเองบนที่ดิน 4 ไร่ แต่จริงแล้วตอนทำงานเป็นลูกจ้างก็คิดตลอดเวลาว่าอยากมาทำการเกษตรของตัวเองเพื่อปลดแอกจากการเป็นลูกจ้าง ซึ่งเราจะมีอิสระทางการเงิน เวลา และทุกอย่าง การเป็นลูกจ้างแม้เราจะทุ่มเทแค่ไหนก็ได้เพียงเงินเดือน แต่ถ้าเราเอาความรู้แรงกายแรงใจทุ่มให้กับงานของตัวเองทั้งหมด ผลตอบแทนที่ได้จะคุ้มค่ากว่าอยู่ในอาชีพลูกจ้างแน่นอน แต่เนื่องจากโควิดมาโดยกะทันหันทำให้ต้องเปลี่ยนวิฤกตให้เป็นโอกาส จึงทำให้ต้องตัดสินใจทำเกษตรทันทีในปี 2562

ข้าว ผลผลิตของคนงาม
ข้าวในนาของฟาร์ม

เนื่องจากคุณออดี้จบมาทางด้านการตลาด จึงคิดวิเคราะห์ก่อนว่า ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงาน ตอนนั้นเห็นว่าในชุมชนมีการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งคือ มันแกว ซึ่งปลูกได้ทั้งปี และเส้นทางใกล้สวนเป็นเส้นทางเข้ากรุงเทพฯ เราสามารถนำผลผลิตมาขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงได้เลยโดยไม่ผ่านคนกลาง และริมถนนดังกล่าวก็มีร้านขายผลิตผลทางการเกษตรอยู่หลายร้าน เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็รออะไรละ คุณออดี้เริ่มทำทันที

ช่วยเหลือน้ำท่วมปี 2565
ทำงานหนักจนถูกส่งไปเที่ยวญี่ปุ่น

ช่องทางการขายออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะแนะนำสินค้าได้เป็นอย่างดี การใช้มือถือในปัจจุบันไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อความสนุกสนานแต่ควรเป็นการใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย เพราะเราต้องจ่ายค่าใช้ จึงต้องหารายได้เข้ามาจ่าย หลังจากปลูกมันแกว ก็เห็นมีพืชอีกชนิดให้ผลผลิตได้หลังจากปลูกไม่นานคือ กล้วยน้ำว้า เลยคิดปลูกกล้วยน้ำว้าปลอดสาร เนื่องจากรังสิยาฟาร์มเป็นสวนที่ปลูกพืชอินทรีย์ทำให้ลูกค้าที่รักสุขภาพรับกล้วยน้ำว้านี้ไปจำหน่ายที่ร้าน บางส่วนคุณออดี้ก็เอามาจำหน่ายที่หน้าร้านเอง ราคากล้วยน้ำว้าอยู่ที่หวีละ 30-35 บาทซึ่งเป็นราคาขายปลีกที่สูงพอสมควร แต่ความต้องการของลูกค้ามีเพิ่มทำให้ต้องเพิ่มจำนวนต้นแซมไปเรื่อยๆ

ทำได้ทุกอย่างครับ

จากที่ดิน 4 ไร่ ปลูกมันแกวเสีย 1 ไร่ อีก 1 ไร่เป็นบ่อปลา ปลูกข้าว 1 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 1 ไร่เป็นเกษตรผสมผสาน รังสิยาฟาร์มไม่ได้จ้างแรงงานข้างนอก ทำกันเองสองคนกับภรรยา ส่วนร้านที่เปิดขายจะขายตลอด 24 ชั่วโมง คุณทองดี ภรรยาจะเป็นคนขายในผลัดกลางวัน คุณออดี้จะเข้าสวนทำงานทั้งหมด เมื่อเวลาค่ำก็จะไปเปลี่ยนให้คุณทองดีกลับบ้าน ตัวเองจะเป็นคนขายในผลัดกลางคืนเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา 365 วันต่อปี

