เหยื่อตลอดกาล

กลางปี 2564 ชาวไร่ชาวนาศรีลังกาออกมาประท้วงรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ชาวไร่ชาวนาในประเทศนี้ส่วนใหญ่ยากจน ไร้สิทธิไร้เสียง และต้องเจียมเนื้อเจียมตนอยู่เรื่อยมา เพราะแม้ว่าเกษตรกรจะเป็นกระดูกสันหลังของศรีลังกา แต่ก็เช่นเดียวกับที่เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของไทย

คือจน

มันเริ่มจากประธานาธิบดีชื่อ นายราชปักษา สั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพื่อการเกษตรเข้าประเทศ ระบุว่าเพื่อให้เกษตรกรรมของศรีลังกาเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ ประชาชนจะได้กินอาหารที่ปลอดภัย และส่วนที่จะส่งออกไปต่างประเทศก็จะเป็นสินค้าระดับบน ราคาแพง เหมือนสินค้าปลอดสารพิษทั่วโลก

เหมือนจะดีอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ความจริงคือโกหก ที่จริงมันเป็นเพราะประเทศเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกไอเอ็มเอฟควบคุมให้ลดการนำเข้า ไม่รู้จะไปลดตรงไหนกดตรงไหน เลยกดเอากับชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีทางสู้

ศรีลังกานั้นอุดม เพราะเป็นเมืองเกาะ น้ำท่าบริบูรณ์ อากาศร้อนชื้นเหมือนเมืองไทย ผักปลาอาหารจึงไม่ต่างกัน เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำเหมือนกัน

Advertisement

ศรีลังกาปลูกต้นหอม หอมแดง กระเทียม หัวปลี ขนุนดิบ ถั่ว มะเขือ ฟักทอง มะระขี้นก กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว มะเขือยาว แตง ข้าวโพด รากบัว พริกชี้ฟ้า ใบบัวบก มะพร้าว กล้วย เหมือนไทย

แค่ 6 เดือนให้หลัง ชาวไร่ชาวนาศรีลังกาออกมาประท้วงว่าผลผลิตการเกษตรตกลงอย่างหนัก ประเทศที่ผลิตอาหารเองได้อย่างศรีลังกาต้องนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศ มีหนี้ต้องจ่ายประเทศในตอนนั้น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเงินอยู่แค่ 2 พันกว่าล้าน พูดง่ายๆ ไม่มีเงินใช้หนี้ ไม่มีเงินซื้อกับข้าว

Advertisement

เรียกว่าย่อยยับ ล้มละลาย

ราชปักษานั้นโง่งมและอำมหิต เพราะห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพื่อการเกษตรทุกชนิด โดยที่ไม่ได้ตระเตรียมบอกเล่าเก้าสิบให้ชาวไร่ชาวนารู้ พันธุ์ข้าวพันธุ์ผัก ไม่ได้ตระเตรียมไว้สำหรับการปลูกที่ไม่ใช้ปุ๋ย เมื่อเจออย่างนี้ ไร่นาของศรีลังกาก็แทบล้มทั้งยืน พันธุ์ข้าวและพืชผลต่างๆ รวมทั้งชาที่เป็นผลผลิตหลักของประเทศ เสียหายหนัก คนรับกรรมที่ตนเองไม่ได้สร้างคือชาวไร่ชาวนา จนต้องลุกขึ้นประท้วง แล้วลุกลามเป็นประชาชนหลายหมื่นลุกขึ้นมาไล่รัฐบาล จนประธานาธิบดีผู้โง่งมหนีกระเจิง

สิ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดของศรีลังกาคือ ชา ปลูกทางตอนบนของประเทศที่มีอากาศเย็นและเป็นเขาสูง โลกรู้จักชาศรีลังกาว่า ชาซีลอน หรือ Ceylon Tea ซีลอนนี่เป็นชื่อเดิมของศรีลังกา ใช้ตอนยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นชื่อที่อังกฤษเรียกเกาะแห่งนี้ จนเมื่อเขาได้รับอิสรภาพแล้วเขาก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นภาษาถิ่นตนเอง

ชาศรีลังกาเสียหายหนักจากมาตรการห้ามนำเข้าสารเคมีเพื่อการเกษตร เจ้าของไร่ชาจึงจองกฐินขับไล่ราชปักษาอย่างจริงจัง

ศรีลังกาส่งกล้วยไปขายถึงอังกฤษ และภูมิใจว่าประเทศตนเองเป็นแหล่งผลิตกล้วยที่มีความหลากหลายมาก เพราะในขณะที่ประเทศผลิตกล้วยอื่นๆ อย่าง เม็กซิโก หรือฟิลิปปินส์ เน้นปลูกกล้วยหอมสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ศรีลังกาปลูกกล้วยเกือบ 30 สายพันธุ์ ส่งออกปีละเกือบ 2 พันตัน ไปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น แม้ว่าผลผลิตเริ่มลดลงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเกษตรกรหันไปปลูกข้าวเนื่องจากต้นทุนปุ๋ยข้าวถูกกว่า แต่ก็ยังมีอยู่มาก กล้วยของศรีลังกา และนาข้าวทั่วประเทศเสียหายกว่าครึ่ง

ส่วนสับปะรดที่ปลูกกันมากแถบเมือง Gampaha และ Kurunegala สัดส่วนกว่า 70% ของผลผลิตทั้งหมด เคยส่งออกไปยุโรปและตะวันออกกลาง ก็หมดโอกาสจะได้ส่งออก

ลองคิดดูว่าขณะที่บ้านเมืองแร้นแค้น กระดูกสันหลังที่ผุกร่อนอยู่แล้ว น่าจะพอช่วยประคองร่างไว้ได้ กลับถูกผลักให้พังครืนในพริบตา

จึงไม่แปลกที่ประธานาธิบดีต้องหนีแบบเก็บกระเป๋าไม่ทัน

ประธานาธิบดีราชปักษาหนีมาหลบอยู่เมืองไทยหลายสัปดาห์ ก่อนต้องเผ่นกลับเข้าประเทศ เพราะทนค่าใช้จ่ายในการหลบหนีแบบหรูหราไม่ไหว คือจะหนีก็ต้องหรูหราน่ะคิดดู

ความคิดแบบคิดสิ้นของราชปักษา เรื่องห้ามนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีเพื่อการเกษตร เกิดมาจากศรีลังกามีหนี้สินต่างประเทศสูงมากจนเกินกว่าจะชำระได้ เจ้าหนี้ต่างประเทศทวงยิกๆ หลายประเทศประกาศไม่ส่งสินค้าให้ จนกว่าจะจ่ายหนี้เก่าก่อน หรือรายที่ไม่เคยค้าขายกันมาก่อน ก็ไม่กล้าส่งสินค้าให้อยู่ดี กลัวไม่ได้เงิน เพราะศรีลังกากระเป๋าฉีก

เป็นความผิดพลาดที่สะสมต่อเนื่องจากการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ใช้จ่ายไปมากกว่าที่หามาได้ มีการลดภาษีไปมาก ทำให้รายได้หายไป บวกกับช่วงโควิด-19 รายได้หลักจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าเกษตร และการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติหดหายไป

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่าฟื้นตัวจากโควิดได้ช้าเกือบที่สุดในโลก แต่ยังดีที่อย่างน้อยเรายังยืนได้ ไม่ล้มพังพาบน่าเศร้าเหมือนศรีลังกา

ที่ชาวไร่ชาวนาตกเป็นเหยื่ออย่างน่าเศร้า และประเทศทั้งประเทศก็เช่นกัน