ทุเรียนทองผาภูมิ รสอร่อย กินแล้วไม่เรอกลิ่นทุเรียน

อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ มากมายแล้ว ยังมีจุดเด่นเรื่องผลไม้รสอร่อย ไม่แพ้ที่ใด โดยเฉพาะ “ทุเรียนหมอนทอง ทองผาภูมิ” ที่ถูกพัฒนาและปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ ที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ด้วยสภาพอากาศและดินมีแร่ธาตุที่เหมาะสม ส่งผลให้ทุเรียนทองผาภูมิ เนื้อหนา เปลือกบาง เมล็ดลีบ กลิ่นไม่แรง เนื้อเนียนละเอียด เส้นใยน้อย รสหวานมัน ทุกคนที่ได้ชิมต่างติดใจ

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่า ปัจจุบัน จังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมทั้งสิ้น 9,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอทองผาภูมิประมาณ 4,000-5,000 ไร่ เนื่องจากทุเรียนทองผาภูมิมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ลักษณะผลมีสีเหลืองทอง เนื้อแห้งละเอียด รสชาติหวาน มัน กรอบ

“นายประสาน ปานคง” เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี  กล่าวว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนตั้งแต่ป่าละอู เพชรบุรี มาถึงทองผาภูมิ จนถึงจังหวัดตาก มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพราะปลูกตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้ทุเรียนมีลักษณะพิเศษคือ เวลาทานแล้วจะไม่มีการเรอเหมือนทานทุเรียนทั่วไป เนื่องจากมีปริมาณแก๊สไม่มาก จึงเป็นลักษณะพิเศษที่โดดเด่นของทุเรียนทองผาภูมิ  ขณะนี้ก็กำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ทุเรียนหมอนทอง

สวนสกุลรุ่ง 

ช่วงฤดูทุเรียนทองผาภูมิ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ของทุกปี เชื่อว่าพันธุ์แท้ทุเรียนคงไม่พลาดชิมความอร่อยของทุเรียนทองผาภูมิ หากใครยังหาซื้อไม่ได้ แนะนำให้แวะไปชมและเลือกซื้อกันได้ที่ สวนสกุลรุ่ง Camping & Cafe’ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โทร. 086-315-3482 ผู้สนใจสามารถ ข่าวสารกิจกรรมของสวนแห่งนี้ได้ทางเฟซบุ๊ก : สวนสกุลรุ่ง Camping & Cafe’

คุณเวโรจน์ รุ่งประเสริฐวงศ์ เจ้าของสวนสกุลรุ่ง ทำเกษตรเพราะใจรัก บนวิถีพอเพียงเลี้ยงตนเอง โดยมีเป้าหมาย ผลิตผลไม้คุณภาพดีสนองความต้องการของตัวเองและผู้บริโภค คุณเวโรจน์หันมาทำเกษตรอย่างเต็มตัวเมื่อ 10 ปีก่อน เริ่มจากทำสวนเงาะก่อน ในปีที่ 2 เริ่มปลูกทุเรียนแซมในสวนเงาะ ปัจจุบันสวนแห่งนี้ ปลูกทุเรียน 200 ต้น บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง และมีพันธุ์อื่นๆ เช่น ทุเรียนจันทบุรี 10

ดูแลใส่ใจทุกช่วงการเติบโต

คุณเวโรจน์เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ใส่ใจเรียนรู้ทดลองและพัฒนาสวนทุเรียนอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยร่วมมือกับ คุณณัฐพัชร์ ดุลพินิจนันท์ จากบริษัท ทีจีเอ็ม มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่มานานปี เพื่อให้มีสินค้าคุณภาพดีป้อนสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

คุณณัฐพัชร์แนะนำให้คุณเวโรจน์ ดูแลสวนทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ โดยเริ่มหลังจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ก็เข้าสู่โหมดฟื้นฟูลำต้นทันที โดยตัดแต่งกิ่งที่ชำรุดเสียหาย จากการถูกแมลงกัดกิน มีรอยเจาะ มีรอยโรค ถูกลมพัดหัก ผุพัง ฯลฯ รวมทั้งกิ่งในทรงพุ่มที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องตัดกิ่งเหล่านี้ออกให้หมด ขั้นตอนการตัดแต่งกิ่งทำพร้อมกันทั้งสวน เพื่อทุเรียนทุกต้นมีกิ่งที่สมบูรณ์ ก่อนเริ่มฤดูผลิตถัดไป

คุณเวโรจน์ รุ่งประเสริฐวงศ์ เจ้าของสวนสกุลรุ่ง

หลังตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการบริเวณรอบทรงพุ่มใต้ต้นทุเรียน กำจัดเศษใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า รวมถึงวัสดุต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกให้หมด ให้ใต้ทรงพุ่มมีลักษณะโล่งเตียน เนื่องจากหลังเก็บผลผลิตแล้วไม่นานก็เข้าสู่ฤดูฝน หากโคนต้นมีสิ่งหมักหมม จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เชื้อรา รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูด้วย ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับการผลิตในอนาคตได้

