ผู้เขียน | กรรณิกา เพชรแก้ว |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่าว่าแต่มนุษย์มีปัญหาเรื่องเหยียดสีผิว ตอนนี้มันลามไปที่ผึ้งของเกษตรกรเลี้ยงผึ้งที่ออสเตรียแล้วนะ
ออสเตรียเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรป ชื่อคล้ายออสเตรเลียแต่ห่างกันคนละซีกโลก อย่าไปจำผิดนะ
ในรัฐคารินเทียของออสเตรีย ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งมาต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน มีผึ้งพันธุ์คาร์นิโอลันที่เลี้ยงสืบเนื่องกันมายาวนาน เป็นผึ้งที่กฎหมายระบุว่าเป็นผึ้งท้องถิ่นมีลักษณะพิเศษคือมีสีอ่อน ตอนนี้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งหลายคนเจอปัญหาว่า พอเจ้าหน้าที่มาตรวจ จะจี้ไชว่าผึ้งที่ตัวเองเลี้ยงนั้น สีเข้มเกินไป ควรจะอ่อนลงกว่านี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทำลาย เพื่อป้องกันการปะปนของผึ้งต่างถิ่น
เกษตรกรก็งงงวยว่า ผึ้งคาร์นิโอลันที่พวกตัวเองเลี้ยงกันมาแต่เก่าก่อน ทำไมตอนนี้มันกลายเป็นจะไม่ใช่ไปเสียได้
ผึ้งคาร์นิโอลัน มีชื่อเสียงว่าเป็นผึ้งขยันขันแข็ง สุขภาพดี และเชื่องมากจนไม่จำเป็นต้องสวมชุดหรือผ้าคลุมหน้าเพื่อป้องกันผึ้งต่อย
เจ้าหน้าที่ของรัฐจะแวะเวียนมาตรวจสุขภาพและคุณภาพการเลี้ยงผึ้งต่อเนื่อง เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตน้ำผึ้งที่จะไปถึงผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ
แต่พักหลังนี่ผู้ตรวจสอบไม่ค่อยสนใจพฤติกรรมของผึ้งหรือคุณภาพการเลี้ยงเท่ากับการตั้งข้อสงสัยเรื่องสี
“เขาว่าผึ้งผมสีเข้มเกินไป” เกษตรกรคนหนึ่งบ่น “เขาเขียนในรายงานว่าผึ้งของผมมีผิวสีน้ำตาลออกส้ม” แล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เกษตรกรคนนี้จะต้องเปลี่ยนสีผิวของผึ้งจากสีเทาเข้มเป็นสีเทาอ่อน
ขณะที่การใช้สารเคมี การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ มลพิษ กำลังส่งผลทางลบแก่การเลี้ยงผึ้งทั่วโลก มีปัญหาให้ต้องแก้ไข ต้องป้องกันความเป็นอยู่ของผึ้งมากขึ้นในแต่ละวัน
แต่รัฐคารินเทียซึ่งเป็นชนบทพรมแดนติดกับสโลวีเนียและอิตาลี จะสนใจเพียงแค่สุขภาพของผึ้ง หรือสวนแอปเปิ้ลและต้นเกาลัดที่ผึ้งอาศัยผสมเกสรเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องพยายามควบคุมประชากรผึ้งคาร์นิโอลันที่มีวงแหวนท้องสีเทาอ่อนเป็นเอกลักษณ์ เป็นสายพันธุ์เดียวที่กฎหมายของรัฐนี้อนุญาตให้เลี้ยงในพื้นที่
ผึ้งคาร์นิโอลันปรับตัวได้ดีในภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง แข็งแรง และอยู่รอดในฤดูหนาวที่มีหิมะตกและสภาพอากาศแปรปรวน ปกป้องรังของพวกมันอย่างแข็งขันจากศัตรูทุกประเภท แต่เชื่องเมื่ออยู่กับผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์
กฎหมายของรัฐคารินเทียที่จะกำจัดลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ออกจากกลุ่มผึ้งท้องถิ่นจึงมีผู้สนับสนุนมากมาย รัฐสตีเรียที่อยู่ใกล้เคียง หรือประเทศสโลวีเนียก็มีกฎหมายแบบนี้ ต่างเพื่อป้องกันเกษตรกรรมเลี้ยงผึ้งของตนเอง
แต่พวกไม่เห็นด้วยก็มี เขาบอกนี่มันเป็นนิสัยดั้งเดิมของพวกนาซี พวกเหยียดผิวเหยียดเลือด
คุณ Gerhard Klinger หัวหน้าสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งในหุบเขา Lavanttal ตวาดแว้ดใส่นโยบายนี้ว่า “มันเป็นเผด็จการแบ่งแยกเชื้อชาติ นาซียังไงยังงั้น”
เขาบอกว่าขณะที่เจ้าหน้าที่หมกมุ่นอยู่กับการรักษาความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมของผึ้ง ผึ้งมันไม่รู้เรื่องด้วย มันไม่แยแสกับสีของคู่ผสมพันธุ์ มันไม่รู้ว่าเจ้าผึ้งที่กำลังจะผสมพันธุ์กันนี้มีเลือดแปลกปลอม ดังนั้น ต้องเชิดใส่อยู่ให้ไกล
