ผู้เขียน | นายภักดี ทิพย์ไกรลาศ |
---|---|
เผยแพร่ |
จังหวัดพังงา พัฒนาศักยภาพเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร มุ่งเป้าพัฒนามังคุดทิพย์พังงาสู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)
นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา มอบหมายให้กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต นำโดยนางสาววิไลวรรณ สีนา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดและเจ้าหน้าที่ ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนามังคุดทิพย์พังงาสู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” กิจกรรมพัฒนาสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์สู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และตรวจสอบย้อนกลับได้
ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ตามแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สวนดุสิต อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในพื้นที่จังหวัดพังงา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบงานไม้ผลระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ราย
นางสาววิไลวรรณ สีนา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2566 จังหวัดพังงาได้คัดเลือกมังคุดเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ โดยขับเคลื่อนภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เนื่องจากพื้นที่ปลูกมังคุดของจังหวัดพังงาเป็นพื้นที่ในเขตเหมืองแร่เก่า อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ มีสภาพอากาศที่เหมาะสม มีแหล่งน้ำเพียงพอ จึงทำให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ และมีความโดดเด่นที่ผิวผลมีสีน้ำตาลอมแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว จนได้ชื่อว่า “ทิพย์พังงา” ซึ่งหมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2567
และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดของจังหวัดพังงา จึงได้มีแนวความคิดในการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดและเจ้าหน้าที่ เรื่องการพัฒนามังคุดทิพย์พังงาสู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหัวข้อที่น่าสนใจ คือ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) และการพัฒนามังคุดทิพย์พังงาสู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ บรรยายโดยคุณภคมน มณีกรธรัช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดทาคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย และการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) อีกด้วย
คุณภคมน มณีกรธรัช หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่เฉพาะเจาะจงนั้น ฉะนั้น GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ซึ่งในอนาคตเราสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ GI ได้กับมังคุดที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดพังงา
ภายใต้ชื่อ “มังคุดทิพย์พังงา” ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่ได้รับอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI เช่น สามารถจำหน่ายมังคุดได้ในราคาที่สูงขึ้น สามารถยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าระดับ Premium สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง รวมทั้งสามารถนำตราสัญลักษณ์ GI ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการค้า ยังมีสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ อีกด้วย