ถอดรหัสบ้านแม่วาก จัดการน้ำทำการเกษตรบนพื้นที่สูง

ชุมชนต้นแบบบ้านแม่วาก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการบริหารจัดการดีเลิศ ที่การันตีด้วยรางวัลเลิศรัฐ ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ถือเป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรทั้งหมด 327 คน 102 ครัวเรือน เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก มีพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,506.54 ไร่ แต่ประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างรุนแรง จนกระทั่ง ปี 2557 สวพส. โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ร่วมกับชุมชนบ้านแม่วาก และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร ได้จัดทำแผนชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทบทวนปัญหาความต้องการของชุมชน วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ และกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกัน พบว่า ชุมชนไม่มีแหล่งต้นน้ำของตนเอง ไม่สามารถปลูกพืชทางเลือกอื่นนอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงต้องการพัฒนาแหล่งน้ำบนพื้นที่ “สันดอยยาว” ในเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งชุมชนไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.)

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าดำเนินการตามความต้องการของชุมชนบ้านแม่วากมีการถอดบนเรียนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อวางแผนงานร่วมกับชุมชนในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความยั่งยืน พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกไม้ผลในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม การจัดทำแผนชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาสำคัญของชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความต้องการของชุมชนที่แท้จริง ประเมินศักยภาพของชุมชน โอกาส ภัยคุกคาม จุดแข็ง จุดอ่อน และข้อจำกัดต่างๆ

 

รวมทั้ง การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ในการสำรวจจัดทำฐานข้อมูลของชุมชน ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงของเกษตรกร จัดทำขอบเขตพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกิน (Zoning) ร่วมคิดวิเคราะห์ ร่วมจัดทำแผนบูรณาการ กำหนดเป้าหมาย แผนงาน โครงการ กิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งพบว่า ชุมชนให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นอันดับที่ 1 ชุมชนจะได้มีน้ำในการผลิตพืชทางเลือกในการทำอาชีพการเกษตรมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ประกอบด้วย 1. สร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี 2. ปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. สร้างพื้นที่สีเขียวในแปลงเกษตรและพื้นที่ป่าของชุมชน 4. สร้างป่าสร้างรายได้ 5. ลดปัญหาหมอกควัน

ความสำเร็จของบ้านแม่วาก เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมดำเนินงานทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ คือ การใช้แผนที่ในการวางแผนการพัฒนาร่วมกัน (one map) ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ร่วมตกลงวางแผนและตัดสินใจ ชุมชนรับทราบข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ลดความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน การพัฒนาผู้นำด้านทักษะและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชน การถอดบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่างๆ โดยชุมชนแม่วากได้รับการยกย่องว่าเป็น “หมู่บ้านเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ” ให้กับชุมชนรอบข้างเข้ามาเรียนรู้

ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่วากมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร กว่า 40 บ่อ ปริมาณน้ำทั้งหมด 5,780 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 624.42 ไร่ เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์ 66 รายจำนวน 72 แปลง และมีแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เกิดรูปแบบการดำเนินงานเป็น “แม่วากโมเดล” เพื่อดำเนินการต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทุกวันนี้บ้านแม่วากเกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์ การปลูกไม้ผลในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกไผ่ผสมผสาน และไม้มีค่ากว่า 58 ชนิด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชุมชนและความสมบูรณ์ของพื้นป่า