คนรุ่นใหม่ นครสวรรค์ ทิ้งเงินเดือนประจำ มาทำเกษตรอินทรีย์

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ในทางวิชาการเขาบอกว่า คนเจนเอ็กซ์ (Gen X) อย่างผมมีลักษณะนิสัยชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ มีแนวคิดสร้างความสมดุลในเรื่องงานและครอบครัว คือไม่บ้างาน ไม่ทุ่มเท ทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง ไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่เชื่อเรื่องศาสนา และไม่ยึดธรรมเนียมประเพณี แต่คนรุ่นใหม่ คนเจนวาย (Gen Y) ต้องการสร้างสมดุลเวลาให้กับตัวเอง เช่น หลังเลิกงานมักไปทำกิจกรรมให้ความสุขกับตัวเอง คนกลุ่มนี้มีความสามารถ ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ สามารถทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ใช้เครื่องมือสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว มีความคิดเป็นของตนเองและเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบความท้าทาย มุ่งมั่นต่อความสำเร็จ ความก้าวหน้าในอาชีพ รวมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน ฉบับนี้ผมจึงพาท่านมานครสวรรค์ เพื่อพบ พูดคุยกับเกษตรกรเจนวายว่าเขาคิดอย่างไรจึงเลือกที่จะหันหลังให้กับงานประจำแล้วกลับมาบ้านเพื่อทำการเกษตร ไปติดตามแนวคิดและวิธีปฏิบัติของเขากันเลยครับ

คุณอนุชิต เขียวสะอาด หรือ คุณต่อ และ คุณปิยนุช รวมทรัพย์ หรือ คุณฟิล์ม เจ้าของรวมทรัพย์การ์เด้น อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

จบเกษตรและประมงจากมหาวิทยาลัยพะเยา

พาท่านมาพบกับ คุณอนุชิต เขียวสะอาด หรือ คุณต่อ และ คุณปิยนุช รวมทรัพย์ หรือ คุณฟิล์ม เจ้าของรวมทรัพย์การ์เด้น ที่บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 7 ตำบลวังใหญ่ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ทั้ง 2 ท่านจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพะเยา โดยคุณต่อจบวิทยาศาสตรบัณฑิต การประมง คุณฟิล์มจบวิทยาศาสตรบัณฑิต เกษตรศาสตร์

ร่วมออกบูธขายผลผลิตข้าวอินทรีย์

“เป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร เรียนจบปริญญาตรีเมื่อปี 2557 แล้วไปทำงานที่บริษัทส่งออกปลาสวยงามซึ่งเป็นงานที่ตรงกับความรู้ที่เรียนมา เงินเดือนก็ถือว่าดีมาก มีสวัสดิการ มีค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ดีมากสำหรับผม” คุณต่อ เล่า

ส่วนคุณฟิล์ม เล่าว่า ฟิล์มเป็นคนนครสวรรค์ เมื่อเรียนจบมาได้ไปทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่โครงการอยู่ 2 ปี จนเมื่อปี 2560 พ่อเริ่มป่วยเราก็มานั่งคุยกันว่า ที่พ่อป่วยอาจจะเป็นผลมาจากการที่พ่อทำการเกษตรและใช้สารเคมีเกษตรทั้งสารฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงมาอย่างยาวนาน เราจึงมานั่งคุยกันในครอบครัวและตัดสินใจหยุดใช้สารเคมีเกษตรในนาข้าวเมื่อปี 2561 และออกจากงานประจำมาทำเกษตรที่บ้านของตัวเอง

เมื่อคุณต่อและคุณฟิล์มตัดสินใจลาออกจากงานประจำทั้งคู่แล้วกลับบ้านมาทำการเกษตรของตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือความท้าทายมากมายที่รออยู่

นาข้าวอินทรีย์ของรวมทรัพย์การ์เด้นได้รับมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์พีจีเอส (PGS)

