หนุ่มประจวบฯ ปลูกมันหวานญี่ปุ่น “คุริ โคกาเนะ” เปลือกสีครีม เนื้อฉ่ำหวาน 2 เดือนครึ่ง เก็บขาย

“คุริ โคกาเนะ” มันหวานญี่ปุ่นสีขาว สายพันธุ์จากจังหวัดคาโกชิมา มีลักษณะเฉพาะคือ เนื้อข้างในเมื่อสุกมีสีเหลืองสวย เปลือกสีครีม เนื้อฉ่ำหวาน เหนียวหนึบ ไม่มีเสี้ยน อิ่มเร็ว เเละอยู่ท้อง เหมาะอย่างมากสำหรับใครที่กำลังควบคุมหรือลดน้ำหนัก

คุณเทวินทร์ จันทวงค์ หรือ คุณเท

คุณเทวินทร์ จันทวงค์ หรือ คุณเท เจ้าของสวนนายเท มันหวานญี่ปุ่น ปากน้ำปราณ ที่อยู่ 523 หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกถั่วลิสงและมันเทศพันธุ์ไทย หันมาปลูกมันเทศสายพันธุ์ญี่ปุ่นแทน ด้วยเหตุผลทางด้านราคา ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่หันมานิยมบริโภคมันหวานญี่ปุ่นกันมากขึ้น เพราะรสชาติที่หวานฉ่ำ ทานอร่อย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีกว่ามันเทศพันธุ์ดั้งเดิมของไทย

สภาพแปลงปลูกมันหวานญี่ปุ่น “คุริ โคกาเนะ”

คุณเท เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะหันมาปลูกมันเทศญี่ปุ่น หรือที่หลายคนเรียกว่า มันหวานญี่ปุ่น ที่สวนปลูกถั่วลิสงกับปลูกมันเทศพันธุ์ไทยมาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงหลังมานี้ประสบปัญหาด้านราคา จึงคิดที่จะหาพืชอย่างอื่นมาปลูกทดแทนพืชเดิมที่ขายได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ยังไม่อยากทิ้งการปลูกมันที่มีความชำนาญมาแต่ดั้งแต่เดิม จึงเลือกที่จะปลูกมันเทศ แต่ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยปลูกมันเทศพันธุ์ไทย เปลี่ยนมาปลูกเป็นมันเทศสายพันธุ์ญี่ปุ่นแทน ด้วยมองเห็นว่าตลาดในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจในการบริโภคมันหวานญี่ปุ่นกันเป็นจำนวนมาก จึงคิดว่าตลาดของมันหวานญี่ปุ่นยังไปได้อีกไกล เพราะนอกจากรสชาติที่หวานมันของมันเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังตอบโจทย์ในแง่ของคนรักสุขภาพ หรือคนที่กำลังลดน้ำหนักอีกด้วย

เข้าไร่แต่เช้า ไปตัดยอดมันไว้ปลูกกัน

โดยสายพันธุ์ที่ทางสวนเลือกปลูกเป็นสายพันธุ์การค้าก็คือมันหวานญี่ปุ่นสายพันธุ์ “คุริ โคกาเนะ” ที่นับเป็นมันหวานญี่ปุ่นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ใช้เวลาปลูกเพียง 2 เดือนครึ่งสามารถเก็บขายได้ เมื่อเปรียบเทียบกับมันเทศของไทยแล้วที่ต้องใช้เวลาในการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และนอกจากการปลูกดูแลที่ง่ายแล้ว เรื่องของรสชาติก็ไม่เป็นสองรองมันหวานญี่ปุ่นสายพันธุ์ไหนๆ หากท่านใดที่เคยได้ลิ้มลองก็จะรู้ซึ้งถึงรสชาติความอร่อยเป็นอย่างดี แต่ถ้าท่านไหนที่ยังไม่เคยได้ลิ้มลอง ก็ให้นึกถึงมันเทศที่สุกมีสีเหลืองสวย รสชาติหวานฉ่ำ ตอนเคี้ยวให้ความรู้สึกเหนียวหนึบ “คุริ โคากาเนะ” จึงเป็นมันหวานญี่ปุ่นอีก 1 สายพันธุ์ ที่ครองใจใครหลายคนได้ไม่ยาก

ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ เจ้าของสวนยิ้มออก 

“คุริ โคกาเนะ” มันหวานญี่ปุ่น
ปลูก 4 ไร่ เก็บผลผลิตได้ไร่ละ 4 ตัน

ก่อนที่จะไปล้วงลึกถึงวิธีการปลูกมันหวานญี่ปุ่นยังไงให้ได้ผลผลิต 4 ตัน คุณเทอธิบายถึงความน่าสนใจของการปลูกมันหวาน “คุริ โคกาเนะ” ให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่เคยปลูกมันเทศของไทยมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกมันหวานญี่ปุ่น สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ

1. ราคาของมันหวานญี่ปุ่น ขายได้ราคาดีกว่ามันเทศของไทย

2. มันหวานญี่ปุ่นจะลงหัวไม่ลึก เท่ากับปลูกมันเทศทั่วไป ช่วยให้การเก็บผลผลิตได้ง่ายขึ้น

Advertisement

3. ผลผลิตต่อไร่ของมันหวานญี่ปุ่นได้มากกว่า เมื่อเทียบกันมันเทศที่เคยปลูกจะได้ผลผลิตอยู่ที่ 2-2.5 ตันต่อไร่ ส่วนมันหวานญี่ปุ่นสายพันธุ์คุริ โคกาเนะ ที่ปลูกอยู่จะได้ผลผลิตประมาณเกือบ 4 ตันต่อไร่ เนื่องจากมันหวานญี่ปุ่นมีหัวดกกว่า มีทั้งหัวใหญ่ หัวเล็ก ในขณะที่มันเทศดั้งเดิมจำนวนหัวต่อต้นน้อยกว่า แต่หัวค่อนข้างใหญ่ และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องการเก็บผลผลิตในไร่ มันเทศดั้งเดิมลงหัวลึกทำให้เก็บส่วนที่ฝังดินออกไม่หมด ในขณะที่มันหวานญี่ปุ่นลงหัวตื้นเก็บได้ง่ายกว่า

4. เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น มันเทศของไทยต้องใช้เวลาปลูก 3-4 เดือน ถึงได้เก็บผลผลิต แต่ถ้าเป็นมันเทศญี่ปุ่นใช้ระยะเวลาการปลูกเพียง 2 เดือนครึ่งเริ่มเก็บผลผลิตได้

Advertisement

มันหวานญี่ปุ่น คุริ โคกาเนะ เด่นที่เปลือกสีครีม

ข้อเสีย ของมันหวานญี่ปุ่นคือ หวงยอด คือต้นพันธุ์ที่จะไปใช้ปลูกในรอบถัดไปได้ยากกว่า เพราะถ้าหากให้ยอดดี ก็สามารถนำเอายอดที่ได้ไปปลูกเพิ่มได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อต้นพันธุ์เพิ่ม

โดยปัจจุบันที่สวนนายเท ปลูกมันหวานญี่ปุ่นบนพื้นที่กว่า 4 ไร่ และในอนาคตเตรียมขยายพื้นที่การปลูกมันหวานให้เต็มพื้นที่ ซึ่งนอกจากการเลือกปลูกสายพันธุ์คุริ โคกาเนะ แล้วยังกำลังมองหามันหวานญี่ปุ่นสายพันธุ์อื่นๆ เข้ามาปลูกเพิ่มด้วย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยสายพันธุ์มันหวานอื่นๆ ที่มองไว้ ได้แก่ ม่วงโอกินาว่า เบนิฮารุกะ และอันโนอิโมะ

บริการเผามันให้ฟรีหน้าสวน

และมาถึงในส่วนของขั้นตอนการปลูก คุณเท อธิบายว่า จุดเด่นของมันหวานคุริ โคกาเนะ คือให้ผลผลิตเยอะ ดูแลง่าย ระยะลงหัวตื้น ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

การเตรียมดิน เริ่มจากการไถกลบวัชพืช ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แต่ถ้าให้ดีหากมีเวลาแนะนำให้ตากดินทิ้งไว้สัก 1 เดือน หลังจากนั้นทำการไถยกร่อง แล้วนำยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 15 เซนติเมตร

