ผนึกกำลังสร้างอนาคตที่มั่นคง ด้วยตลาดนำการผลิต

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ผมจะขอนำตัวอย่างและโมเดลใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในเร็วๆ นี้ครับ ผมขอเรียกตอนนี้ว่า “ผนึกกำลังสร้างอนาคตที่มั่นคง” นั่นคือรูปแบบตลาดนำการผลิต ของมันสำปะหลัง ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครก็พูดกัน แต่มันก็เกิดขึ้นยากมากในอดีต เพราะเกษตรกรจะปลูกพืชหรือทำการผลิตตามที่ตนเองถนัดเป็นส่วนใหญ่ ถึงเวลาก็ขายกันไป ได้ราคาเท่าไรก็ตามใจพ่อค้า เพราะเกษตรกรส่วนมากจะค้าขายไม่เป็นหรือไม่ชำนาญ แต่ปัจจุบันเรื่องตลาดนำการผลิตกำลังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้พยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด และที่นครสวรรค์ก็กำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเช่นกันโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแม่งานหลักด้วยตนเอง

ในจังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังกว่า 500,000 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกประมาณ 26,000 ครัวเรือน ผลผลิตอยู่ในราว 1.5 ล้านตัน หรือประมาณไร่ละ 3 ตัน ซึ่งก็นับว่าผลผลิตยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น โครงการนี้ก็จะพัฒนาผลผลิตให้สูงขึ้นด้วย จึงจะขอเล่าถึงนครสวรรค์โมเดล โครงการมันแก้จนให้เห็นภาพ

ที่มาของโครงการ ดังนี้

จังหวัดนครสวรรค์ ทำบันทึกข้อตกลง MOU ดำเนินการด้านพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และการรับซื้อมันสำปะหลังเพื่อการแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังจำหน่าย

ความร่วมมือในข้อตกลง MOU ในครั้งสำคัญนี้ ร่วมกับบริษัท พาวเวอร์อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท รีสยามพัฒนา สตาร์ช จำกัด และบริษัท เอจีอี อกริ เทรดดิ้ง จำกัด ในความร่วมมือดำเนินการด้านพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และการรับซื้อมันสำปะหลังเพื่อการแปรรูป

การลงนามมีขึ้น นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักด้วยตนเอง เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับบริษัท พาวเวอร์อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท รีสยามพัฒนา สตาร์ช จำกัด และบริษัท เอจีอี อกริ เทรดดิ้ง จำกัด ในความร่วมมือดำเนินการด้านพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และการรับซื้อมันสำปะหลังเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังเพื่อจำหน่าย

โดยในการลงนามในครั้งนี้เป็นการจับมือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเป็นภาคีเครือข่ายในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในรอบปีที่ผ่านมา ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 500,000 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 1,500,000 ตันต่อปี ราคาขายในปัจจุบันค่าเฉลี่ยตันละประมาณ 2,700 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าหากสามารถเพิ่มผลผลิตก็จะสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ล้านตันต่อปี ถ้าเกษตรกรใช้เทคโนโลยีรวมถึงวิธีการปลูกที่ถูกต้องก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้หลายเท่าตัว อย่างน้อยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มอีกประมาณ  1,350 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ด้านการตลาดรับซื้อหัวมันจากเกษตรกร ก็จะมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในเกษตรกรผู้ผลิตที่จะมีแหล่งรับซื้อในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย

การดำเนินโครงการนี้ เขาเรียกว่าโครงการ “ปลูกมันแก้จน” ในรูปแบบของ BCG โมเดล จะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยการปลูกมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะเพิ่มผลผลิตและเพิ่มกระบวนการด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายให้มันสำปะหลังมีมูลค่าที่สูง เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้และลดต้นทุนลงได้อีกด้วย

