ตลาดเนินสูง ท่าใหม่ จันทบุรี ขายส่งทุเรียนใหญ่ที่สุด

“ตลาดเนินสูง” ตั้งอยู่สี่แยกเนินสูง ถนนสุขุมวิท หมู่ที่ 4 ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดค้าส่ง ค้าปลีกทุเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นตลาดค้าขายทุเรียนชนิดเดียว มีทั้งแผงทุเรียนค้าส่ง-ค้าปลีกรวม 300 แผง มีการซื้อ-ขายวันละกว่า 1,000 ตัน และบริเวณรอบนอกยังมีโรงคัดบรรจุหรือ “ล้ง” รับซื้อทุเรียนอีกกว่า 100 ล้งส่งออกตลาดจีน

คุณวิโรจน์ งามระเบียบ

“ใครอยากซื้อต้องมาตลาดเนินสูง” คือ คำพูดที่ติดปากของคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับตลาดเนินสูงดี ตลอดระยะเวลา 4-5 เดือนฤดูกาลทุเรียนแต่ละปี แผงทุเรียนจะเปิดทำงานซื้อ-ขายกันตั้งแต่ช่วงเย็น ตลอดกลางคืน ยันรุ่งเช้า รายได้จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเนินสูงทำให้เทศบาลตำบลเนินสูงเจ้าของพื้นที่ พัฒนาสาธารณูปโภคและช่วยสร้าง-กระจายรายได้ในชุมชน ทุกวันนี้รอบๆ ตลาดเนินสูงเป็นย่านค้าขายมีผู้คนหลากหลายอาชีพมาทำมาหากิน เฉพาะแผงร้านค้าทุเรียน มีทั้งคนคัด คนโยนและคนลากทุเรียน คนรับจ้างจับทุเรียนส่งล้ง และรอบๆ ตลาดมีทั้งร้านค้าเครื่องไฟฟ้า ร้านขายอุปกรณ์ทำการเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค วินมอเตอร์ไซค์ และตลาดผลไม้และของฝากจากจันทบุรี ที่เรียงรายริมทางอีก 33 แผง

คุณนรา ล้วนรัตน์

“ตลาดเนินสูง” ค้าส่งทุเรียนกว่า 20 ปี

คุณวิโรจน์ งามระเบียบ นายกเทศมนตรีตำบลเนินสูง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เล่าถึงที่มาของตลาดเนินสูงว่า เทศบาลเนินสูงมีพื้นที่ 12 ไร่ แรกทีเดียวเป็นตลาดเล็กๆ ถนนยังเป็นลูกรัง มีแผงร้านค้า 20 แผง ให้ชาวบ้านนำทุเรียนมาขายคนละแผง พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อกันมาก ต่อมาราคาทุเรียนสูงขึ้นเจ้าของสวนไปปลูกทุเรียนกันมากไม่มีเวลาเอาออกมาขายเอง แม่ค้าต้องเข้าไปซื้อในสวนและมาขายที่แผง แผงจึงเปลี่ยนเป็นแม่ค้าขาย ชาวสวนตัดทุเรียนมาส่งหรือแม่ค้าเข้าไปซื้อ ปี 2543 ได้งบประมาณพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทยอยให้เกือบ 22 ล้านบาท รวมกับงบประมาณของเทศบาลอีก 10 ล้านบาท เทศบาลได้พัฒนาตลาด ทำถนนลาดยาง สร้างอาคาร แบ่งพื้นที่เป็นล็อกๆ เป็นแผงร้านค้าเทพื้นซีเมนต์ มีระบบน้ำ ไฟฟ้า การจัดเก็บขยะ ให้แม่ค้ามาเช่าค้าขายเสียค่าเช่ารายปีเพื่อซื้อขายทุเรียนในฤดูกาล 4-5 เดือน

คุณบุญช่วย โพธิ์นาค

ปัจจุบันมีแผงให้เช่า 300 แผง ค่าเช่าแผงปีละ 12,600 บาท ค่าเก็บขยะ 2,000 บาทต่อปี รอบนอกของเทศบาลมีล้งทุเรียนชาวจีนเช่าพื้นที่หรือเช่าล้งทำโรงแพ็กบรรจุส่งออกประมาณ 100 ล้ง เมื่อปี 2557-2558 ซึ่งอำเภอท่าใหม่มีล้งมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี

คุณจิรวุฒิ สุวรรณอาจ

“ตลาดเนินสูง” ค้าส่งทุเรียนใหญ่ที่สุด

คุณวิโรจน์ เล่าว่า “ตลาดเนินสูง” ตลาดค้าส่งทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่มาคำพูดติดหูรับรู้กันว่า ถ้าอยากมาซื้อทุเรียนต้องมาที่ตลาดเนินสูง เป็นตลาดที่ค้าทุเรียนเพียงอย่างเดียว ตลาดเริ่มตั้งแต่ 4-5 โมงเย็นถึงเช้าก่อนเที่ยง ล้ง เกษตรกร หรือพ่อค้าแม่ค้าทุเรียนจะนำทุเรียนที่ล้งคัดออกหรือตกไซซ์ส่งออกไปจีนไม่ได้ มาขายที่แผงในตลาดตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป แม่ค้าที่แผงจะรับซื้อเตรียมไว้ส่งขายทั่วประเทศและมีส่งเพื่อนบ้านกัมพูชาบ้างเป็นตลาดขายส่งเกือบทั้งหมด ลูกค้าจะติดต่อแจ้งออร์เดอร์มาล่วงหน้าให้เตรียมทุเรียนไว้และมารับใส่รถปิกอัพ หรือรถบรรทุกเดินทางไป-กลับได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลามาก ในช่วงทุเรียนมีปริมาณมากแต่ละแผงรับซื้อกันวันละ 30-80 ตัน รวมๆ น่าจะหลายพันตันต่อวัน ส่วนทุเรียนอ่อนที่โดนลมต้องแยกขายให้กับโรงงานนำไปแปรรูป

เครื่องหมายจันท์การันตี ร้านอรุณ

“ตลาดเนินสูง ทำให้เทศบาลมีรายได้ปีละ 5-6 ล้านบาท รวมล้งส่งออกประมาณ 10 ล้านบาท มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นขยายระบบสาธารณูปโภค ปกติเงินอุดหนุน รายได้จากภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนปีละ 300,000 บาทน้อยมาก และภาษีรายได้ยังคงต้องไปเสียกับกรมสรรพากร ที่สำคัญตลาดเนินสูงช่วยสร้างเศรษฐกิจกระจายรายได้ในชุมชนรอบๆ มีร้านอาหาร ร้านค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำสวนทุเรียน และอื่นๆ มากมาย ประชากรในเทศบาล 3,000 คน ประชากรแฝง 2,000 คน ทุกครัวเรือนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่มีใครตกเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) รวมทั้งอำเภอท่าใหม่ทั้งอำเภอ ส่วนใหญ่ทำสวนทุเรียนกันมีรายได้ดีทุกครัวเรือน แต่เทศบาลต้องมีค่าใช้จ่ายที่บริการผู้เช่าแผงและผู้เข้ามาซื้อ-ขายในช่วงฤดูกาลทุเรียน มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ แก้ไขไฟฟ้า น้ำประปา โดยเฉพาะการกำจัดขยะค่าใช้จ่ายสูงมาก ปริมาณขยะวันละ 30 ตัน ใช้รถเก็บ 3 คัน ขนคันละ 2 เที่ยวต่อวัน (เที่ยวละ 5 ตัน) ต้องจ่ายค่าทิ้งขยะตันละ 300 บาท วันละประมาณ 9,000 บาท” คุณวิโรจน์ กล่าว

ขายปลีกยกเข่ง 50 กิโลกรัม

ล้งรับซื้อทุกไซซ์ ราคาทุเรียนตกไซซ์พุ่ง

คุณบุญช่วย โพธิ์นาค ชาวจังหวัดเพชรบุรี เจ้าของแผงทุเรียน “บุญโชคชัย” หรือ “เจ๊น้อย” ในตลาดเนินสูง เล่าว่า เช่าแผงรับซื้อทุเรียนมาตั้งแต่เปิดตลาดมากว่า 20 ปีแล้ว มีญาติมาเช่าอยู่ติดๆ กัน 2-3 คน ขายส่งทุเรียนตกไซซ์ ทุเรียนส่งออกปกติจะคัดไซซ์ 3 เกรด คือ A B C มี 3-5 พู แต่ปีนี้จีนรับซื้อหมด 4 เกรด A B C และ D เป็นทุเรียนไซซ์เล็ก 1.5-1.9 กิโลกรัม ดังนั้น ที่เหลือตกเกรดมาขายที่ตลาดเนินสูงจะเป็นเกรดตกไซซ์ 3-5 พู มีตำหนิ ผิวหนาม ไม่สวย ราดำ หนามจีบ หนมแห้ง หรือเป็นจัมโบ้ เข้ ลูกใหญ่เกิน 10 กิโลกรัม ลูกเล็กต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม ทรงไม่สวย เช่น พูแป้ว 1-2 พูครึ่ง เป็นทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานตลาดจีนที่รับซื้อ แต่ไม่มีผลถึงเนื้อที่ยังรับประทานได้เพราะเป็นทุเรียนแก่ ตามข้อตกลงของตลาดเนินสูงทุเรียน เจ้าของแผงจะรับประกันทุกลูก หากเสียหายต้องรับเคลม หากเป็นทุเรียนอ่อน โดนลม ต้องขายให้นำไปแปรรูปเท่านั้น ส่วนใหญ่มีลูกค้าประจำจากตลาดไท ภาคอีสานและภาคใต้ ปีนี้ทุเรียนน้อยรับซื้อได้ลดลงไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของปีก่อนไม่เพียงพอกับลูกค้าประจำ ช่วงที่มีทุเรียนมากจะรับซื้อได้วันละ 20-30 ตัน ถ้าทุเรียนน้อยๆ ขาดช่วงก็ได้ถึง 2-3 ตัน

เตรียมส่งลูกค้า

“ทุกวันช่วง 3-4 โมงเย็น ลูกค้าจะนำทุเรียนมาขาย จะต้องตัดขั้วป้ายน้ำยาที่ขั้วให้สุกเสมอกัน คัดตามไซซ์ ตามประเภทไปตลอดทั้งคืน ช่วงเช้าถึงเที่ยงวันลูกค้าที่สั่งออร์เดอร์ไว้จะมารับทุเรียนไป ปีนี้ทุเรียนตกไซซ์ราคาแพง ราคาเกรด A B ส่งออกกิโลกรัมละ 180-200 บาท เกรด C 110 บาท ช่วงทุเรียนขาดเดือนพฤษภาคมราคาตกไซซ์ขึ้นจากกิโลกรัมละ 50 บาทเป็น 90-95 บาท และเดือนมิถุนายนทุเรียนรุ่นสุดท้ายมีน้อย ราคาล้ง กิโลกรัมละ 160-170 บาท ราคาตกไซซ์สูงถึง 120 บาท เป็นราคาสูงสุดกว่าทุกๆ ปี แต่ปีนี้ทุเรียนขายง่าย มีไม่พอขาย ตั้งแต่หลังสงกรานต์ลูกค้าขาประจำที่สั่งจองมารถบรรทุกปิกอัพ 4 ตัน บางครั้งได้ 3 ตันครึ่ง แทบไม่ได้รับลูกค้าใหม่” คุณบุญช่วย กล่าว