ผลไม้ท้องถิ่น

ชาวนาออนไลน์

โปรแกรมชาวนาออนไลน์ของรังสิยาฟาร์มเป็นเรื่องราวใหม่ที่น่าจะนำเสนอ ตอนแรกผมเข้าใจว่าหมายถึงชาวนาที่ปลูกข้าวขาย แต่ที่จริงคือ ผู้บริโภคที่ซื้อข้าวแล้วรังสิยาฟาร์มได้ให้เขาเป็นชาวนาหมายถึงเขาปลูกข้าวกินเอง โดยจะมีการสมัครเป็นสมาชิกของรังสิยาฟาร์มมีพื้นที่ทำนา 1 ไร่ สามารถรับสมาชิกได้ 5 คน โดยใช้ไลน์เป็นสื่อในการติดต่อ รังสิยาฟาร์มจะส่งรูปตั้งแต่การไถนา หว่านข้าว ปลูกข้าว จนกระทั่งเก็บเกี่ยวให้กับสมาชิกซึ่งลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนกับว่าสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการทำนาเอง ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็จะมีการนัดสมาชิกทั้ง 5 ท่านมาทำกิจกรรมร่วมกันที่รังสิยาฟาร์ม มีการเลี้ยงอาหารในช่วงกลางคืนและค้างคืนที่ฟาร์ม ส่วนตอนเช้าก็จะกินอาหารร่วมกันและรับข้าวที่เป็นส่วนของสมาชิกไปซึ่งได้ประมาณ 4 ถังแต่ละปีไม่เท่ากัน ขึ้นกับผลผลิตในปีนั้น นอกจากนั้น ยังมีของฝากซึ่งเป็นผลผลิตจากรังสิยาฟาร์มอีกด้วย จำนวนเงินค่าสมาชิกชาวนาออนไลน์ คิดรายละ 7,500 บาท เมื่อครบปีก็จะมีการรับสมัครใหม่ เพราะพื้นที่ 1 ไร่ที่ปลูกข้าวสลับกันระหว่างข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ทั้งหมด

ไม่เลือกงานก็รวยค่ะ

นอกเหนือจากการปลูกพืชแล้ว รังสิยาฟาร์มยังมีการเลี้ยงวัวขุนอีก 8 ตัว ซึ่งจะใช้มูลสัตว์สำหรับหมักทำปุ๋ยใช้ในฟาร์ม เมื่อวัวเติบโตพอจะขายก็ขายออกไปเพราะวัวมีราคาค่อนข้างสูง หน้าร้านของรังสิยาฟาร์มนอกจากผลผลิตของฟาร์มแล้วยังรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งคุณออดี้ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดสาร ไม่มีการใช้สารเคมีในการทำสวน

ร้านค้ารังสิยาฟาร์ม ถนนบรบือ-บ้านไผ่ ขาเข้ากรุงเทพฯ

เมื่อเวลาว่างจากการทำงาน บางครั้งคุณออดี้ได้ออกไปบรรยายเป็นวิทยากรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และยังรับนักเรียนนักศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ มาดูงานที่รังสิยาฟาร์มอีกด้วย รายได้ของฟาร์มมีรายได้เดือนละเกือบแสนจากการขายหน้าร้านและผลผลิตในสวน

หน้าฟาร์ม
หนึ่งในสินค้าหลักของสวน

ข้อคิดของรังสิยาฟาร์ม

รังสิยาฟาร์มเป็นต้นแบบสำหรับให้แนวคิดเกษตรกรในการทำตลาดการเกษตร ว่าให้เราวิเคราะห์เรื่องการตลาดให้ดีก่อน เรื่องการผลิตเป็นเรื่องทีหลัง การลงมือทำคือคำตอบ คุณออดี้ บอกว่า ถ้าเกษตรกรยังทำแบบเดิมอยู่ ไม่ยอมพัฒนาก็จะอยู่อย่างเดิมๆ เหมือนที่เราเห็นเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพยากจนเพราะคิดแบบเดิมทำแบบเดิม เกษตรกรสมัยใหม่ต้องทำน้อยให้ได้มาก ปรับวิธีคิดและวิธีทำ ผลที่ได้จากการทำเกษตรแบบนี้จะทำให้มีเวลาว่างและมีความสุขมากกว่าเดิม มีเวลานอนกลางวัน นั่งกินกาแฟ ใส่สูทออกงานในสังคม ที่สำคัญมีรายได้มากกว่าการทำเกษตรแบบเดิมๆ และเหนื่อยน้อยกว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นเกษตรกรเพราะเกษตรกรที่ทำงานหนักจนเคยชิน จึงคิดว่าการทำเกษตรต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เหนื่อยจนสายตัวแทบขาด ซึ่งคุณออดี้อยากให้เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำเสีย

อบรมโครงการให้สมาชิก ธ.ก.ส.

ท่านใดต้องการเป็นสมาชิกชาวนาออนไลน์หรือคิดอยากทำเกษตร แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถติดตามเรื่องราวของคุณออดี้ได้ในสื่อออนไลน์ เช่น รายการคนค้นฅน หรือคลิปของรังสิยาฟาร์ม หรือเฟซบุ๊กรังสิยาฟาร์มดินแดนแห่งความสุข หรือโทร. 065-439-8798