สำหรับการดำเนินการในลักษณะนี้ ผู้เขียนเคยนำเสนอมาหลายตอนแล้ว ซึ่งได้กล่าวย้ำๆ มาโดยตลอดว่าถ้าเกษตรกรจะมีทางเลือกที่ดี เพื่อนำไปสู่ทางรอดให้ได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สมดุลและเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น โครงการแบบนี้แหละที่จะนำไปสู่ทางรอดของเกษตรกรครับ รวมถึงส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่มีแต่ความมั่นคง และประเทศชาติก็จะพัฒนาเพิ่มขึ้นด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าไม่มุ่งการพัฒนาแนวนี้ ก็นับวันจะล้าหลังประเทศคู่แข่งไปทุกที แต่หากกลับมาสู้ด้วยแนวทางนี้ ก็เชื่อว่านี่แหละคือทางรอดของเกษตรกรไทยครับ

ผู้เขียนจึงขอสรุปแนวทางของโครงการที่กำลังเกิดขึ้นที่นครสวรรค์เพื่อให้ทุกท่านเห็นการพัฒนาการที่จะสร้างความเจริญให้ภาคเกษตร ดังนี้

1. กระบวนการผลผลิตต้นน้ำ

สำหรับโครงการนี้ การผลิตที่ต้นน้ำ จะมีการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ด้วย โดยมีภาคเอกชน โดยบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท สตาร์ทอัพชั้นนำของไทยอย่างบริษัทรีคัลท์มาสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ด้านงานนวัตกรรมและวิจัย โดยร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลงปลูกผู้เข้าร่วมโครงการในจังหวัดนครสวรรค์ เรียกกันว่าต่อไปนี้เกษตรกรจะไม่ได้เดินเพียงลำพังอีกต่อไป กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะเข้ามาร่วมสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกัน ได้รับผลประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างกัน

1.1 มีการวางแผนการปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศ ผ่านกิจกรรมสำคัญ

1.2 มีการส่งเสริมการใช้ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ เหมาะสม ให้ผลผลิตดี เพื่อให้ต้นมันสำปะหลังเติบโตและแข็งแรง มีผลผลิตดีและมีมาตรฐาน

1.3 มีการระเบิดดินในกรณีที่ดินเสื่อมสภาพและแข็งเกินไป และให้ความรู้ในการเตรียมดินแปลงปลูกให้มีสภาพที่เหมาะสมที่จะปลูกมันสำปะหลังอย่างมืออาชีพ

1.4 มีการส่งเสริมการใช้ระบบให้น้ำที่เหมาะสม หรือระบบน้ำหยดตามความสมัครใจ ซึ่งจะเป็นระบบทางเลือกที่เกษตรกรเลือกลงทุนได้ตามศักยภาพและสมัครใจ

1.5 จะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิต มีการนำโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้เพื่อฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สอดคล้องกับการผลิตสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

1.6 จะมีการดูแลเกษตรกรในลักษณะหุ้นส่วนธุรกิจมากกว่าการทำธุรกิจค้าขายอย่างเดียวแบบเดิมๆ ที่เป็นระบบการค้าทั่วไป แต่โครงการนี้ดูแลกันแบบหุ้นส่วนธุรกิจกันเลยทีเดียว ผู้เขียนได้ไปเห็นมาด้วยตนเอง และเชื่อว่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีมากๆ โดยเฉพาะเกษตรกรในปัจจุบันนี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถวินิจฉัยได้ว่าโครงการนี้ดีจริง เพราะบริษัทรับซื้อหัวมันสำปะหลังมาลงทุนสร้างโรงงานมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เลยทีเดียว

สำหรับเกษตรกรต้นน้ำเหล่านี้ หากสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพิ่มขึ้นเพียงไร่ละ 1 ตัน ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มไร่ละประมาณกว่า 2,000 บาท ถ้าเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเพียงครอบครัวละ 10 ไร่ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นอีก 20,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสำหรับทางรอดของเกษตรกรไทย และหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้ไร่ละถึง 2-3 ตัน ก็จะยิ่งสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยผู้ปลูกมันสำปะหลังอยู่ดีกินดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

