ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามวิถีชีวิตของชาวอีสาน หลังว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะหาอาชีพเสริมด้วยการขุดปูหากบขายตามทุ่งนา ถือเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดี จนในปัจจุบันชาวบ้านได้เริ่มมีการพัฒนาจากเมื่อก่อนเคยหากบตามท้องทุ่งนามาขายหรือนำมาประกอบอาหาร ก็เปลี่ยนมาเลี้ยงกันเอง โดยเป็นการประยุกต์จากพื้นที่นาเดิมมาทำเป็นบ่อเลี้ยงกบเพื่อสร้างรายได้หลังว่างจากการทำนา ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีและมีความน่าสนใจด้านการตลาด และการต่อยอดสร้างมูลค่าอยู่ไม่น้อย
คุณสันติ สุนีย์ หรือ พี่อี๊ด หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกบนานครพนม อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 16 บ้านดอนข้าวหลาม ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อดีตเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง กลับมาพัฒนาบ้านเกิดที่นครพนม ด้วยอาชีพการเลี้ยงกบ ขายฮวก พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์ “ห่อหมกฮวกสำเร็จรูป” สร้างมูลค่า ทำรายได้ต่อเดือนเกือบแสน
พี่อี๊ด เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเลี้ยงกบ ขายฮวก และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตนเองทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่กรมทางหลวงมาก่อน จนมาถึงจุดอิ่มตัวตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดนครพนม โดยมีเป้าหมายหลักคือการเลี้ยงกบเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว ด้วยเป็นสิ่งที่รักและมีความสนใจมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะหากเมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 ตนเองถือเป็นคนแรกๆ ในหมู่บ้านที่ทดลองการเลี้ยงกบ ซึ่งในตอนนั้นชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อเลยว่ากบจะสามารถเลี้ยงได้
“ตอนนั้นผมใช้เวลาเลี้ยงอยู่ประมาณ 2 ปี คือปี พ.ศ. 2538-2539 ตอนเรียนอยู่ ม.5-ม.6 ทีนี้พอเรียนจบก็สอบติดโรงเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เลยมีความจำเป็นต้องทิ้งการเลี้ยงกบไปเป็นระยะเวลายาวนานมาก แต่ในระหว่างที่เรียนและทำงานก็จะคอยติดตามข่าวสารที่บ้านอยู่ตลอดว่าที่บ้านเราตอนนี้คนที่เลี้ยงกบสร้างรายได้เป็นยังไงกันบ้าง แต่เท่าที่รู้มาก็ยังไม่ได้มีการพัฒนา ทั้งกระบวนการเลี้ยง กระบวนการแปรรูป และการตลาด ชาวบ้านยังโดนเอาเปรียบเรื่องการตลาดอยู่เรื่อยๆ ผมจึงอยากใช้ทั้งความรู้ ความสามารถ และคอนเน็กชั่นที่มีมาอยู่มาพัฒนาสิ่งที่ผมรัก มาวางแผนระบบการเลี้ยงกบให้กลายเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมให้กับคนในหมู่บ้านหลังว่างจากการทำนา เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น”
โดยก่อนที่จะลาออกจากงานได้มีการวางแผนล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ในการศึกษาด้านการตลาดอย่างจริงจัง เพื่อต้องการทราบถึงที่มาของตลาดที่แท้จริงว่ามาจากที่ไหน ถ้าออกมาเลี้ยงอย่างจริงจังสามารถไปต่อได้ทางไหนบ้าง จึงได้ทำการสืบเสาะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เพื่อหาตลาดที่เป็นแหล่งรับซื้อใหญ่ๆ ว่ามีที่ไหนบ้าง จนได้ข้อมูลที่แน่ชัดว่าแหล่งรับซื้อสำคัญที่อยู่ทางภาคอีสานมีอยู่เกือบทุกจังหวัด จึงทำให้ตัดสินใจเลี้ยงกบเป็นอาชีพตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปี รวมถึงปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกบนานครพนม” มีสมาชิกในหมู่บ้านเดียวกัน 20 ราย และสมาชิกจากหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 15 ราย รวมสมาชิกทั้งสิ้น 35 ราย และหลังจากนั้นทางกลุ่มได้มีการริเริ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบเพิ่มเติม จึงได้ทำการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาอีกหนึ่งกลุ่มในชื่อ “กลุ่มแปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านดอนแดง” ขึ้นมา เพื่อแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจน ส่วนตนเองทำหน้าที่จัดการดูแลภาพรวม ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือคนเลี้ยง กลางน้ำ คือการแปรรูป และปลายน้ำ คือการตลาด เพื่อให้การทำงานเดินไปอย่างเป็นระบบ