ทำนาข้าวอินทรีย์หาตลาด

ขาดลูกค้าจนท้อแท้

คุณต่อและคุณฟิล์ม บอกต่อว่า เมื่อเราตกลงใจมาทำนาข้าวอินทรีย์เราเริ่มต้นที่การทำนาอินทรีย์ในพื้นที่ 10 ไร่ หลังจากทำนาข้าวอินทรีย์สิ่งที่เห็นผลชัดเจนว่า ผลผลิตข้าวในนาอินทรีย์ของเราน้อยลง แต่เราสามารถขายข้าวอินทรีย์ได้ในราคาที่แพงขึ้น แต่เมื่อมีผลผลิตออกมาตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ พอเรามีผลผลิตข้าวอินทรีย์ของเราเองแล้วเราก็ต้องหาตลาดซึ่งเป็นเรื่องยากมากของเรา เราทำเองจึงรู้ว่าการหาตลาดเป็นเรื่องยากและเข้าใจคนที่เพิ่งทำการเกษตรว่าการหาตลาดเป็นเรื่องยากมาก จนท้อแท้

“พอมีปัญหาเราก็คุยกันว่าจะทำตลาดอย่างไร ก็ตัดสินใจว่าควรจะต้องไปเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการสนับสนุนด้านการตลาดสินค้าอินทรีย์ จึงไปเข้าร่วมกลุ่มข้าวอินทรีย์กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อที่จะร่วมออกบูธขายผลผลิตข้าวอินทรีย์กับทางโครงการ ทำมาสักระยะไปร่วมออกบูธขายข้าวอินทรีย์ของเราในงานต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น มีคำแนะนำต่างๆ จากเพื่อนเข้ามาทำให้เรามีกำลังใจดีขึ้น

 

ทำตลาดออนไลน์

คุณต่อ เล่าว่า ในปี 2563 ตลาดข้าวอินทรีย์ของเราดีขึ้น ปีนั้นเราสามารถขายข้าวได้หลายตัน ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร มาถึงจุดนี้คุณต่อและคุณฟิล์มเห็นว่าข้าวอินทรีย์ของรวมทรัพย์การ์เด้นน่าจะไปได้ในด้านการตลาดจึงได้ตัดสินใจเพิ่มช่องทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อ รวมทรัพย์ การ์เด้น และใช้สื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในเรื่องข้าวอินทรีย์ของสวนรวมทรัพย์การ์เด้น ด้วยช่องทางนี้ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น คุณต่อ บอกว่า  “ลูกค้ากลุ่มหลักของเราเป็นลูกค้าที่ตามมาจากการออกบูธร่วมกับจังหวัด มีทั้งลูกค้าที่เข้ามาสั่งข้าวของเราเพื่อเอาไปขายต่อ และลูกค้าที่ซื้อข้าวของเราไปบริโภค คุณฟิล์มเล่าถึงที่มาความพยายามทำตลาดข้าวอินทรีย์ของรวมทรัพย์การเด้น

มะเขือเทศพันธุ์เชอร์รี่ในโรงเรือนของรวมทรัพย์การ์เด้น

ทำข้าวนาปีอย่างเดียว

คุณต่อ บอกว่า ตอนนี้เราทำข้าวอินทรีย์แบบนาปีอย่างเดียวในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 3 ตันข้าวเปลือก เมื่อสีแล้วจะได้ประมาณ 1.5 ตันข้าวสาร ถ้าเป็นข้าวขาวขายได้ราคากิโลกรัมละประมาณ 50 บาท หากเป็นข้าวกล้องขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท เมื่อมาคิดเฉลี่ยทั้งหมดแล้วมีกำไรมากกว่าการทำนาเคมีประมาณ 1 เท่าตัว เพราะไม่มีการใช้สารเคมีทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงในขณะที่ราคาขายสูงขึ้น

