ผลิตภัณฑ์เด่นแปรรูปปลานวลจันทร์ วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์

ความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ น่าสนใจออกมาทำตลาดสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชนที่จะกระจายรายได้ไปในวงกว้าง เช่นเดียวกับ วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี น้องใหม่อายุยังไม่ครบขวบดี มาแรงด้วยผลิตภัณฑ์เด่นแปรรูปปลานวลจันทร์ส่งตลาดภายใน-ต่างประเทศ

วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี 

เรียนรู้ เที่ยว ชิม ช้อป วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์

คุณสุภิดา ลิ้นทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี หรือ คุณตุ๋ม เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ เพิ่งจดทะเบียนตั้ง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เป็นแหล่งเรียนรู้ แสดงและจำหน่ายสินค้าของชุมชนและเครือข่าย ตาม Concept “เรียนรู้ เที่ยว ชิม ช้อป” ด้วยศักยภาพพื้นที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำแหลมสิงห์ เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มีวิถีชีวิตชุมชน อาชีพที่น่าสนใจ เมื่อส่งเสริมและพัฒนาการด้านอาชีพเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เพิ่มรายได้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสู่การพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน (SDGs) และตามแนวคิด BCG Economy Model สอดคล้องกับจังหวัดจันทบุรีส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางเกษตรให้มีมาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการการอาหารเป็นยา “วิถีคนจันท์” เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว

คุณจีระประทีป ทองเปรม

“เริ่มจากสมาชิก 9 ครัวเรือนไม่มีการระดมทุน นำต้นทุนจากวิถีชีวิตท้องถิ่นชาวประมงที่ประสบปัญหาจากผลผลิตปลานวลจันทร์ที่เลี้ยงเติบโตตามธรรมชาติ ในบ่อเลี้ยงปลากะพง บ่อกุ้ง บ่อปู ไม่มีตลาดรับซื้อเป็นปลาที่ไม่นิยมบริโภค เพราะปลานวลจันทร์เป็นปลาที่มีก้างมาก จากระยะเวลาที่ไม่ถึงปีพยายามพัฒนาปลานวลจันทร์เป็นเนื้อปลาที่ปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างหลากหลาย เริ่มได้รับความนิยมกับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และมากินอาหาร และซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับบ้าน หลังจากเปิดให้ศึกษาดูงาน ครั้งแรกพฤษภาคม 2565 มีกลุ่มที่มาสนใจศึกษาดูงานถึงเกือบ 100 คณะ ร่วม 4,000 คนในระยะเวลา 10 เดือน ตอนนี้สมาชิกได้เพิ่มขึ้น 22 ครัวเรือน คาดว่ากลุ่มเราจะเติบโตได้อีกหากเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ เพราะมั่นใจในศักยภาพและอัตลักษณ์ของชุมชน” คุณสุภิดา กล่าว

คุณสุภิดา ลิ้นทอง

ปลานวลจันทร์ ปลาของพ่อ

คุณสุภิดา เล่าว่า ด้วยปลานวลจันทร์ (milkfish) เป็นปลาตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งให้มีการเพาะเลี้ยง ได้ทดลองประสบความสำเร็จมาแล้วที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ พัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจ มีการสอนเทคนิคการถอดก้าง แปรรูป เมื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี นำมาเลี้ยงในกระชัง และเลี้ยงในบ่อช่วยกินแพลงตอน พืช สัตว์น้ำ สาหร่ายทะเล เพื่อช่วยปรับคุณภาพน้ำได้ผลดี จึงคิดว่าปากน้ำอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงปลากะพง ปู กุ้ง อยู่แล้ว มีปลานวลจันทร์ทะเลตามธรรมชาติเข้ามาในบ่อที่มีความเค็มต่ำ (น้ำกร่อย) สามารถเติบโตได้ น่าส่งเสริมเป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ด้วยที่มีก้างมากผู้บริโภคไม่นิยมทำให้ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณสุภิดา และ คุณจตุรภัทร์ ลิ้นทอง

“ปากน้ำแหลมสิงห์เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ มีแพลงตอนที่สมบูรณ์ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ ลูกพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลตามธรรมชาติจะเข้ามาอยู่ร่วมกับบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และบ่อปู มีความทนทานต่อโรคสูง ไม่ต้องให้อาหารเพิ่มและยังช่วยกินซากแพลงตอนพืช สัตว์ที่ทับถมกันที่เรียกว่า “ขี้แดด” ทำให้บ่อสะอาด คุณภาพน้ำดี ใช้ระยะเวลาเพียง 8 เดือนได้น้ำหนักประมาณ 600-700 กรัมต่อตัว ตอนนี้ไม่ได้เลี้ยงเดี่ยว ชาวบ้านขายได้ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 30 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท โจทย์คือทำอย่างไรให้มีตลาดรับซื้อทำให้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ขึ้นมา” คุณสุภิดา กล่าว

