ม.แม่โจ้ ชู “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม”ขับเคลื่อนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ EEC

มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ชู “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม”ในงานมหกรรมยางพารา ฯ EEC  2023 ขับเคลื่อนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ EEC สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน 

ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์

ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้  สมาคมวิชาการและถุงมือยาง  และสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของ ดร.อุทัย  สอนหลักทรัพย์  ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC  2023 จ.ระยอง โดย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ยื่นหนังสือ “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” แก่ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีในโอกาสที่เป็นประธานเปิดงานเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากประสบปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (  NCDs :  Non-Communicable diseases) เช่น โรคเบาหวาน, ไขมัน, ความดัน และมะเร็ง อันเกิดจากฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น ทำให้อาหารปนเปื้อนสารเคมี ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้หลักการ  “เกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม ” จำนวน 9 มิติ คือ

1.การเกษตรไร้สารเคมี 2. การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ 3.สปาสุขภาพเพื่อฟื้นฟูร่างกาย 4.ระบบเศรษฐกิจ ชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้  5.สร้างสังคมแห่งความสุข 6.สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น  ประเพณีและวัฒนธรรม 7.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม/ BCG  8.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 9.ศูนย์วิจัยพัฒนา และศูนย์เรียนรู้ ด้านเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม  เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบด้านเกษตร  ด้านสุขภาพ  และด้านสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขยายแนวคิดดังกล่าวในหลายพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเชียงเหนือ ( นครพนม หนองคาย สกลนคร ) ล้านนาตะวันออก (แพร่ น่าน พะเยา) ภาคตะวันออก(ระยอง ชลบุรี )   และจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการฝึกอบรมและขยายผลไปยังชุมชนต่าง ๆ ได้แก่ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง  อุทยานแห่งชาติศรีลานนา บ้านห้วยราชบุตร ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง ซึ่งโซนดังกล่าวสุ่มเสี่ยงเรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มุ่งพัฒนาเรื่องการเกษตรไร้สารเคมี และไม่เผาวัตถุทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเช่น สปป.ลาว (หลวงพระบาง – เวียงจันทน์)

“ ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถเกื้อกูลกันในหลายมิติ  โดยเฉพาะประเด็น BCG หรือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว นำสิ่งที่เหลือใช้ต่าง ๆ หมุนเวียนมาใช้ในระบบสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม  ในระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม แนวคิดเรื่อง BCG Model และ SDGs. Model เป็นมิติ3 ส่วนที่ร่วมผนึกกำลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม   ปัจจุบันนี้รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน BCG Model ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมไปถึง SDG.Model ซึ่งเป็นเป้าหมายของสหประชาชาติ ดังนั้น ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุนนโยบาย BCG และ SDGs ให้ประสบความสำเร็จได้ “ผศ.ดร.สถาพร กล่าวในที่สุด

ด้าน ผศ.ดร.สุริยจรัส เตชะตันมีสกุล  คณบดีวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเสริมว่า  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมถ่ายทอดระบบเกษตรสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง นำไปสู่การสร้างงาน  สร้างอาชีพแก่ชุมชน

“ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้นำระบบ “เกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” มาใช้แก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ให้มีปริมาณเพียงต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งขบวนการผลิตอาหารไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เผาป่าที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้อาหารมีราคาแพงเพิ่มขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านอื่นติดตามมาเช่น ภาวะโรคติดต่อ ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น

วิทยาลัยบริหารศาสตร์ สอนเรื่องนโยบายสาธารณะ การบริหารการพัฒนา นโยบายสำคัญคือ  จะทำอย่างไรจึงจะบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ภาครัฐ เอกชน ประชาคม ชาวบ้าน ชุมชนให้มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตัวนโยบายสาธารณะ ด้านเกษตร อาหารและสุขภาพ ฝั่งด้านงานวิจัยและบริการวิชาการจึงทำต้นแบบเรียกว่า Social Lab เป็นแหล่งฝึกให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกได้เรียนรู้ถึงนโยบายเหล่านี้ ขณะเดียวกันเป็นการตอบสนองนโยบายการพัฒนาระดับโลก ระดับประเทศ และระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งพัฒนาด้านเกษตร อาหารและสุขภาพ เน้นการทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก

นโยบายเกษตร อาหารและสุขภาพของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีต้นแบบที่เป็นรูปธรรมในระดับชุมชน สามารถบรรเทาปัญหาหมอกควันของประเทศได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบของเรา เน้นด้านเกษตร ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นประเภทใบไม้ เศษไม้ต่าง ๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการเผามาทำปุ๋ย   เมื่อเชื้อเพลิงลดลง โอกาสการเกิดไฟป่าหมอกควัน ก็น่าจะลดลง หากจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต้องทำครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย

ปัจจุบัน จังหวัดระยอง เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในเขต EEC  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีเครือข่ายเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม  3 แห่ง คือ  1.สวนหอมมีสุข ต.กระเฉด  อ.เมืองระยอง จ.ระยอง   2.ชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย อ.เมืองระยอง  3.หาดแสงจันทร์รีสอร์ท ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง  โดยวางแผนขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมในท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีความพร้อมนำองค์ความรู้ด้านเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่สร้างต้นแบบแห่งการเรียนรู้และปฏิบัติจริงเกิดผลสัมฤทธิ์   โดยมีศูนย์การเรียนรู้พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมขยายผลสู่พี่น้องประชาชนและผู้สนใจ ถือเป็นมิติใหม่ก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่จะขับเคลื่อนให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อขยายผลสู่การพัฒนา ชุมชน ท้องถิ่น ในระดับประเทศให้ครอบคลุมช่วยแก้ไขปัญหา เกิดความยั่งยืนในชีวิตต่อไป