เนื้อข้างในเมื่อสุกมีสีเหลืองสวย เหนียวหนึบ ไม่มีเสี้ยน

จากนั้นดูแลรดน้ำทุกวันเช้า-เย็น หลังจากนั้น 20 วัน ต้นเริ่มแข็งแรง เริ่มติดยอด เริ่มใส่ปุ๋ยรอบแรก เพื่อให้ต้นไม่น็อกปุ๋ย โดยปกติจะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ตามความสะดวกของแต่ละช่วง ใส่ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวที่สวนจะใส่ปุ๋ยเพียงรอบเดียว เพราะว่าการเตรียมดินของพื้นที่ตรงนี้เป็นดินใหม่ เริ่มปลูกครั้งแรก จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเยอะ เท่ากับว่ารอบแรกมีต้นทุนที่ต่ำอยู่

ป้ายฟาร์มภาษาญี่ปุ่น เข้ากับบรรยากาศ ปลูกมันหวานญี่ปุ่น

ซึ่งในรอบการผลิตครั้งถัดไป คุณเท อธิบายเพิ่มเติมว่า ทางสวนวางแผนไว้ว่าจะทำการปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด ซึ่งในตอนนี้ได้ดำเนินการทำแปลงทดลองปลูกมันหวานญี่ปุ่นแบบอินทรีย์แล้วจำนวน 1 ไร่ เน้นใช้ปุ๋ยคอกในการบำรุง และตั้งใจไว้ว่าหากแปลงทดลองปลูกแบบอินทรีย์จำนวน 1 ไร่นี้ประสบความสำเร็จ ก็จะนำร่องเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกมันหวานแบบอินทรีย์ทั้งหมด พร้อมกับเผยแพร่อองค์ความรู้ และเดินทางไปพร้อมๆ กัน

เปิดขายผลผลิตหน้าสวน ราคาเป็นกันเอง

ระบบน้ำ มันหวานญี่ปุ่นเป็นพืชที่ใช้น้ำไม่เยอะ แต่ขอให้มีตลอด ที่สวนจึงเลือกใช้ระบบสปริงเกลอร์ในการรดน้ำ โดยปริมาณการรดน้ำให้ดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก หากช่วงไหนที่มีอากาศร้อนจัด จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน แต่ถ้าช่วงไหนอากาศกำลังพอดีให้รดน้ำเหลือวันเว้นวัน หรือถ้าเป็นในช่วงฤดูฝนก็สามารถทิ้งช่วงรดน้ำได้นานหลายวันได้

กำลังทยอยคัดเลือกของส่งลูกค้า

และนอกจากการดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยแล้ว เรื่องของโรคแมลงกับการปลูกมันเทศถือว่าเป็นของคู่กัน โดยที่สวนก็จะเลือกใช้วิธีการให้ธรรมชาติกำจัดธรรมชาติกันเอง คือการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพึงพอใจ ผลผลิตยังไม่เสียหายจากแมลงศัตรูมันเทศ และในอนาคตจะทดลองนำเชื้อราบิวเวอเรีย กับเชื้อราเมตตาไรเซียม ที่ได้ทดลองกับผักที่ปลูกไว้ในสวนใช้แล้วได้ผลดี มาทดลองใช้ในแปลงมันหวานญี่ปุ่นต่อไป

ส่งผลผลิตให้ลูกค้าทางออนไลน์ พร้อมกับแจ้งระยะเวลาในการทานให้อร่อย

ถัดมาคือส่วนของการกำจัดวัชพืชถือเป็นอีกเรื่องสำคัญและต้องทำเป็นประจำอย่าให้ขาด ที่สวนจะไม่เลือกใช้วิธีใช้ยาฆ่าหญ้าในการกำจัดวัชพืช แต่จะเลือกใช้วิธีปล่อยให้วัชพืชขึ้นเบียดกันเอง หากวัชพืชประเภทไหนที่สู้ไม่ได้ก็จะตายไปเอง แล้วจึงค่อยมาถอนวัชพืชส่วนที่เหลือทิ้งทีหลัง เพราะหากไม่กำจัดปล่อยให้วัชพืชขึ้นเยอะก็จะส่งผลกับขนาดหัวของมัน และเป็นแหล่งสะสมแมลงศัตรูพืชอีกด้วย

นายอำเภอปราณบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนนายเท

เพิ่มความหวานด้วยการบ่ม

เจ้าของเล่าให้ฟังว่า เกษตรกรญี่ปุ่นคิดค้นวิธีการเพิ่มความหวานให้มันหวานโดยหลังเก็บเกี่ยวจะนำมันไปบ่มในห้องเย็นเป็นเวลานานถึง 30 วัน ก่อนจำหน่าย ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้มันมีรสชาติหวานข้นจากการที่แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่ในปัจจุบันที่สวนยังไม่มีเงินทุนสำหรับการทำห้องเย็น จึงอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน และการช่างสังเกตว่าก่อนที่มันหวานญี่ปุ่นจะมาถึงประเทศไทยต้องใช้เวลาในการขนส่งเป็นนานหลายวัน ตรงนี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มันหวานญี่ปุ่นมีความหวานขึ้นเมื่อมาถึงเมืองไทย ประกอบกับการหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต ทางสวนจึงได้ทดลองเก็บมันมาบ่มพักไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เน้นไม่ให้โดนแดด แต่ในขั้นตอนก่อนนำเข้าห้องบ่มจะต้องมีการจัดการกับหัวมันให้ดีก่อน คือมีการตัดแต่งให้สวยงาม และตรวจเช็กแมลงก่อนนำเข้าห้องบ่ม โดยปัจจุบันที่สวนจะใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 7 วัน ก่อนจะนำมาจำหน่าย และในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะลงทุนทำห้องเย็นเพื่อให้รสชาติมันหวานออกมาดีที่สุด

เกษตรอำเภอปราณบุรี ร่วมงานเปิดสวนมันหวานญี่ปุ่น ณ สวนนายเท เขากะโหลก ปากน้ำปราณ

“วิธีการบ่มมันหวานในห้องที่มีอุณหภูมิปกตินี้ผมไปหาข้อมูลมาเอง แล้วก็ลองทำไปเรื่อยๆ ว่าได้ผลไหม เดิมทีมันหวานญี่ปุ่นมีมานานแล้วแต่ว่าไม่หวาน ปัญหาคือจะทำยังไงให้มันหวาน เลยไปหาวิธีและสันนิษฐานว่า มันญี่ปุ่นกว่าจะเดินทางมาถึงเรา ต้องใช้เวลาข้ามน้ำข้ามทะเลมาก็นาน เราก็เลยลองมาบ่มไว้ 3 วัน แล้วลองทานรสชาติก็ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุด จากนั้นเราก็เลยบ่มเพิ่มขึ้นมาเป็น 7 วัน มันก็มีรสชาติหวานขึ้นอีก แล้วจากนั้นก็เพิ่มระยะเวลาในการบ่มเพิ่มขึ้นเป็น 1 เดือน ก็ได้มันหวานที่รสชาติดีมากๆ ออกมาครับ”

ร่วมกิจกรรมขุดมันหวานญี่ปุ่นที่สวนนายเท 

เน้นทำการตลาดขายออนไลน์
พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“การตลาดตอนนี้เน้นขายออนไลน์มีออร์เดอร์สั่งซื้อเข้ามาทุกวันเฉลี่ยวันละ 10-20 กิโลกรัม และอีกส่วนเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เน้นให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตเกษตรกรพร้อมขุดมันกลับบ้านไปเผาเอง โดยได้โมเดลการทำตลาดมาจากการที่ได้เห็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมสวนเก็บดอกไม้บ้าง เก็บผลไม้บ้าง โดยเฉพาะการเปิดสวนให้เก็บสตรอเบอร์รี่กลับบ้าน ที่สวนจึงได้นำเอาแนวคิดตรงนี้มาประยุกต์เปลี่ยนจากการเก็บสตรอเบอร์รี่เป็นการขุดมันแทน และถ้าท่านใดอยากให้เราเผามันให้ทานสดๆ หน้าสวนเราก็มีบริการเผาให้เช่นกัน โดยราคาที่ขายหน้าสวนตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท และในอนาคตวางแผนการตลาดออกอีเวนต์ให้ได้หลายๆ ที่เพื่อเปิดตลาดทำให้คนรู้จักสวนเรามากยิ่งขึ้น และต้องการให้ทุกคนรู้ว่าที่ประจวบฯ ก็มีมันหวานญี่ปุ่นรสชาติดีๆ อยู่เหมือนกัน” คุณเทวินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

อีกหนึ่งกิจกรรมวันหยุดที่น่าสนใจสำหรับทุกเพศ ทุกวัย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 083-012-7348 หรือติดต่อได่ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สวนนายเท มันหวานญี่ปุ่น ปากน้ำปราณ