คุณฟิล์ม เสริมว่า จากประสบการณ์ของเราการทำนาอินทรีย์รายได้อาจจะไม่แตกต่างจากเคมีมากนัก แต่นาอินทรีย์มีข้อดีคือต้นทุนต่ำทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปกู้ยืมเพื่อมาซื้อปุ๋ย ซื้อยาเคมี ทำนาอินทรีย์เปรียบไปแล้วก็เหมือนทำงานแบบเย็นๆ ไม่รีบร้อน เกษตรกรไม่ต้องออกรับจ้างเพื่อหาเงินสดมาไว้ใช้ซื้อปุ๋ยเคมี การทำนาข้าวอินทรีย์ของคุณต่อและคุณฟิล์มแห่งรวมทรัพย์การ์เด้นตอนนี้ได้รับมาตรฐาน การผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP และได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม (พีจีเอส-PGS) เรียบร้อยแล้ว

คุณต่อ เล่าว่า เราทำนาข้าวแบบอินทรีย์ก็มักจะมีพี่น้องชาวนามาถามอยู่เสมอ เช่น ข้าวใบเหลืองหมดแล้วทำไมไม่ใส่ปุ๋ย หรือปลูกข้าวทำไมมีแต่หญ้า เป็นต้น แต่เราก็ยิ้มไม่ได้ตอบอะไร เพราะความเข้าใจแตกต่างกัน วิธีปฏิบัติต่างกัน จะให้เราอธิบายให้ทุกคนฟังคงไม่ไหว เราทำได้แค่ลงมือทำให้ดูเท่านั้น

ฝรั่งกิมจูอินทรีย์ที่เป็นพระเอกทำรายได้ให้อย่างดี

ขยับทำสวนอินทรีย์เพิ่ม

เมื่อข้าวอินทรีย์เริ่มไปได้ดี คุณต่อกับคุณฟิล์มจึงขยับขยายไปทำสวนเพิ่ม

“เราเริ่มทำสวนเมื่อปี 2563 ปรับพื้นที่สร้างแปลงผักและไม้ผลทำสวนทั้งหมดให้เป็นระบบอินทรีย์ เรามีผลผลิตหลากหลาย มีทั้งผักสลัด มะเขือเทศพันธุ์เชอร์รี่ในโรงเรือน ขนุนทองประเสริฐที่ตอนนี้สามารถสร้างรายได้หลักให้กับสวน มะม่วงเขียวสามรส ฝรั่งกิมจูที่เป็นพระเอกทำรายได้ให้อย่างดี อินทผลัมเป็นรายได้รายปี มีโกโก้ที่ติดผลผลิตแล้ว ผักหวานป่าที่เก็บขายได้ทุกปี ผลผลิตทั้งหมดของเรานำไปขายที่ตลาดฟาร์มฝันปันสุข ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตัวเมืองนครสวรรค์ที่เราเป็นสมาชิกของกลุ่ม นอกจากนั้น เรายังปลูกป่าไม้หลากหลายชนิด ใช้ไม้มาเผาถ่านเอาไว้ใช้เอาไว้ขาย”

ผักอินทรีย์

นอกจากทำนา ทำสวนแล้ว คุณต่อกับคุณฟิล์มยังเปิดร้านขายพันธุ์ไม้ เช่น สะเดา มะม่วง ผักหวานป่า ฝรั่ง เป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งด้วย

คงจะเห็นแล้วว่าคนเจนวายอย่างคุณต่อและคุณฟิล์มนั้นมีความสามารถ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ ทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มีความคิดเป็นของตนเอง ชอบความท้าทาย มุ่งมั่นต่อความสำเร็จ รวมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานอย่างที่ทฤษฎีว่าเอาไว้จริงๆ ครับ ใครสนใจอยากพูดคุยเรื่องข้าวอินทรีย์ พืชสวนอินทรีย์ หรืออยากซื้อผลผลิตจากรวมทรัพย์การ์เด้น ติดต่อไปได้ที่ คุณอนุชิต เขียวสะอาด หรือ คุณต่อ โทร. 087-565-7961 สำหรับฉบับนี้หมดพื้นที่ของคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย เอาไว้พบกันใหม่ในฉบับต่อไป ลากันไปก่อน สวัสดีครับ