อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผนึกกำลัง ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้นำธุรกิจการจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โดย คุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย แถลงข่าว “Food Technology Events by Informa Markets” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับงาน “ProPak Asia 2023” และ “FI Asia 2023” พร้อมร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมกระบวนการการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น ยังจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ศักยภาพการผลิตอาหารในประเทศไทยในรูปแบบ BCG Economy Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กระจายโอกาสและรายได้สู่ชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Ecosystem) ณ จังหวัดเชียงใหม่

คุณรุ้งเพชร กล่าวว่า เราต้องการผลักดันให้กลุ่ม M-SMEs สามารถแข่งขันและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลกได้ รวมทั้งผลักดันให้ไทยกลายเป็น Hub แห่งนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต

คุณรุ้งเพชร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้อยู่เพียงโดดเดี่ยว แต่เราเป็นหนึ่งใน MICE ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เป็น Soft Power ทางด้านวัฒนธรรมอาหาร เป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้เข้าประเทศ ดังนั้น การเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา นอกจากนั้น การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เป็นการจุดประกายระบบ Ecosystem แบบครบวงจร ของอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของ Processing และ Packaging เรียกว่าครบทั้งกระบวนการแบบครบวงจร

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารแห่งอนาคตไทย กล่าวว่า เกษตรกรไทยควรมีองค์กรส่วนกลางที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยมีความแข็งแกร่ง เพราะปัจจุบันแรงงานลดลง นวัตกรรมเข้ามาทดแทนมากขึ้น และการเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร มีการปรับวิธีการผลิตอาหารจากดั้งเดิม ในรูปแบบของ plant base และ insec base อาหารจะมาจากพืช โปรตีนจากพืชหรือแมลง เพื่อลดการบริโภคแป้งลง ซึ่งงาน Propak Asia 2023 และ FI Asia 2023 จะตอบโจทย์ได้ดี

คุณสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพานิชย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรถูกยกระดับไปสู่ระดับนานาชาติ ทั้งกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น งานวิจัยจึงมีความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหาร และการเกษตร

คุณเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทยได้อย่างน่าสนใจว่า ในปี 2565 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม เป็นจำนวน 1.54 ล้านล้านบาท เป็นสินค้าเกษตร อาหาร 0.74 ล้านล้านบาท (48%) สินค้าอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม 0.80 ล้านล้านบาท (52%) เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 13 ของโลก เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย ส่วนยอด ขายภายในประเทศไม่น้อยกว่าการส่งออก การจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และการประมง จนถึงโรงงานแปรรูปขั้นต้น แปรรูปขั้นกลาง และแปรรูปขั้นที่สำคัญ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาต่างๆ เพื่อนำสินค้าต่างๆ สู่การพาณิชย์ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงหรือตระหนัก คือเรื่ององค์ประกอบ Foods 3S ได้แก่ 1. Food Safety ความปลอดภัยอาหาร 2. Food Security ความมั่นคงด้านอาหาร และ 3. Food Sustainability ความมั่นคงทางด้านอาหาร

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) กล่าวเสริมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ที่เกิดจากการบูรณาการกับภาคเอกชนว่า FIN ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิชาการ ที่มุ่งเน้นการบริหารโดยใช้แนวทาง SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และให้การบริการผู้ประกอบการ แบบ 3C ได้แก่ C1 : Creative Food & Packaging, C2 : Consolidated Precision Testing, C3 : Connect เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ นำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ความร่วมมือกับ ฟู้ด เทคโนโลยี อีเว้นท์ส บาย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจ ในระดับภูมิภาคและมุ่งสู่ระดับสากลอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานไปยังหน่วยงานภายนอกในระดับมหาภาค ที่จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารของไทยซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมมือกันผลักดันงานวิจัยเพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันศึกษา ค้นคว้า และวิจัย โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ในพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง และยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทยเพื่อการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมตลอดจนช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต

ทั้งนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กำลังจะจัดงานมหกรรมแห่งปีถึง 2 งาน ได้แก่ “ProPak Asia 2023” (โพรแพ็ค เอเชีย 2023) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-17 มิถุนายน 2566 และ “FI Asia 2023” (ฟู้ด อินกรีเดียนส์ เอเชีย 2023) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20-22 กันยายน 2566 ภายใต้การผนึกความร่วมมือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมร่วมเป็นหนึ่งในการกระตุ้นตลาด MICE เติบโตตามนโยบายภาครัฐดันไมซ์ไทยสู่ไมซ์โลก พร้อมมั่นใจศักยภาพดึงต่างชาติเข้าร่วมแสดงนวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สำหรับทั้ง 2 งาน