ปลานวลจันทร์สดๆ
ขนาด 2 กิโลกรัมเศษ 

ถอดก้างใช้ทุกส่วน Zero Waste เพิ่มมูลค่า  

คุณสุภิดา เล่าว่า ได้คิดแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ด้วยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ ได้สำนักงานเกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชนอำเภอ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนแนะนำ เพื่อทำผลิตภัณฑ์แปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลเริ่มจากเรียนรู้ เทคนิคการถอดก้าง ทดลองจากปลาในบ่อกุ้งที่สามี คุณจตุรภัทร์ ลิ้นทอง เลี้ยงไว้ และรับซื้อจากชาวบ้าน เมื่อได้ส่วนเนื้อปลานวลจันทร์สดๆ เริ่มได้รับความนิยม ลูกค้าจากฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวันที่อยู่เมืองไทยเห็นในเฟซบุ๊กติดต่อขอซื้อ เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจเหมือนประเทศเขา แต่ยังรับซื้อแต่เฉพาะปลาเล็ก ไซซ์ตัวละต่ำกว่า 9 ขีด ปลาขนาดใหญ่ตัวละ 3-4 กิโลกรัม ขายไม่ได้จึงคิดทำเนื้อปลาแยกเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งตัว (Zero Waste) และทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

ชิ้นเนื้อ
พื้นท้อง

ปลานวลจันทร์ใช้บริโภคได้ทั้งตัว เริ่มจากถอดก้างออก ส่วนเนื้อปลา หรือเนื้อปลาบด ขายให้ร้านค้าที่ต้องการวัตถุดิบนำไปแปรรูปเมนูอาหาร แยกส่วนพื้นท้องที่มีความมัน ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวันที่อยู่ในไทยชอบกินมาก เพราะปลานวลจันทร์มีเหมือนกับประเทศเขา จะซื้อเนื้อปลาไปขายสดๆ และทำเมนูอาหารต่างๆ ในร้านอาหารที่กรุงเทพฯ ส่วนประกอบต่างๆ คือ ก้างอ่อน หนังปลา นำไปทอดกรอบกินเล่น เครื่องในปลา นำไปหมักไตปลา ปลาร้า ทำเมนูแกงไตปลา ไตปลาผัดแห้ง น้ำพริกปลาร้า เหงือก ขี้ปลา ครีบ หาง หมักทำน้ำหมักชีวภาพ (พด.2) ใช้รดพืชผักที่จะกินกับน้ำพริกปลานวลจันทร์ และเกล็ดปลา สถาบันการศึกษาอยู่ระหว่างวิจัย นวัตกรรมสกัดคอลลาเจนมาใช้ประโยชน์ อนาคตเตรียมจะขอ GI ปลานวลจันทร์ ปลาของพ่อต่อไป

น้ำพริกปลามิลค์ฟิช

ผลิตภัณฑ์แปรรูปเด่น น้ำพริกปลานวลจันทร์

คุณสุภิดา อธิบายว่า ปลานวลจันทร์ทะเลที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ได้เนื้อปลามีคุณภาพ รสชาติอร่อย เนื้อปลาไร้ก้างใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารท้องถิ่นของจันทบุรี ที่ทั่วไปหากินยาก เช่น ต้มกระวาน ข้าวต้มปลา ปลาชะมวง/ต้มเค็มหวาน ผัดพริกเกลือ/ผัดพริกแกงป่าสูตรเมืองจันท์ แกงไตปลา/ไตปลาผัดแห้ง ปลาพล่า ทอดมัน (ใช้เนื้อปลาขูด) หรือแปรรูปง่ายๆ พร้อมกิน เช่น ข้าวเกรียบ ก้างอ่อนอบกรอบแล้วป่นเป็นผงโรยข้าว และผลิตภัณฑ์เด่นที่ได้รับความนิยมมากทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ คือน้ำพริกปลานวลจันทร์ทะเล มี 2 ชนิด คือ น้ำพริกปลามิลค์ฟิช (Milkfish Chilli Paste) ใช้เนื้อปลาชิ้นใหญ่ 2 ข้างติดก้างอ่อนนำไปบด ช่วยเสริมแคลเซียม ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทยที่คุ้นเคยกับน้ำพริกต่างๆ ส่วนน้ำพริกชิลีออยล์ (Milkfish Chilli oil) เป็นซอส ปรุงอาหาร เป็นที่รู้จักในเมนูเชฟต่างประเทศ เช่น คนจีนในมาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย ตอนนี้มีออร์เดอร์จากลูกค้าฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์มาติดต่อขอซื้อแล้ว แต่ยังติดที่อยู่ในระหว่างการขอ อย. คาดว่าเร็วๆ นี้เรียบร้อย