การเลี้ยงกบมีความน่าสนใจอย่างไร
พี่อี๊ด อธิบายว่า กบนอกจากจะเป็นสินค้าและอาหารพื้นบ้านของคนอีสานแล้ว หากพูดถึงฮวกหรือลูกอ๊อด ก็คือโดยหลักของคนเลี้ยงกบทางภาคอีสานจะจำหน่ายกบเป็นลูกอ๊อด เพราะคนอีสานส่วนใหญ่จะบริโภคฮวก คือการนำเอาไปประกอบอาหาร และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ลูกฮวกจะมีให้กินแค่เฉพาะในฤดูกาลเท่านั้น คือตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม แต่พอหมดฤดูกาล อีก 7 เดือนที่เหลือความต้องการไม่ได้หมดไป ทางกลุ่มจึงได้มีการนำเอาความต้องการของบริโภคตรงนี้มาต่อยอดนอกจากการแช่เย็น แช่แข็งแบบธรรมดา ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ “ห่อหมกฮวกสำเร็จรูป” ที่มีอายุเก็บรักษาได้นานเป็นเดือน แถมวิธีกินก็แสนง่าย เพียงนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ 30 วินาที ก็สามารถกินห่อหมกฮวกรสชาติที่คุ้นเคยได้ไม่ว่าจะในฤดูไหน
โดยนวัตกรรมการแปรรูปยืดอายุห่อหมกฮวก ได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม จากการเข้าไปขอคำปรึกษาว่า “เรามีความต้องการอยากจะแปรรูปสินค้า เป็นห่อหมกฮวก เป็นอั่วกบ และผลิตภัณฑ์อีกหลายๆ อย่างให้มีอายุการเก็บรักษาได้นานๆ ซึ่งทางอาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนมก็ลงมาช่วยและได้มีการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์และการถนอมอาหารเข้ามาช่วย อย่างห่อหมกฮวกของเราสามารถเก็บไว้ได้นาน ผ่านกระบวนการต่างๆ โดยที่ไม่ใช้สารกันบูด ก็เลยได้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ภายในปี 66 ก็เป็นปีที่เราจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปห่อหมกฮวกอย่างต็มตัว”
วิธีการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก พื้นที่ 1 ไร่ สร้างอาชีพได้
เริ่มต้นจากขนาดของบ่อ พี่อี๊ด บอกว่า ขนาดของบ่อขึ้นอยู่กับพื้นที่นา บางคนเลี้ยงในบ่อกว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร หรือบางคนใช้บ่อกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ไปจนถึงบ่อกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร ก็ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่จะจัดสรรให้ลงตัว ดังนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องมีกี่บ่อ
วิธีการเลี้ยง เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ สำหรับคนที่ทดลองเลี้ยงหรือมีต้นทุนไม่มาก แนะนำให้ทดลองเลี้ยงประมาณสัก 50-100 คู่ การผสมพันธุ์จะใช้ตัวผู้ 50 ตัว ตัวเมีย 50 ตัว ในพื้นที่กว้าง 4×10 เมตร ใช้พ่อแม่พันธุ์ 50 คู่ต่อ 1 บ่อ และก่อนที่จะทำการผสมพันธุ์ ให้ปล่อยน้ำเข้าบ่อความสูงของน้ำประมาณครึ่งฝ่ามือ รอบบ่อล้อมรอบด้วยตาข่ายสีเขียว
พอถึงช่วงเย็นประมาณ 4-5 โมงเย็น ถือเป็นช่วงที่อากาศกำลังดี ไม่ร้อน เราจะจับพ่อแม่พันธุ์มาผสมกันในบ่อ แล้วก็ทิ้งไว้ 1 คืน พอถึงช่วงเช้าประมาณ 7 โมงเช้า ให้ทำการจับพ่อแม่พันธุ์แยกออก แล้วปล่อยไข่ทิ้งไว้ในบ่อ จนถึง 21 วัน ก็สามารถจับขายเป็นลูกฮวกได้แล้ว
หรือถ้ายังไม่อยากขายเป็นลูกฮวก หลังจาก 21 วันไปแล้วก็จะเริ่มออกขาครบทั้ง 4 ขา ก็สามารถจับขายเป็นลูกกบ มีอายุตั้งแต่ 30-45 วัน ขายได้ตัวละ 1 บาท หรือหลังจากนั้นจะเลี้ยงขายเป็นกบเนื้อก็ได้ ขายได้กิโลกรัมละ 120-150 บาท แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละฟาร์ม
อาหารที่ใช้เลี้ยง ในช่วง 21 วัน อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนมากจะใช้เป็นอาหารปลาดุกเม็ดเล็ก เพราะมีต้นทุนต่ำ แต่สำหรับคนที่พอมีกำลังจะใช้อาหารกบเม็ดโดยเฉพาะก็ได้ โดยจะมีข้อแตกต่างในเรื่องของโปรตีนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2-5 เปอร์เซ็นต์
“ถ้าเลี้ยงจับขายเป็นลูกฮวก 21 วัน เราจะเริ่มให้อาหารตั้งแต่ 3 วัน แรกๆ ก็จะให้อาหารถี่หน่อย เริ่มให้อาหารจาก 3 มื้อ คือ เช้า-กลางวัน-เย็น หลังจากนั้นพอได้อายุประมาณ 10 วัน ให้ลดลงเหลือแค่เช้ากับเย็น จนถึง 21 วันก็ตักขายได้ ปริมาณการให้อาหารต่อวันอยู่ที่ 1-2 กิโลกรัมต่อวัน”
สิ่งสำคัญที่สุด คือน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำเน่าเสีย ถ้าเป็นไปได้ให้สังเกตเวลาเลี้ยง จากที่น้ำใสๆ พอผ่านไปสัก 7-10 วัน น้ำจะเริ่มเขียวขุ่น ก็ให้เริ่มค่อยๆ ระบายน้ำเก่าออก แล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปผสมกับน้ำเก่าอัตราประมาณครึ่งต่อครึ่ง อย่าใช้น้ำเก่าจนจบเพราะน้ำเก่าจะเกิดการหมักหมมของเศษอาหาร และขี้ที่กบลงไป
เลี้ยงแบบไหนให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุด ข้อนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละฟาร์ม แต่ด้วยข้อจำกัดของสมาชิกกลุ่มคือถูกบีบด้วยระยะเวลา คือมีเวลาเลี้ยงไม่กี่เดือนก็ต้องกลับไปทำนาต่อ เพราะฉะนั้นระยะที่คุ้มค่าที่สุดคือการเลี้ยงขายลูกฮวกจะเหมาะสมที่สุด ด้วยการดูแลน้อย จับขายได้เร็ว และยังไม่เกิดโรคหรือเกิดปัญหาอะไรมากมาย แต่ถ้าเลี้ยงเป็นลูกกบตัวละ 1-2 บาท จะต้องมีการเลี้ยงอย่างพิถีพิถันมากขึ้น และมีโอกาสเกิดความเสียหายได้มากขึ้น อาจจะเป็นปัญหาตัวใหญ่กินตัวเล็กบ้าง หรือป่วยตายบ้าง แต่ถ้ามีเวลาการเลี้ยงเป็นกบขุนก็มีมูลค่าสูงกว่า
ราคาขายลูกฮวก เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล ในแต่ละปีสมาชิกกลุ่มของเราจะผลิตลูกฮวกได้ไม่ต่ำกว่า 80-100 ตัน ถ้าเป็นราคาที่ออกจากหน้าฟาร์มต้นฤดูของทุกๆ ปี ราคาก็อยู่ประมาณ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม แล้วหลังจากนั้นราคาจะลดลงมาตามปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่ราคาจะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับการดูแล้วคุ้มค่า แบ่งเป็นต้นทุน 60 เปอร์เซ็นต์ และกำไร 40 เปอร์เซ็นต์ เน้นขายส่งอย่างเดียว โดยตลาดที่ส่งหลักๆ จะมีทั้งภาคอีสาน เหนือ และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างทางภาคอีสาน ก็จะมีกาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น ทางภาคเหนือจะมี เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ และประเทศเพื่อนบ้านคือ ลาว มีการส่งอาทิตย์ละ 300-400 กิโลกรัม มีทั้งลูกค้าที่นำไปจำหน่ายต่อและนำไปประกอบอาหาร
“ที่ฟาร์มตอนนี้เลี้ยงเอง แปรรูปเอง และขายเอง และยังทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มที่จะต้องรวบรวมของสมาชิกที่เลี้ยงเอามาแปรรูป ก็คือเอามาบีบ แล้วซีลใส่ถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วนำไปส่งที่ตลาดตามจังหวัดต่างๆ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำด้วย เมื่อคิดเป็นรายได้ต่อเดือนเฉพาะของตนเองไม่รวมกับของสมาชิกในช่วงปีแรกๆ ที่ยังไม่มีโควิดรายได้ค่อนข้างที่จะดีเลย อยู่ที่ประมาณหลักแสนต่อเดือน แต่เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย” คุณสันติ กล่าวทิ้งท้าย
ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 085-901-9804 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : สันติฟาร์มฮวก