ปลูกองุ่นนิ้วมือแม่มด ได้ราคาดี กิโลละครึ่งพัน คืนทุนเร็ว

องุ่น ปลูกมานานมากแล้วในเมืองไทย มีทั้งสีเขียวและสีดำ มีเมล็ดและไร้เมล็ด แต่ในที่นี้มีองุ่นเพิ่มความแปลกอีกสายพันธุ์หนึ่งเรียกว่า องุ่นนิ้วมือ หรือองุ่นนิ้วมือแม่มด องุ่นนิ้วมือนางฟ้า องุ่นเล็บมือนางหลากหลายชื่อที่เรียกต่างกันไป แต่มีลักษณะที่ต่างกันคือความยาวของผลยาวกว่าผลองุ่นสายพันธุ์ปกติทั่วไป

ในสมัยก่อนจะปลูกองุ่นได้ในแถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม แต่เดี๋ยวนี้ปลูกได้เกือบทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบเหนือและอีสาน ก็เริ่มนิยมที่จะปลูกแล้ว นอกจากเลือกสายพันธุ์ที่จะปลูกแล้วก็ยังต้องมีการปรับปรุงดิน ปรับสภาพดินให้เหมาะสม การเกษตรปัจจุบันมีเทคนิคมากมายที่จะทำให้ปลูกได้ดี โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน

คุณนงนุช ปลื้มอุดม กับพวงองุ่นนิ้วมือแม่มด ภายในสวนของเธอ

องุ่นสายพันธุ์นิ้วมือแม่มด

องุ่นสายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ตลาดกำลังต้องการ รสชาติหวาน หอม กรอบ ให้ผลผลิตสูง มีความเหมาะสมและการปรับสภาพสายพันธุ์ให้เข้ากับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ สร้างตาดอกได้ดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้น ทั้งนี้และทั้งนั้นปลูกโดยการใช้ต้นตอสายพันธุ์องุ่นป่าที่ขึ้นในบ้านเรา นำมาเป็นต้นตอทำให้การนำสายพันธุต่างประเทศมาปลูกได้ค่อนข้างดี เช่น องุ่นนิ้วมือแม่มดเป็นสายพันธุ์จากแหล่งที่อากาศเย็นกลับปลูกได้ดีในเมืองไทย โดยเฉพาะที่สวนณัฐธนันได้ทดลองปลูกและทำเงินให้แก่สวนมาแล้ว

พวงองุ่นนิ้วแม่มดลักษณะสายพันธุ์ก้นจะบุ๋ม

ปลูกองุ่นนิ้วมือแม่มดสร้างรายได้ดี

แหล่งที่นำมาปลูกเป็นต้นแบบและขายได้แล้วนั้นคือ สวนณัฐธนัน โดย คุณนงนุช ปลื้มอุดม อายุ 42 ปี หญิงแกร่งคนนี้แห่งจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเดิมก็ได้ปลูกองุ่นสายพันธุ์อื่นได้ดีอยู่แล้ว

“ที่สวนปลูกหลายสิบสายพันธุ์ค่ะ ยิ่งถ้ามีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาก็จะนำมาทดลองปลูกที่สวนถ้าได้ผลดีก็จะเผยแพร่สายพันธุ์ แต่ที่ดีใจที่สุดคือสายพันธุ์นิ้วมือแม่มดนี่แหละค่ะ เพราะทุกคนเชื่อว่าองุ่นพันธุ์นี้ต้องปลูกแหล่งที่มีอากาศเย็นเท่านั้น ที่สวนปลูกเพื่อขายผลผลิตและยังขายต้นพันธุ์อีกด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สั่งซื้อมาจากทางเหนือและทางอีสาน”

สีม่วงเข้ม ผลจะยาว ไม่มีเมล็ด รสชาติหวานกรอบ

เพราะว่าสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นคือความยาวของผลองุ่นที่ยาวเกือบ 2 นิ้ว ไร้เมล็ดและมีสีเข้มเกือบดำที่เป็นจุดขายที่ดี เพราะราคาที่นำเข้าผลองุ่นจากต่างประเทศก็สูงอยู่แล้ว จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรชาวไทยเรามากเพราะมีข้อแตกต่างที่ดีกว่า โดยเฉพาะความยาวของผลองุ่น และลักษณะก้นจะบุ๋ม ไม่มีเมล็ด รสชาติหวานอมเปรี้ยวแค่นิดเดียวสักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้องุ่นพันธุ์นี้ถึงได้เป็นที่ต้องการของตลาด ความเด่นของรูปทรง สีสัน รสชาติ ความหอม และความกรอบ เก็บได้นาน จึงเป็นองุ่นที่น่าลงทุนปลูกเพราะราคาดีมาก จุดคุ้มทุนเร็ว

