ประเทศเล็กที่หล่อเลี้ยงโลก

เพิ่งพูดถึงเนเธอร์แลนด์ไปหยกๆ ในฐานะตลาดดอกไม้ใหญ่สุดของโลก วันนี้ยังต้องพูดต่อ เพราะประเทศเล็กๆ ประเทศนี้เพาะปลูกอย่างแข็งขัน และมีผลผลิตมากมายน่าชื่นใจ ทั้งที่มีพื้นที่เล็กนิดเดียว

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็ก อยู่กันอย่างหนาแน่น โดยมีประชากรมากกว่า 392 คนต่อตารางกิโลเมตร เกือบ 3 เท่าของไทยที่ความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 136 คนต่อตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ 41,528 ตารางกิโลเมตร หรือราว 2 เท่าของเชียงใหม่ แม้จะเล็กจิ๋วแต่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากอเมริกาที่มีขนาดใหญ่กว่า 270 เท่า เฉพาะในปี 2560 เนเธอร์แลนด์ส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่า 111 พันล้านดอลลาร์ ในนี้เป็นดอกไม้ 10 พันล้านดอลลาร์ ผัก 7.4 พันล้านดอลลาร์

เนเธอร์แลนด์ดูไม่เหมือนผู้ผลิตอาหารรายใหญ่รายอื่นๆ เลย ที่เพาะปลูกส่วนใหญ่มีขนาดเล็กถ้าว่ากันตามมาตรฐานธุรกิจการเกษตร การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทำในโรงเรือน ไม่ใช่บนไร่นาขนาดใหญ่เหมือนของประเทศอื่น แต่เรือนกระจกของเนเธอร์แลนด์บางอันก็ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 500 ไร่เลยทีเดียว

credit : cntraveler.com

โรงเรือนควบคุมอุณหภูมิเหล่านี้ช่วยให้เนเธอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ในเขตอากาศหนาวเกือบตลอดปี สามารถผลิตและส่งออกผลไม้ได้ตลอดโดยไม่ต้องกังวลกับความหนาวเหน็บที่เป็นศัตรูสำคัญ ชาวดัตช์เป็นผู้ส่งออกมันฝรั่งและหัวหอมรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ส่งออกผักรายใหญ่เป็นอันดับสองในแง่ของมูลค่าโดยรวม และเป็นผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ผักมากกว่า 1 ใน 3 ของการค้าเมล็ดพันธุ์ผักทั่วโลก

แล้วอะไรทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นยักษ์จิ๋ว

“ประเทศเราค่อนข้างแออัด ที่ดินเราค่อนข้างแพง แรงงานก็แพง เราต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่นถึงจะแข่งขันได้ เราใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอาวุธหลัก” คุณ Ad van Adrichem ผู้จัดการทั่วไปของ Duijvestijn Tomatoes ผู้ส่งออกมะเขือเทศรายใหญ่ อธิบาย

มะเขือเทศ Duijvestijn เป็นตัวอย่างของเกษตรนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา บริษัทนี้ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมาให้ความร้อนแก่โรงเรือนปลูก และปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์เพื่อใช้น้ำน้อยลง

มะเขือเทศปลูกในถุงเล็กๆ ที่มีวัสดุปลูกจากหินบะซอลต์ที่หลอมละลายจนเป็นเส้นใยละเอียด มีสารอาหารและช่วยให้พืชอุ้มน้ำได้แม้ความชื้นจะต่ำ

credit : wur.nl

นอกจากจะไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชแล้ว เขายังต่อท่อฟาร์มอากาศเสีย หรือคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงกลั่นน้ำมันในท้องถิ่น ส่งเข้าไปในโรงเรือน เพื่อให้พืชใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเจริญเติบโต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

เรือนกระจกเกือบทุกแห่งมีหลังคากระจกสองชั้นเพื่อรักษาความร้อนและไฟ LED ส่องแสงให้ต้นไม้เติบโตได้ตลอดทั้งคืน

“โรงเรือนของเราครอบคลุมพื้นที่ 90 ไร่ ผลิตมะเขือเทศได้ประมาณ 100 ล้านลูกต่อปี” คุณ Van Adrichem บอก

การส่งออกสินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 9.4 เปอร์เซ็นต์ หรือโตขึ้นมากกว่า 100 พันล้านยูโรในปีที่แล้ว นึกเอาเถิดว่าเป็นเงินมหาศาลแค่ไหน

เยอรมนีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของผักผลไม้ของเนเธอร์แลนด์ รองลงมาคือเบลเยียม ฝรั่งเศส และอังกฤษ

ไม้ประดับและดอกไม้เป็นสินค้าส่งออกที่ร้อนแรงที่สุดของเนเธอร์แลนด์ มูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านยูโรในปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เนื้อสัตว์ และผัก ทำกำไรรวมกันกว่า 2.5 หมื่นล้านยูโร

credit : nortonrosefulbright.com

โดยทั่วไปแล้ว นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและสังคมของชาวดัตช์เสมอมา และมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาวิธีการเพาะปลูกในปัจจุบัน

ค่าใช้จ่ายด้าน R&D (การวิจัยและพัฒนา) ในเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ของประเทศ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวดัตช์มีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรมและการพยากรณ์สถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มของการผลิตอาหารโลก

เกษตรกรเนเธอร์แลนด์ใช้เศษอาหารเลี้ยงปศุสัตว์ ฟาร์มวัวในท้องถิ่นจะเลี้ยงวัวด้วยอาหารที่เหลือจากร้านอาหารในท้องถิ่นของพวกเขา อาหารสัตว์ประมาณ 90,000 ตันต่อปีมาจากเฉพาะเศษอาหารของมนุษย์

credit : janzenlaw.blogspot.com

ด้วยพื้นที่จำกัด เนเธอร์แลนด์ประกาศว่าประเทศตัวเองจะ “ผลิตอาหารมากเป็น 2 เท่าโดยใช้ทรัพยากรครึ่งหนึ่ง” เกษตรกรจำนวนมากลดการใช้น้ำได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนเกือบทั้งหมด เขาเดินหน้าเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศมากว่าทศวรรษแล้ว

โลกจะต้องหาอาหารเลี้ยงคน 9 พันล้านคน และก็จะต้องรักษาสภาพอากาศให้ไม่ให้เลวร้ายเกินไปด้วยภายในปี 2050 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยไนโตรเจนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เกษตรกรจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะต้องแบกรับกฎเกณฑ์มากที่สุด

บริษัทอาหารเกษตร 5 อันดับแรกของโลกอยู่ในเนเธอร์แลนด์ อะไรที่เกิดขึ้นในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ย่อมส่งผลกระทบกับโลกทั้งใบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้