2. กระบวนการแปรรูปกลางน้ำ

เมื่อเกษตรกรขุดหัวมันสดแล้ว บริษัทที่ร่วมโครงการนี้คือ บริษัท รีสยามพัฒนา สตาร์ซ จำกัด ที่มาสร้างโรงงานมูลค่านับพันล้านบาท และเป็นบริษัทของนักธุรกิจที่มากันทั้งครอบครัว ทั้งรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่มีประสบการณ์และมีทุน และบุตรที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้ มีความกล้า เทคโนโลยีและมีนวัตกรรม นับว่าน่าสนใจมากๆ บริษัทจะรับซื้อหัวมันสดทั้งหมดที่เกษตรกรผลิตในราคาตามข้อตกลงกันอย่างเป็นธรรม และมีศักยภาพที่จะรับซื้อในราคาที่สูงขึ้นแบบนำตลาดได้ในโอกาสต่อไป และเป็นธรรมกว่าที่ผ่านมาได้แน่นอน เพราะว่าทางบริษัทผู้รับซื้อไม่ได้เป็นคนกลางที่ซื้อมาแล้วขายไปแบบกินส่วนต่าง หากแต่บริษัทจะซื้อแล้วนำมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตลาดต้องการ ซึ่งได้มีการสำรวจกันไว้แล้ว เรียกกันว่า ตลาดนำการผลิตอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงขอสนับสนุนให้เกิดโมเดลเหล่านี้มากๆ ขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตการเกษตรประเภทใดก็ตาม เราจึงมองเห็นความสำเร็จที่ดีอยู่เบื้องหน้าของเกษตรกร และเป็นที่แน่นอนว่าโรงงานมาสร้างในพื้นที่นครสวรรค์ หากไม่รับซื้อหรือรับซื้อในราคาต่ำ เกษตรกรก็ย่อมจะไม่จำเป็นต้องขายให้แก่บริษัท เพราะมันสำปะหลังในประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่าความต้องการอยู่แล้ว

ดังนั้น เกษตรกรจึงไม่ต้องกังวลอะไร เพราะบริษัทผู้ซื้อก็ย่อมทราบดีและมีระบบการบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ เพราะมิเช่นนั้นความเสี่ยงจะตกแก่ทางบริษัทเอง เกษตรกรจึงมั่นใจได้ในการเข้าร่วมโครงการนี้

3. กระบวนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ

สำหรับการตลาดหรือปลายน้ำนั้น จะมีบริษัทอีกบริษัทหนึ่งชื่อ บริษัท เอจีอี อกริ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทที่จะทำหน้าที่ทางการตลาด เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง ทั้งตลาดภายในและตลาดภายนอกประเทศด้วยประสบการณ์ที่มีมา

ดังข้อมูลที่กล่าวมานี้ จึงนับเป็นทางเลือกบนทางรอด ของเกษตรกรไทย ซึ่งเชื่อว่าหากโครงการนี้เดินไปได้ตามที่คาดหวัง มีการรวมพลังกันทั้งภาคราชการและเอกชน โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง พร้อมจะเติบโตไปแบบนี้ ผู้เขียนก็เชื่อว่าเกษตรกรกำลังจะพบกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วครับ และผมเชื่อมั่นว่าถ้าส่วนราชการระดับจังหวัดลงมาบัญชาการเอง แล้วมีเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สหกรณ์จังหวัด ซึ่งมีบทบาทดูแลเกษตรกรอยู่ที่ต้นน้ำ อีกทั้งมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีพาณิชย์จังหวัด สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า ลงมาสนับสนุนด้านกลางน้ำและปลายน้ำ ก็เชื่อว่านี่คือโมเดลทางรอดที่สำคัญอาจจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในหลายๆ ต้นแบบของการผนึกกำลังกอบกู้ภาคเกษตรของเราให้กลับอยู่รอดปลอดภัย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองได้พยายามสืบเสาะหาโมเดลด้านการเกษตรดีๆ มานำเสนอต่อเกษตรกรให้เป็นแนวทาง พอได้ไปพบโครงการนี้จึงขออนุญาตนำมาเสนอเพื่อสะท้อนไปถึงระดับผู้บริหารประเทศด้วยว่า โครงการในลักษณะนี้ควรจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากๆ ครับ เพราะนี่คือ ทางเลือกบนทางรอดของเกษตรกรไทยครับ

ขอขอบคุณ