“ก.เกษตรฯ”เล็งชงครม.เพิ่มมาตรการเยียวยาเกษตรกรถูกน้ำท่วมครัวละ 3,000 บาท

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเบื้องต้นทุกพื้นที่ในขณะนี้ ได้รับความเสียหายรวม 35 จังหวัด เกษตรกร 518,770 ราย แยกเป็นด้านพืช 4.14 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าว 3.77 ล้านไร่ พืชไร่ 3.3 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 4 หมื่นไร่ ประมง 17 จังหวัด มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 17,785 ไร่ กระชังเลี้ยงปลา 1,422 ตารางเมตร(ตร.ม.) ด้านปศุสัตว์ 600,634 ตัว เป็นโค-กระบือ 71,949 ตัว สุกร 17,135 ตัว แพะ –แกะ 18,124 ตัว สัตว์ปีก 493,426 ตัวและแปลงหญ้า 452 ไร่

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ทั้งนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ กข.15 และ กข. 6 ซึ่งเป็นชนิดข้าวไวแสงที่ต้องมีช่วงแสงช่วยให้การออกดอกติดรวง ใช้ระยะเวลาปลูก 120 วัน และเกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละครั้ง ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงสั่งให้กรมการข้าวลงไปสำรวจพื้นที่ความเสียหายเพื่อเร่งซ่อมแซม อีกทั้งให้กรมชลประทานรีบระบายน้ำให้ลดลงลงเร็วที่สุดเพื่อสำรวจถึงความเสียหายอย่างสิ้นเชิง และฟื้นฟู ปลูกรอบใหม่ โดยข้าว กข.15 นั้นคาดว่ายังสามารถ ปลูกได้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ หากเลยระยะเวลานี้ไปจะเสี่ยงต่อการติดดอกออกรวง

ซึ่งกรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดพันธุ์สำรองไว้แล้ว 182 ตัน รวมทั้งเมล็ดถั่วเพื่อปลุกทดแทน 103 ตันซึ่งจะช่วยลดปัญหาของเกษตรกรในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 สิงหาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอมาตรการเยียวยานอกเหนือจากมาตรการทางกระทรวงการคลัง คือชดเชยค่าเสียโอกาสรายได้จากการขายผลผลิตที่เกษตรกรควรจะได้รับ เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถปลูกทดแทนและสร้างรายได้รอบใหม่ได้ทันฤดูกาลผลิตในปีนี้ และเยียวยาเพิ่มเติมโดยช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมทั้งลดภาระหนี้สิน ให้แก่ สมาชิกสถาบันเกษตรกร และสมาชิกกองทุนหมุนเวียน โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสถาบันเกษตรกร จำนวน 300 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

“เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงกรณีที่เป็นนาข้าวจะได้รับการชดเชยตามมาตรการกระทรวงการคลัง ไร่ละ 1,113 บาท ในกรณีที่เกษตรกรร่วมโครงการประกันภัยพืชผลจะได้รับการชดเชยอีก ไร่ละ 1,260 บาท แต่ทั้งนี้ต้องรอผลการสำรวจว่า เสียหายสิ้นเชิงหรือไม่ หลังน้ำลดอีกครั้ง “น.ส.ชุติมา กล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า จากน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับแผนข้าวครบวงจร ผลผลิตข้าวไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้คือ 8 ล้านตันข้าวเปลือก จากพื้นที่ปลูก 23 ล้านไร่ ซึ่งจะพิจารณาปรับแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง