ภาคประชาชน ดีเดย์เคลื่อนไหวมกราคม ปีหน้า กดดันสภา ให้พิจารณา พ.ร.บ.กัญชาให้เสร็จในสมัยประชุม

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย จัด เสวนาในหัวข้อ “กำหนดกลไกแค่ไหนกัญชาจึงจะเกิดสมดุล” โดยมีขุนพล ที่มีความเชี่ยวชาญ ฐานของความรู้ความจริง ประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หมอผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สอง และอดีตคณบดีวิทยาลัยการแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกัญชาศาสตร์ ติดตามงานวิจัยและความเคลื่อนไหวในต่างประเทศมานับสิบปี, นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย, พ.ต.ท.หญิง ณิชาลักษ์ ณรงค์วิทย์ พยาบาลวิชาชีพผู้ร่วมทำงาน คณะทำงานภาคีเครือข่ายกัญชาเพื่อประชาชน หนึ่งในสมาชิกของสมาคมนักวิจัย โดยมี ผศ.ดร.ญาณกร โท้ประยูร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เวลานี้มีกัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐอเมริกา ทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกัญชาสังเคราะห์ ที่มีผลกระทบในทางร้ายต่อสุขภาพ หลายรายที่อ้างแหล่งที่มาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองไทย ขายกันเกลื่อนอินเตอร์เน็ต สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการผลักดันให้เกิด ศูนย์รวมกัญชาไทยเพื่อปกป้องดูแลให้ความรู้และบริหารตรวจสอบคุณภาพกัญชาไทย ซึ่งเป็นกัญชาที่ดีที่สุดในโลก ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้อย่างถูกต้อง ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด

นายปานเทพ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. กัญชา ได้เพิ่มมาตรการการควบคุมจากเดิมที่มีเพียง 45 มาตรา เพิ่มเป็น 95 มาตรา ก็เพราะเรารู้ว่า เมื่อมีการพิจารณาในวาระ 2 จะต้องมีคนที่เสียผลประโยชน์ แล้วเอาเด็กไปเป็นตัวประกัน ดังนั้น จึงได้เขียนบทลงโทษเอาไว้ค่อนข้างรุนแรง คือใครจำหน่ายให้กับเด็กมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และถ้านำเข้าจากต่างประเทศแบบไม่ถูกกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้านำเข้าจากต่างประเทศแล้วนำมาจำหน่ายให้กับเด็กจะต้องรับโทษคูณเป็นสองเท่า นอกจากนี้ ยังห้ามขายออนไลน์ และห้ามเร่ขาย ต้องขายในกรอบที่รู้ที่มาของกัญชาอย่างชัดเจนว่าปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกผลการศึกษาที่พบว่า คนไทยใช้กัญชาครั้งแรกอายุ 41 ปี โดยเหตุผลของการใช้คือทางการแพทย์ถึง 72% ดังนั้น กลุ่มที่คัดค้าน และนำข้อมูลเท็จไปอภิปรายในสภา จึงต้องการที่จะเบี่ยงเบนประเด็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและฝังหัวว่ากัญชาคือยาเสพติดที่มีโทษร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม นายปานเทพ แสดงความกังวลว่า แม้ว่าภาคประชาชนจะชนะในยกแรก เนื่องจากครั้งแรก ทาง ส.ส. ต้องการคว่ำ พ.ร.บ. แต่เมื่อมีการขับเคลื่อนของภาคประชาชนอย่างเกาะติด จึงนำเข้าสู่การพิจารณาในสภา แต่เวลาที่เหลืออีกไม่กี่สัปดาห์จะหมดสมัยประชุมนั้น จะพิจารณาทันหรือไม่ เพราะเพิ่งผ่านไปเพียง 7 มาตรา จากทั้งหมด 95 มาตรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ส.ส. ในสภากำลังยื้อเกมเพื่อให้กฎหมายตกไป และหากไม่สามารถพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมนี้ ก็เท่ากับ เราต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ สิ่งที่เราทำกันมาตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นศูนย์ ความห่วงใยต่อสังคมและเยาวชน ตามที่ กลุ่มคัดค้านอ้างนั้น ยิ่งต้องเร่งออก พ.ร.บ.กัญชาฯ ออกมาควบคุม

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กฎหมายกัญชาถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่การอภิปรายก็มีสาระพอสมควร ที่ทำให้ประชาชนได้หันกลับมาทบทวนว่าสิทธิของพวกเขาได้ประโยชน์ครบถ้วนไหม หากประชาชนต้องการให้กัญชา ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เราต้องทำให้กฎหมายไปสู่สิทธิในการเข้าถึง การใช้ประโยชน์ และการบริหารจัดการในท้องถิ่น มีสิทธิในการใช้และผลิต ดังนั้น พ.ร.บ. จึงมีความสำคัญกับภาคประชาชน ในฐานะที่ตนเองเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ถ้าพูดในหลักสิทธิมนุษยชน การบริหารจัดการที่ดีที่สุดคือ ลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน กลไกที่จะเกิดความสมดุล ต้องยึดกระบวนการวิธีการ เพราะหากออกกฎหมายมาแล้วเกิดวิกฤตศรัทธา มีการตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองก็จะเกิดความเสียหาย เพราะกฎหมายที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการได้ จะเป็นนโยบายที่ประชาชนยอมรับ พร้อมกับยกตัวอย่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เริ่มจากการประกาศเป็นนโยบายหลักประกันสุขภาพก่อน และเริ่มในพื้นที่ที่พร้อม จากนั้นขยายผลสู่การออก พ.ร.บ.มารองรับ

