กุ่ม หลายชื่อวิทย์-ชื่อวงศ์ หลงชื่อสามัญ ชื่อฉันท้องถิ่น

ชื่อวิทยาศาสตร์    Crateva adansonii DC.

ชื่อวงศ์               CAPPARACEAE, CAPPARIDACEAE

ชื่อสามัญ            Sacred barnar, Capertree, Temple plant.

ชื่ออื่นๆ              ก่าม กะงัน สะเบาถะงัน (อีสาน) เดิมถะงัน ทะงัน (เขมร)

หนูร้องเรียนให้ตัวเองเรื่อง ชื่อวิทย์ ชื่อวงศ์ ชื่อสามัญ และชื่อท้องถิ่น เพราะมีหลากหลายจนหนูสับสนไม่ทราบว่าจะตอบใครว่าอยู่ “กลุ่ม” ไหนดี หนูชื่อ “กุ่ม” แต่หนูรู้สึก “กลุ้ม” เมื่อถูกนักวิชาการจัดหนูอยู่ในกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แม้แต่ท้องถิ่นชาวบ้านยังแบ่งแยกหนูให้อยู่ใน “กุ่มน้ำ-กุ่มบก” อีก คิดดูไม่เห็นใจบ้าง สุดท้ายทุกคนที่ชอบหนูกันมากๆ คือ “กุ่มดอง” อยู่ริมน้ำหรือบนบกหนูก็ต้องอยู่กับ “ไหดองเกลือ” แม้จะชื่นชมว่ายอดอ่อนสวยช่อดอกน่ารัก แต่อ้างว่ามีสารพิษ คือ กรดไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic acid) ต้องทำให้สุกเพื่อกำจัดสารพิษ ในอดีตเรียกกันว่าต้องนำมาผ่าน “การประสะ” เสียก่อน แล้วจึงนำยอดอ่อนและดอกมาทำผักกุ่มดอง

เรื่องหลายชื่อวิทย์ ก็คือบ้างว่า กุ่มน้ำ คือ Crateva religiosa G. Forst. บ้างก็ว่า กุ่มน้ำใช้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Crateva nuvrvala Ham. แล้วยังมีกุ่มน้ำบางชนิดบางท้องถิ่นเรียก “ต้นอำเภอ” (Crateva macrocarpa) ส่วนกุ่มบก ก็ให้ชื่อพฤกษาศาสตร์ว่า Crateva erythrocarpa Gagnep. บ้างก็ว่า กุ่มบกคือ Crateva adansonii subsp. Trifoliata (Roxb.) Jacobs เห็นมั้ยคะว่าแค่ชื่อวิทย์ ก็น่าปวดหัวแค่ไหน ยังมีชื่อสามัญอีกชื่อที่หนูงงมากคือชื่อ Sacred garlic pear ยังดีนะที่มีชื่อร่วมเดียวกันคือ “Crateva” ยังไม่จบนะคะ เพราะว่าหนูมีชื่ออยู่ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2416 มีคำเกี่ยวกับกุ่มว่า คือต้นไม้อย่างหนึ่งดอกและใบกินได้ เปลือกใช้ทำยาได้ กุ่มน้ำขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ดอกกินได้ กุ่มบกขึ้นอยู่บนบกตามป่าดอน ใบกลม ลูกสุกกินได้ หนูมีต้นกำเนิดจากแดนไกลตะวันออกเฉียงใต้ แต่แปลกอีกที่มีชื่อในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” ส่วนชาวฮินดูจะเรียก “มารินา” และยังมีชื่อในพุทธประวัติด้วย เป็นต้นไม้ที่มีพฤกษเทวดาสิงสถิตอยู่ ยังมีชื่อเรียก วรโณ (วะระโน) กเรริ (กะเรริ) วรณ (วะระนะ) นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่หนูขอ “บ่น” ว่ากลุ้มใจจริง ชื่อจริงๆ คืออะไร

แปลกที่ชื่อวิทย์ชื่อวงศ์แล้วยังแปลกที่ชื่อสรรพนามท้องถิ่นอีก คือเรียกกันว่า “ผักกุ่ม” ก็ทำไมแปลกว่าเป็นผักที่กินสดๆ ไม่ได้ เมื่อดูต้นแล้วกลายเป็นไม้ใหญ่ยืนต้น จะเรียกว่า “ผักยืนต้น” ได้ไหม เพราะคุ้นชินแต่ผักบนร่องหรือในกระถาง หนูเองก็อึดอัดกับตัวเองชื่อ “กุ่ม” ฟังดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่ตัวจริงร่างสูงใหญ่ สูงตั้งแต่ 15-20 เมตร ผลัดใบ แตกกิ่งก้านโปร่ง แต่คดงอ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบสีน้ำตาลอ่อนมีรอยแตกตามขวางบ้าง มีรูระบายอากาศทั่วๆ ไป

