เผยแพร่ |
---|
โครงการวิจัยของ อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อว่า “อนุรักษ์เอกสารโบราณของชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง” ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี 2564-2565 มีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ชุมชนไทยยวนบ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และในปี 2566 มีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ชุมชนไทยยวนบ้านนาหนอง และหมู่บ้านทุ่งหญ้าคมบางตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากต้องการให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารโบราณที่มีอยู่ และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วย 2 หน่วยงาน คือ คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลอดจนยังมีนักศึกษาในหลักสูตรและบุคคลทั่วไปที่เคยเข้าอบรมกับ อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข มาร่วมทำกิจกรรมในโครงการนี้ด้วย เช่น พระภิกษุสงฆ์อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียนทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
กระบวนการอนุรักษ์เอกสารโบราณเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาด การทำทะเบียน การทำสำเนาดิจิทัล การซ่อมแซมและการจัดเก็บ การทำสำเนาดิจิทัลจะช่วยยืดอายุของเอกสารต้นฉบับให้ยาวนานขึ้น เพราะสามารถอ่านจากสำเนาได้โดยไม่ต้องหยิบจับเอกสารต้นฉบับ และถึงแม้ต้นฉบับจะสูญสลายหรือเสียหาย สำเนาดิจิทัลนี้ก็ยังจะคงอยู่ต่อไป
ขณะนี้มีเอกสารโบราณที่ได้รับการทำสำเนาดิจิทัลไปแล้วกว่า 400 รายการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกประมาณ 1,000 รายการ พบอักษรที่ใช้บันทึกถึง 5 ชนิด ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา อักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ อักษรขอมไทยอักษรธรรมลาว และอักษรไทยน้อย
เป้าหมายปลายทางของโครงการคือ การสร้างฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลางให้มีสำเนาดิจิทัลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ คาดว่าฐานข้อมูลของโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 นี้