“น้ำพริกปลามิลค์ฟิช ตลาดคนไทยนิยม ขวดขนาด 145 กรัม ราคา 100 บาท ราคาน่าจะสูง เพราะต้นทุนสูงเฉพาะแพ็กเกจฉลากขวดละตก 20 บาท ต้องหาบรรจุภัณฑ์ที่ดีและถูกกว่านี้เพื่อปรับราคาลง ส่วนเมนูอาหารปลานวลจันทร์ต่างๆ นี้หากินได้ที่ เดอะไพรด์ โฮแทล วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี ตลาดนัดป้าปุ้ย และร้านอาหารในพื้นที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์” คุณคุณสุภิดา กล่าว

เมนูอาหาร
บะหมี่ผักกาดสาหร่ายทะเล

เชื่อมโยงท่องเที่ยว

คุณจีระประทีป ทองเปรม หรือ อาจารย์เหน่ง รองประธานวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์และนักเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอแหลมสิงห์ มีทั้งแหล่งประวัติศาสตร์ทั้งบนฝั่งและในท้องทะเล รวมทั้งวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งไป-กลับ และพักค้างโฮมสเตย์ ถ้าเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ไปด้วยกัน มาแล้วได้เรียนรู้ เที่ยว ชิม ช้อป สินค้าโอท็อป ผลิตภัณฑ์ของดีจังหวัดจันทบุรี ผลิตภัณฑ์ปลานวลจันทร์ ที่มีวางจำหน่ายที่วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี@ปากน้ำแหลมสิงห์ อยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว มาพักได้ซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นของฝากด้วย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนช่วยกระจายรายได้อาชีพหลักประมงกับหลากหลายอาชีพ

คุณจีระประทีป รับคณะศึกษาดูงาน
สาหร่ายทะเล เตรียมต่อยอด

คุณสุภิดา กล่าวว่า อำเภอแหลมสิงห์มีชายหาดทะเลสวย ปีหนึ่งเที่ยวได้ 8 เดือนไม่มีฝน ปลายปีเป็นช่วงทะเลสวยสุด เราอยากให้ ททท. กับหน่วยงานอื่นๆ มาจัดอีเว้นต์ มีสินค้าโอท็อปมาขาย “เทศกาลทานปลานวลจันทร์ที่แหลมสิงห์” มีเชฟระดับชาติมารังสรรค์เมนูปลานวลจันทร์ ชาวบ้านมาร่วมแข่งขันทำเมนูปลานวลจันทร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว เป็นความพิเศษปีละ 1 ครั้ง และกำหนดในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

สมาชิกต้อนรับคณะศึกษาดูงาน
หน่วยงานจังหวัดจันทบุรี รับฟังปัญหา 

เตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์

“วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรีฯ ได้การขยายผลองค์ความรู้ เทคนิคการเลี้ยงและการแปรรูป “สาหร่ายผักกาดทะเล” ควบคู่ “ปลานวลจันทร์ทะเล” เพราะมีโปรตีนสูง เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอาชีพ ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ บะหมี่ผักกาดทะเล ออกมาจำหน่ายแล้ว และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย อนาคตจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิวหน้า สบู่ ครีมอาบน้ำ ทั้งนี้ ต้องการให้หน่วยงานเข้ามาสนับสนุน เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของปลานวลจันทร์ทะเล สาหร่ายผักกาดทะเล และตลาดออนไลน์ และการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว” คุณสุภิดา กล่าวทิ้งท้าย

คุณสริญญา นาคขาว พัฒนากรที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์

สอบถามรายละเอียด วิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี๑ปากน้ำแหลมสิงห์ โทร. 064-359-7894, 092-239-9793 www.VillageInsight

ปลานวลจันทร์ต้มกระวานใส่ระกำ อาหารวิถีจันท์ 

วัตถุดิบ เครื่องปรุง

  1. น้ำซุปจันทราบุรี (base soup สูตรเฉพาะ : ใช้หัวปลา ก้างแกน พื้นท้อง รากผักชี พริกไทย หอมแดง จะเป็นซุปเข้มข้นที่อุดมไปด้วยคอลลาเจน และโอเมก้า 3)
  2. เนื้อปลานวลจันทร์ทะเลหั่นชิ้นลวก (ล้างเลือดคาว)
  3. หน่อกระวานสด
  4. ระกำเปรี้ยว
  5. ใบมะกรูด
  6. น้ำปลา
  7. มะนาว
  8. พริกขึ้หนู
  9. ผักชี 
ปลานวลจันทร์ต้มกระวานใส่ระกำ

วิธีทำ

  1. ตักน้ำซุปตั้งไฟ
  2. ใส่หน่อกระวานสดที่ฝานไว้ ตามด้วยเนื้อระกำ และใบมะกรูดฉีกพอหยาบ
  3. ใส่เนื้อปลาลวกลงไป
  4. ปรุงรสด้วยน้ำปลา ต้มเนื้อปลาจนสุก
  5. ใส่มะนาว พริกขี้หนู ปิดไฟ
  6. ตักใส่ชาม โรยด้วยผักชี เสิร์ฟร้อนๆ กินกับข้าวสวยอร่อยทีเดียว