สมัยเมื่อนาซียังเรืองอำนาจว่ากันว่านาซีสั่งให้คนเลี้ยงผึ้งนำนางพญาผึ้งไปที่สถานีผสมพันธุ์เพื่อให้ผสมแต่เฉพาะผึ้งสายเลือดคาร์นิโอลัน เพื่อควบคุมความบริสุทธิ์ของพันธุ์ผึ้ง
แต่ปัจจุบันใครจะไปห้ามการผสมพันธุ์ของผึ้งในพื้นที่ได้ ยิ่งมีพื้นที่ติดประเทศใกล้เคียงก็ยิ่งต้องจิตตกระวังผึ้งบ้านใครบ้านมันกันใหญ่ การกลายสีของผึ้งที่มีถิ่นอาศัยใกล้กันอาจเป็นผลจากธรรมชาติ ตอนนี้ผึ้งราว 5 หมื่นตัว จากประมาณ 5 ร้อยล้านตัวในคารินเทีย ถูกระบุว่ามีสีเข้มเกินไป สีน้ำตาลเกินไป สีส้มเกินไป หรือเหลืองเกินกว่าที่จะเป็นคาร์นิโอลัน “แท้”
การเจือจางความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมของคาร์นิโอลันนี่ ทำให้ผู้คนกังวลว่ามันอาจพากันเปลี่ยนเป็นผึ้งที่ก้าวร้าวขึ้น และชีวิตของลูกหลานพวกเขาที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางผึ้งหลายร้อยล้านตัวจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างผู้เลี้ยงผึ้งด้วยกันเอง บางคนถึงกับไล่ตามเพื่อนพ้องที่เลี้ยงผึ้งผิดสีประหนึ่งไล่ล่าฆาตกร ถ่ายรูปรังผึ้งเป็นหลักฐานแจ้งความให้เจ้าหน้าที่สอบสวน ต่างฝ่ายต่างหวาดกลัวกัน ข่มขู่กัน โต้ตอบไปมา จนตอนนี้เกือบทุกรายปฏิเสธจะพูดเรื่องผึ้งของตัวเอง กลัวจะเป็นประเด็น นักการเมืองท้องถิ่นปฏิเสธจะพูดเรื่องผึ้งกลัวมีผลต่อคะแนนเสียง
ฝ่ายหนึ่งสงสัยว่าคนเลี้ยงผึ้งบางคนนำเข้าสายพันธุ์ย่อยอื่นเข้ามาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง แบบคนเห็นแก่ได้ แต่คนที่ถูกกล่าวหาก็ยืนยันว่าผึ้งของพวกเขาก็เป็นคาร์นิโอลันแท้ แค่บางตัวมีสีเพี้ยน
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสีเพียงอย่างเดียวไม่ใช่วิธีที่ระบุคาร์นิโอลัน มันต้องตรวจสอบภูมิหลังทางพันธุกรรมของแต่ละสีที่เปลี่ยนแปลงด้วย
เกษตรกรรายหนึ่งถูกสั่งให้กำจัดนางพญาผึ้งผิวเข้ม เพื่อจำกัดการผสมพันธุ์ใหม่ทั้งรัง เขาอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองกลางกรุงเวียนนา เขาชนะ ศาลเรียกวิธีการของรัฐว่า “ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง” เพราะอาศัยสีผึ้งอย่างเดียว
ตอนนี้รัฐยอมรับว่าสีผิวผึ้งไม่อาจเป็นปัจจัยเดียวได้อีกแล้ว จากนี้ไปหากมีการตรวจสอบรังผึ้ง ตัวอย่างผึ้งจะถูกส่งไปวิเคราะห์เพิ่มเติม ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบผึ้ง ปีก ความกว้างของวงท้อง และความยาวของขนตามลำตัว หากพบว่ามีลักษณะแตกต่างไปมากกว่า 2 ใน 50 จึงจะถูกจำกัดยกรัง
รัฐคารินเทียยังเตรียมจะแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดสายพันธุ์ย่อยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีบทลงโทษเข้มงวดขึ้น สำหรับผึ้งที่ไม่บริสุทธิ์
ค่าปรับสูงสุดสำหรับผู้ที่มีผึ้งพันธุ์ผสมจะเพิ่มเป็นเกือบ 3 แสนบาท จากเดิมประมาณ 2 แสนบาท บางฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องการเลี้ยงผึ้งพันธุ์บริสุทธิ์สนับสนุนให้มีโทษจำคุกด้วย ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ
สำหรับเมืองที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ผึ้งจะต้องเผชิญความเสี่ยงกับอันตรายที่พวกมันมองไม่เห็น เพราะเพียงแค่มีลมพัดผ่านเข้ามาและมีสิ่งปนเปื้อน เจ้าหน้าที่สามารถยึดและกำจัดยกรังได้ทันที
มันคือการสังหารฝูงผึ้งทั้งรัง ปกติแต่ละรังจะมีผึ้งเกือบแสนตัว
“ความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์ในประชากรมนุษย์เป็นปัญหาล้าหลังคลั่งชาติ ทำไมตอนนี้จะพาผึ้งล้าหลังคลั่งชาติไปด้วยล่ะ?” เกษตรกรเลี้ยงผึ้งคนหนึ่งโอดครวญ
แต่เพื่อความอยู่รอดของอาชีพ พวกเขาอาจไม่มีทางเลือก