ปัจจุบันคนปลูกองุ่นสายพันธุ์นี้ยังมีน้อย แต่ความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ไร้เมล็ด การปลูกองุ่นทำไมถึงปลูกได้เกือบทุกสายพันธุ์แม้กระทั่งพันธุ์มาจากแหล่งที่มีอากาศหนาว ส่วนหนึ่งก็ปลูกอยู่บนต้นตอพันธุ์องุ่นพื้นเมืองหรือองุ่นป่า และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์องุ่นที่อยู่บนต้นตอองุ่นสายพันธุ์องุ่นป่า ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้องุ่นสายพันธุ์ใหม่ต้องปรับตัวให้ได้

พวงองุ่นนิ้วแม่มดที่ปลูกได้ในบ้านเรา

ใช้พื้นที่น้อย ทำเงินได้

ปลูกองุ่นใช้พื้นน้อยก็ทำเงินได้ เพราะว่าองุ่นเป็นไม้เถาเลื้อยจะต้องทำค้าง ส่วนมากนิยมทำค้างแบบแนวนอนและมีการตัดแต่งกิ่ง เพราะเราจะใช้ความยาวของเถาเลื้อยไม่เกิน 2.5 เมตร เพื่อให้ลำต้นส่งอาหารมาเลี้ยงส่วนที่ไกลที่สุดได้ดี ไม่ควรจะปล่อยเถาเลื้อยยาวกว่านี้ เพราะว่าความดกขององุ่นถ้าปล่อยให้ยาวกว่านี้เกรงว่าลำต้นจะส่งอาหารไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ใน 1 ต้นให้ผลผลิต ในปีที่ 2 ขึ้นไปเฉลี่ย 15-20 กิโลกรัมต่อต้น ตัวอย่างเช่น ขนาดพื้นที่ปลูก ต่ำสุดเพียง 3×20 เมตรก็สามารถปลูกได้ 10 ต้น ก็ให้ผลผลิตที่คุ้มค่า

ซึ่งการปลูกองุ่นมีสองอย่าง ปลูกในที่โล่งแจ้งและปลูกในโรงเรือนแบบปิด ข้อที่ได้ผลในเรื่องของการปลอดสารเคมีก็ต้องเลือกปลูกแบบโรงเรือนดีกว่า แต่จะต้องมีการเพิ่มต้นทุนคือเรื่องของโรงเรือน  การปลูกในโรงเรือนนั้นใช้พื้นที่น้อยแต่ก็คุ้มค่า ผู้ที่มีพื้นที่น้อยก็ปลูกได้ ปลูกเป็นการค้าหรือปลูกเป็นซุ้มโชว์เป็นมุมถ่ายรูปสวยงามตามร้านกาแฟและร้านอาหาร เป็นจุดดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี

คุณนงนุช ปลื้มอุดม กับพวงองุ่นภายในสวนที่น่าภูมิใจ

ระยะเวลาปลูก

องุ่นเป็นไม้เถาเลื้อยที่ให้ผลผลิตเร็ว 8 เดือนก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่จะถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ 3-4 ขึ้นไปการให้ผลผลิตขององุ่นแล้วแต่เรากำหนด เพราะว่าองุ่นนั้นอยู่ที่เรากำหนดตัดแต่ง จะมีช่วงของการสะสมอาหาร ส่วนใหญ่จะงดการบังคับให้ออกในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะเริ่มปล่อยให้ต้นองุ่นแตกใบอ่อนถือว่าเป็นช่วงสะสมอาหาร องุ่นจะแตกกิ่งก้านเจริญเติบโตของลำต้นและใบ