ลูกค้ามารอรับ
ตลาดผลไม้ ริมถนนสุขุมวิท

ด้าน คุณนรา ล้วนรัตน์ เจ้าของแผง “เจ๊นรา” ชาวจังหวัดจันทบุรี เช่าแผงค้าทุเรียนทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก เล่าว่า ปีนี้ทุเรียนมีเท่าไรล้งจีนรับซื้อหมด ทำให้ราคาทุเรียนตกไซซ์เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ทุเรียนรุ่นสุดท้ายที่จันทบุรีออกแต่ปริมาณไม่มากนัก ราคาทุเรียนเกรด A B C ล้งรับซื้อกิโลกรัมละ 160-180 บาท ทุเรียนตกไซซ์ราคา 120-130 บาท ปีนี้ทุเรียนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะขายให้ลูกค้าประจำแต่ยังไม่พอออร์เดอร์ ลูกค้าใหม่แทบไม่มีขายให้ ส่วนใหญ่แผงรับซื้อบวกกำไร กิโลกรัมละ 10 บาท ราคาขึ้นอยู่กับประเภทของทุเรียนที่คัดแยกไว้ แล้วแต่ปริมาณมากน้อย มีทั้งขายส่งเป็นเที่ยวรถปิกอัพที่จะขายต่อผลสดได้กำไรกิโลกรัมละ 10 บาท โดยเพิ่มราคาจากเฉลี่ยน้ำหนักที่หายไปด้วย ส่วนขายปลีกต้องซื้อยกเข่ง เข่งละ 50 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ซื้อไปแกะเนื้อขาย ได้กำไรดีกว่า เพราะทุเรียนรูปทรง เปลือกไม่สวย มี 1-2 พู ที่สำคัญตลาดเนินสูงทุกแผงรับเคลมทุกลูกกรณีทุเรียนอ่อน

“ทุเรียนที่ซื้อตกไซซ์ส่วนใหญ่เป็นหมอนทอง ขนาดมาตรฐานส่งออก A B C 3.5-5 กิโลกรัม ที่ถูกปัดตกไซซ์แต่ต้องเนื้อดี แก่ มีทั้งขนาดเล็กต่ำกว่าลูกละ 1.5 กิโลกรัม และจัมโบ้เกิน 7 กิโลกรัม หรือน้ำหนักได้ แต่พู ลูกไม่สวย หนามจีบ เปลือกมีแผลช้ำ ราดำ หนอน ปีนี้ทุเรียนมีปริมาณน้อย ส่วนใหญ่ขาประจำจองหมด และช่วงปลายฤดูยังมีปัญหาทุเรียนอ่อนอีกด้วย” คุณนรา กล่าว

แผงทุเรียนค้าส่งรับเคลม แผงร้านค้าติดแบรนด์จันท์การันตี

คุณวิโรจน์ เล่าต่อว่า แผงร้านค้าในตลาดเนินสูงทั้งหมดมีข้อตกลงกันว่าต้องขายทุเรียนคุณภาพ แม้จะเป็นทุเรียนตกไซซ์ต้องเป็นทุเรียนที่แก่ หากมีปัญหาทุเรียนอ่อนหรือเสียหายทานไม่ได้ต้องรับเคลมลูกค้า ส่วนตลาดผลไม้เนินสูง ริมถนนสุขุมวิทของเทศบาลเนินสูงมีร้านค้า 33 แผง ที่เปิดขายผลไม้สดต่างๆ ตามฤดูกาล ผลไม้แปรรูปให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนผ่านไปมาตลอดทั้งปี ได้มีการรับรองมาตรฐานและรับเคลมเช่นกัน และปีนี้จังหวัดจันทบุรีมีโครงการที่ให้ร้านค้าใช้แบรนด์ “จันท์การันตี” (CHAN GUARANTEE) รับรองคุณภาพ “ร้านอรุณ” 1 ใน 22 ร้านค้าริมทางของเทศบาลเนินสูงเข้าร่วมโครงการและได้ติดป้ายจันท์การันตี แสดงให้ลูกค้าเชื่อมั่น

เที่ยวละ 4 ตัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว สามารถเลือกซื้อผลไม้ที่มีเครื่องหมายจันท์การันตี คุณจรูญ  ปิ่นตา กล่าวว่า ร้านค้าตั้งมากว่า 10 ปี รับเคลมสินค้าในร้านมาตลอดเมื่อมีป้ายจันท์การันตีทำให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้น

คุณจิรวุฒิ สุวรรณอาจ พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ได้มอบป้ายเครื่องหมายจันท์การันตีให้ผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีเป็นปีแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ร้านค้าที่เข้าร่วมต้องมีการประเมินต่อายุทุกๆ 2 ปี และตั้งใจว่าจะขยายไปร้านค้าผลไม้ของจันทบุรีให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานผลไม้จังหวัดจันทบุรี