กุ่มบกมีใบประกอบแบบนิ้วมือใบย่อย 3 ใบ ออกดอกเป็นแบบช่อกระจะตามบริเวณง่ามใบใกล้กับปลายยอด มีกลีบเลี้ยงรูปรี เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อน ออกดอกช่วงกุมภาพันธ์ ผลเป็นรูปไข่ ผลแก่เรียบสีน้ำตาล มีเมล็ดรูปเกือกม้าหรือรูปไต สำหรับกุ่มน้ำมีประมาณ 3 ชนิด แต่ก็ลักษณะคล้ายกัน เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก ออกใบอ่อนพร้อมดอกในฤดูร้อน ดอกสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เกสรสีม่วง ออกช่อตามปลายกิ่ง ดอกพร้อมกันทั้งต้น ผลรูปไข่สีเทา เปลือกเรียบแข็ง มีเมล็ดมาก ชอบขึ้นตามริมน้ำ พบมากทางภาคใต้ เช่น กระบี่ ชุมพร พังงา และระนอง ส่วนภาคกลางตามริมคลองหรือที่ราบลุ่ม ทั้งกุ่มบกและกุ่มน้ำถือเป็นผักพื้นบ้านเก่าแก่ที่ชาวไทยคุ้นเคย ใช้ประโยชน์ทั้งแปรรูปประกอบอาหาร เป็นสมุนไพรในตำรับยาไทย และเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติด้วย

สรรพคุณ เป็นทั้งอาหารและยา ใช้กุ่มเป็นประโยชน์เชิงยาสมุนไพรรักษาโรคทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบกเรียกว่า “กุ่มทั้งห้า” มีต้น ใบ ดอก ผล ราก ให้รสเผ็ดร้อน ใช้ได้รวมถึงแก่นและกระพี้ รากกุ่มบกช่วยแก้มานกษัยอันเกิดแต่กองลม เปลือกต้นมีรสร้อนช่วยคุมธาตุในกายและเป็นยาระงับประสาท ใบต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด ขับเหงื่อ กระพี้ช่วยให้ขี้หูแห้งออกมา ผลกุ่มใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหารเป็นยาระบาย แก่นช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้โรคนิ่ว ขับนิ่ว เปลือกและใบตำร่วมช่วยแก้โรคผิวหนัง ตำใบเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน ทาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นๆ ได้

เปลือกต้นนำมาใช้ลดพิษงูเมื่อถูกงูกัด ใบสดบดละเอียดผสมน้ำซาวข้าว พอกบริเวณผิวหนังที่บวมคันจากพยาธิตัวจี๊ดโดยพันผ้าทับไว้ 3 วัน สำหรับในด้านโภชนาการ ทั้งยอดอ่อนและดอกของผักกุ่มทั้ง 2 ชนิด ภูมิปัญญาดั้งเดิมใช้ประกอบตำรับยาโบราณ แก้ลม 12 จำพวก เช่น ตัวยาว่านน้ำ ตำรับยาอาบ ยาแก้ตะคริว ยาเจริญอาหาร ผลกุ่มบกขนาดเท่าลูกหมากนกชอบกิน แต่ชาวบ้านนิยมนำใบอ่อนและดอกมาดอง ซึ่งกรรมวิธีการดองของแต่ละภาคอาจจะแตกต่างกัน เช่น ทางภาคเหนือนำยอดกุ่มมาล้างสะอาดตากแดดในนิ่ม แล้วซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำ “น้ำข้าวมวก” หรือน้ำซาวข้าวใส่ข้าวสุกและเกลือเล็กน้อย ดองไว้ 2-3 วัน ก็มีรสเปรี้ยวสดแซ่บกินได้

ทางภาคใต้นิยมใช้กุ่มดองกินแกล้มขนมจีนน้ำยา บางท้องถิ่นจะดองพร้อมใบอ่อนและดอก แล้วนำไปปรุงเป็นแกงอ่อมคล้ายแกงขี้เหล็ก อาจจะนำมาต้มคั้นน้ำทิ้งลดความขมแล้วปรุงรสด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ ใส่น้ำปลาหรือเกลือหรือผสมน้ำข้าวเล็กน้อย ในภาคอีสาน เรียกว่า “ผักกาม” ใช้วิธีเก็บยอดใบอ่อนและดอกแช่น้ำข้ามคืน เปลี่ยนน้ำลดความขมเฝื่อน แล้วเปลี่ยนน้ำใหม่ดองด้วยเกลือธรรมดาอาจจะเร่งโดยใส่น้ำซาวข้าวหรือข้าวเหนียวเล็กน้อย ชิมน้ำพอจะมี “รสหวานเกลือ” ทิ้งไว้ 1-2 คืน มีรสเปรี้ยวหอมดอกกุ่ม นำกินเป็นผักแกล้มเจริญอาหาร

ในกรุงเทพฯ มีบึงกว้างใหญ่ แถวๆ ถนนเสรีไทยใกล้ถนนนวมินทร์ หรือหมู่บ้านสหกรณ์ มีคูคลองเชื่อมโยงมาก แต่ช่วงนี้น้ำแห้ง มีป่าละเมาะต้นไม้ริมน้ำเต็มบึง บรรยากาศเหมือนนอกเมืองอยู่ใกล้สำนักงาน “เขตบึงกุ่ม” มีคนคิดว่าคงจะมี “ต้นกุ่ม” รอบบึงได้ยินชื่อแล้วชวนไปเก็บกุ่มมาดองลงเรื่องในยูทูบ เดินทางไปถึง “บึงกุ่ม” เห็นเหลืองอร่ามเต็มบึงน้ำแห้งกลายเป็นดง “ดอกโสน” ไม่เจอ “ต้นกุ่ม” ป่านนี้ไม่รู้ว่าได้กิน “โสนดอง” หรือขนมดอกโสนกิน “แก้กลุ้ม” กันแล้วยัง