การปลูกในโรงเรือนเป็นการลงทุนคุ้มค่าในระยะยาว เพราะว่าการปลูกองุ่นในเมืองไทยที่ปัจจุบันนี้ปลูกได้ทุกที่และแทบทุกจังหวัดที่นำหลายสายพันธุ์มาปลูกและสามารถเอาชนะธรรมชาติของการปลูกองุ่นไปได้ ที่มีเคล็ดลับเพียงเรื่องของการปรับปรุงดินและการตัดแต่ง การใช้ต้นตอนองุ่นพื้นเมือง สิ่งที่แตกต่างคือดินฟ้าอากาศเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เพราะการปรับตัวของสายพันธุ์องุ่นที่อยู่บนต้นตอของสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งทำให้คนไทยมีโอกาสได้รับประทานองุ่นสดๆ จากสวนได้แล้ว

ภายในสวนองุ่นนิ้วมือแม่มดที่ดกมาก ผลอ่อนจะมีสีเขียว

การลงทุนก็จะมีส่วนของโรงเรือนที่เพิ่มขึ้นมา แต่ก็มีจุดคุ้มทุนระยะสั้น ถือว่าถ้าเกษตรกรสนใจและมุ่งมั่นแล้วสามารถทำได้และมีจุดคุ้มทุนเร็วเพียงปีที่ 3-4 ก็คุ้มทุนแล้ว เพราะราคาขององุ่นบางสายพันธุ์ ราคาความยากง่ายของสายพันธุ์และรสชาติ สำหรับองุ่นพันธุ์นิ้วมือแม่มดยังอยู่ที่ราคาเริ่มต้น 450 บาทจากสวน นอกจากนี้ ยังเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพทางการตลาดเนื่องจากราคาและความต้องการของตลาดมีสูง และสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย

ผลที่แก่จัดจะมีสีม่วงเข้มพร้อมเก็บเกี่ยว

การตัดแต่งกิ่ง

องุ่น โดยทั่วไปจะออกดอกและติดผลบนกิ่งใหม่ วิธีการทำให้องุ่นให้ผลผลิตคือ เมื่อกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลแล้ว จะใช้วิธีการตัดแต่ง เพื่อให้แตกออกมาเป็นยอดใหม่ และออกดอกให้ผลผลิตเป็นพวงองุ่นต่อไป การปลูกองุ่นในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการจัดทรงต้นและทำค้างแบบแนวนอน นอกจากลดต้นทุนแล้วยังทำให้ปลูกได้ระยะไม่ต้องห่างมากนัก ระยะปลูก 2×2 เมตร

การที่องุ่นจะให้ผลผลิตนั้นต้องมีการตัดแต่งกิ่ง ฉะนั้นการที่เราจะต้องการผลองุ่นเมื่อไหร่เราจะเป็นผู้กำหนดได้ เช่น ต้องการให้องุ่นออกในช่วงเดือนเมษายน ก็จะนับไป 120 วันก่อนเมษายน คือการตัดแต่งกิ่งจะอยู่ที่เดือนธันวาคม ก่อนเดือนธันวาคมก็จะเป็นการที่ปล่อยให้ต้นองุ่นแตกกิ่งก้านหรือเรียกว่าช่วงสะสมอาหาร ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่องุ่นจะแตกยอดอ่อนและจะปกคลุมไปด้วยกิ่งและใบองุ่น หลังจากนั้นก็จะตัดแต่งกิ่งโดยรูดใบออกและตัดกิ่งให้สั้น ให้นับไปตาดอกที่ 1-5 หรือ 1-7 ถ้าไว้กิ่งให้ยาวกว่านี้จะทำให้อาหารส่งไปเลี้ยงตาดอกไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ชาวสวนจะบังคับและตัดแต่งกิ่งให้องุ่นออกในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการและได้ราคาดี

ระยะติดผลอ่อนหลังจากตัดแต่งกิ่ง

โรคขององุ่น

ต้องระวังเรื่องน้ำฝนกับน้ำค้าง หน้าฝนมีฝนตกชุกก็จะทำความเสียหายแก่ช่อดอก ทำให้ดอกร่วง ผลแตก และผลผลิตไม่มีคุณภาพ โรคองุ่นที่พบทั่วไป ได้แก่ โรคราน้ำค้าง โรคแอนแทรกโนส โรคเถาแห้ง โรคผลเน่า โรคราแป้ง และโรคราสนิม เป็นต้น ซึ่งโรคที่เป็นปัญหาที่รุนแรงคือ แอนแทรกโนสและราน้ำค้าง สามารถเกิดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อน เช่น ยอดอ่อน กิ่งอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผล โดยการระบาดของโรคนี้มีน้ำฝนเป็นปัจจัยที่สำคัญ ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเกษตรในการป้องกันกำจัดศัตรูองุ่นบ้างในระยะแรก