“ดังนั้น จึงควรเพิ่มความเข้มแข็งในพื้นที่ เพราะท้องถิ่นมีแนวโน้มกระจายอำนาจ กระจายภารกิจ กัญชาเองก็เป็นภารกิจส่วนหนึ่ง สมัยที่ผมทำวิจัยกัญชาในพื้นที่ ทางจังหวัดและอำเภอก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการปลูกกัญชาที่โรงพยาบาลฯ ตรงนี้เท่ากับเราทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่มี อบจ. เทศบาล และตำบล เราต้องเร่งพยายามผลักดัน พ.ร.บ. นำไปสู่ระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เห็นว่านี่คือเสียงของประชาชน หากยังเตะถ่วงหรือแกล้งไม่เข้าใจ โอกาสที่กัญชาจะเป็นพืชให้ความหวังก็ค่อยๆ ลดลง ในช่วงใกล้เลือกตั้งท่านจะทานเสียงความต้องการในระดับพื้นที่ได้อย่างไร” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า ศึกษาในต่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ทำให้เกิดการเรียนรู้ของสังคม เมื่อคนในสังคมเปลี่ยนแปลง ก็เกิดแรงกระเพื่อม และมีผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายของการเมือง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในส่วนของการทำวิจัย ก็ต้องศึกษากันต่อไป เพราะกัญชาจะทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง เราจะต้องช่วยกันทำวิจัยต่อไป

นายอัครเดช กล่าวว่า การสร้างกลไกที่เหมาะสม ต้องอยู่บนพื้นที่ข้อเท็จจริง เราจะใช้ประโยชน์อะไร ต้องชัดเจน และต้องเข้าใจว่า บริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน กัญชาอยู่กับภาคการท่องเที่ยวมา 37 ปี มีการนำเข้ากัญชาแท่งจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเราจะเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสุขภาพ ตนเองขับเคลื่อนเรื่องกัญชามาตั้งแต่ปี 2558 ได้ทำแบบสอบถามชาวบ้าน ในช่วงแรก 90% ไม่ยอมรับกัญชา และมีภาพมายาคติว่ากัญชาร้ายแรงในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต่างกัน แต่เมื่อทำแบบสอบถามอัพเดททุกปี ความเข้าใจเริ่มมากขึ้น อคติลดลง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ทุกคนมีสิทธิ เข้าถึงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประชาชน เนื่องจากขาดการออกแบบที่ดีตั้งแต่ต้น ปล่อยให้มีกลไกการกีดกันการเข้าถึงของภาคประชาชน ตั้งแต่การขออนุญาตปลูก จนถึงการจำหน่าย

ด้าน พ.ต.ท.หญิง ณิชาลักษณ์ กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ภาคประชาชนกังวลคือ กฎหมายจะออกมาทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ถ้าไม่ทันจะต้องมีแผนต่อไปอย่างไร จึงอยากเรียกร้องให้รัฐสภา พิจารณากฎหมายให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนที่เลือกท่านไปทำงาน เพราะบางมาตราก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย หากท่านยังเล่นการเมืองกันอยู่แบบนี้ สังคมไม่ได้อะไรเลย ประชาชนจะต้องตั้งกติกาว่า นักการเมืองที่ลงสมัครในพื้นที่ท่านต้องแสดงจุดยืนเลยว่าจะสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชาหรือไม่ ถ้าไม่สนับสนุนท่านก็ต้องให้บทเรียน และเราควรเตรียมตัวที่จะเคลื่อนไหวเพื่อกดดันภาคการเมืองต่อไป

ด้าน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปฏิบัติการร่วมของประชาชนในครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากกัญชาคือตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดการระบบสุขภาพพื้นฐานของประชาชน หากประชาชนเข้าถึงกัญชาได้จะสามารถใช้กัญชาป้องกันสุขภาพและรักษาสุขภาพได้ นั่นหมายถึงว่าความแออัดของระบบสาธารณสุขจะได้รับการคลี่คลายจากการที่ประชาชนจัดการสุขภาพได้ในระดับครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มผลประโยชน์ในวงการสาธารณสุขโดยเฉพาะบริษัทยา กลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ย่อมแสวงหาทางในการขัดขวางกัญชากับประชาชน

การสร้างปฏิบัติการของประชาชนในครั้งนี้และในอนาคตจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ บทเรียนจากหลายประเทศมีการใช้กัญชาแบบก้าวหน้า เป็นประโยชน์ และควบคุมโทษที่อาจจะเกิดขึ้นจากกัญชาได้ หลายประเทศจึงทยอยปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงกัญชา สำหรับการสร้างภาพอนาคตในการใช้กัญชาในมิติต่างๆ จะมีการฉายภาพอนาคตกัญชาในประเทศไทย วันที่ 8 มกราคม 2565 ที่สวนครูองุ่น เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป เพื่อชวนประชาชนทั้งประเทศก้าวข้ามมายาคติและสร้างภาพอนาคตกัญชาไทยในความสมดุลร่วมกัน

นอกจากที่ประชุมยังได้แสดงความคิดเห็นว่า ประโยชน์ของการปลดล็อกกัญชาส่งผลในทางบวกกับสังคมมากมาย ตั้งแต่จำนวนผู้ต้องขังลดลง ลดปัญหาคนล้นคุก ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมใดๆ นอกจากนี้ ยังมองว่า ภาคประชาชนยังควรมีเวที มีพื้นที่ในการอธิบาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของกัญชา และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในการดูแลสุขภาพ และการเข้าถึงกัญชาอย่างเท่าเทียม