ผลแก่จัดจะเริ่มให้สีดำคล้ำ รสชาติจะหวานกรอบ

แต่ปัจจุบันนี้ การแก้ปัญหาเรื่องการลดการใช้สารเคมีได้ดีโดยการปลูกในโรงเรือนที่ปิดมิดชิดและคลุมโรงเรือนด้วยพลาสติกใส กลับทำให้การปลูกองุ่นได้ค่อนข้างดีเกือบทุกที่ในประเทศไทยเรา โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ทำให้ตลาดมีการบริโภคองุ่นที่ปลูกในบ้านเรามากขึ้น มั่นใจในผลผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์จากเมืองหนาวทั้งหลาย ได้มาสยบในการปลูกในโรงเรือนเมืองไทย

ระยะผลอ่อนจะมีสีเขียวเรียวยาว

อย่างไรก็ตาม การใช้หลังคาพลาสติกมีจุดอ่อนคือแสงแดดน้อยลง และอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส จึงต้องมีการเลือกใช้รูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากนี้ การใช้โรงเรือนจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงเรือนหลังคาพลาสติกมีหลายแบบ เกษตรกรสามารถเลือกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมกับตนเอง โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ วัตถุประสงค์การใช้ และทุนทรัพย์

องุ่นนิ้วมือแม่มด ลักษณะเด่นคือความยาวที่ยาวกว่าองุ่นทั่วไป ก้นจะบุ๋มเข้าไป ไร้เมล็ด เป็นองุ่นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศออสเตรเลีย ความแปลก ความหวาน ความกรอบ แต่ที่น่าตื่นเต้นคือปลูกได้ในบ้านเรา แต่ยังไม่แพร่หลาย นอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ราคายังสูงอีกด้วย จะอยู่ที่ 450 บาทขึ้นไป ซึ่งทำเงินให้ที่สวนหลักแสน ถ้าขายในห้างก็จะอยู่ที่เกือบพันบาท ราคาตลาดทั่วไปเกรดดีก็ 500 กว่าบาทขึ้นไป คุ้มค่ากับการลงทุน เหนื่อยเท่ากัน แต่อยู่ที่การเลือกสายพันธุ์ องุ่นใครๆ ก็ปลูกได้ แต่ปลูกอย่างไรให้ใช้สารเคมีน้อยที่สุด นี่แหละ เป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีพในปัจจุบันที่ล้อมรอบไปด้วยมลพิษ เกษตรปัจจุบันนี้พยายามที่จะหลีกเลี่ยงใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ใครทำได้ดีก็จะได้ราคาที่คุ้มค่าเหนื่อย

เริ่มเข้าสีก็จะแทรกด้วยสีม่วงแดง

การเก็บเกี่ยว

องุ่นปีแรกเริ่มให้ผลผลิตแล้ว แต่ไม่มาก ในปีที่ 2 ขึ้นไปจะให้ผลผลิตมากขึ้น ส่วนใหญ่ชาวสวนจะบังคับให้องุ่นออกในช่วงปีใหม่ถึงตรุษจีน หรือฤดูท่องเที่ยว ส่วนอีกรอบหนึ่งก็จะเป็นช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม หลังจากนั้นเตรียมจะพักต้นก่อนที่จะเข้าหน้าฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็จะเริ่มรดน้ำบำรุงดิน หลังจากนั้นก็จะตัดแต่งเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ในเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม จากระยะตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลา 120 วัน

ผลแก่จัดจะมีสีม่วงเข้มเกือบดำ

การให้ปุ๋ย

ให้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมี ที่สวนจะใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง ส่วนปุ๋ยสูตรหรือปุ๋ยเคมีใช้ทุกๆ 10 วัน ระยะเลี้ยงต้น ใช้สูตรเสมอ 16-16-16 + 25-7-7 ช่วงก่อนตัดแต่งกิ่งหรืออายุ 8 เดือนขึ้นไป เดือนละ 4 ครั้ง หรือทุกๆ 10 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24

สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สวนณัฐธนัน องุ่นไร้เมล็ด โดย คุณนงนุช ปลื้มอุดม เฟซบุ๊ก Nongnuch Pueamudom

…………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2566