หลังดูแลจัดการลำต้นและสภาพแวดล้อมบริเวณลำต้นเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาบำรุงลำต้นให้มีความสมบูรณ์ โดยเสริมธาตุอาหารที่จำเป็นให้กับทุเรียน ช่วงแรกให้ปุ๋ยสูตรบำรุงลำต้นเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูลำต้นหลังจากแบกลูกเป็นเวลานาน จนลำต้นค่อนข้างทรุดโทรม ต้องฟื้นฟูลำต้นก่อนโดยใช้ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจน (N) สูง ใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ผสมผสานกัน เพื่อให้มีธาตุอาหารที่หลากหลาย ต้นทุเรียนสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ระยะนี้อาจใช้ปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วนของธาตุอาหารหลัก N P K อยู่ที่ประมาณ 3 : 1 : 4 หรือ 4 : 1 : 3 ก็ได้

โดยปกติ หลังเก็บผลผลิตทุเรียนเสร็จในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี และกินเวลาอีก 3-4 เดือน ไม่เกินเดือนกันยายน ช่วงนี้ชาวสวนต้องเตรียมความพร้อมสำหรับผลิตทุเรียนในฤดูต่อไป เริ่มจากการทำใบเพื่อให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อนออกมาอย่างน้อย 2 รุ่น เพราะถือเป็นโรงครัวในอนาคต หากไม่ทำใบไว้ก่อน ต้นทุเรียนอาจมีสารอาหารไม่เพียงพอที่สร้างผลผลิตในรุ่นต่อไปได้ ดังนั้น ช่วง 3 เดือนนี้ ต้องวางโปรแกรมให้ชัดเจน ต้องทำใบอ่อนให้ได้ 2 รุ่น เมื่อทำใบได้แล้ว ช่วงปลายเดือนสิงหาคมก็เปลี่ยนจากโหมดฟื้นฟูลำต้นมาเป็นโหมดสะสมอาหาร

แปลงปลูกทุเรียนทองผาภูมิ ของสวนสกุลรุ่ง

ช่วงการสะสมอาหาร ทุเรียนต้องการสร้างพลังงานแล้วนำไปเก็บไว้ที่ส่วนต่างๆ ของลำต้น ดังนั้น สัดส่วนของธาตุอาหารที่ให้ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย โดยลดสัดส่วนของไนโตรเจน (N) ลง พร้อมกับเพิ่มฟอสฟอรัส (P) ขึ้นมา อาจใช้ปุ๋ยที่มีเรโช 1 : 2 : 3 หรือ 1 : 3 : 3 ก็ได้ เพื่อให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตส่วนของยอดและใบ แล้วเปลี่ยนมาสะสมอาหารกักเก็บไว้ตามท้องกิ่ง เกษตรกรมีเวลาสะสมอาหารประมาณ 2 เดือน คือ ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

เมื่อผ่านพ้นช่วง 2 เดือนนี้ ก็เปลี่ยนมาเข้าสู่โหมดกระตุ้นการออกดอก หากจัดการต้นมาดี ทำใบอ่อนออกมาดี ไม่มีการเข้าทำลายของโรคหรือแมลงศัตรู เมื่อสะสมอาหารต่อเนื่อง 2 เดือน ก็ทำให้ได้ต้นทุเรียนที่มีใบเขียวเข้ม สมบูรณ์ แข็งแรง มีสารอาหารเพียงพอ พร้อมที่ให้ผลผลิตที่ดีในอนาคตได้

เมื่อเข้าเดือนตุลาคม เป็นช่วงปลายฝน-ต้นหนาว ช่วงนี้ฮอร์โมนภายในต้นจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนโครงสร้างภายใน ต้องกระตุ้นทำให้ออกตาข้าง หรือกระตุ้นการออกดอก ช่วงนี้ควรเสริมธาตุอาหารเข้าไปสะสมไว้ที่ใบเป็นหลัก โดยใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ที่สูงขึ้น อาจเสริมด้วยธาตุอาหารอื่นๆ ในช่วงนี้ได้ โดยเฉพาะแคลเซียมโบรอน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญขาดไม่ได้

การกระตุ้นเพื่อให้ทุเรียนออกดอก อาจต้องแกล้งให้ทุเรียนเกิดความเครียด ช่วยให้ต้นมีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาเพื่อเจริญในส่วนของตาข้าง คือการสร้างตาดอก โดยใช้วิธีงดให้น้ำ เมื่อทุเรียนเริ่มรู้สึกว่าลำบาก สัญชาตญาณของต้นไม้ จะสร้างส่วนเจริญพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการเปิดตาดอกนั่นเอง

คุณณัฐพัชร์ ดุลพินิจนันท์

ช่วงติดดอก ทุเรียนมีระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกไปจนถึงดอกบาน ประมาณ 2 เดือน ช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังให้ดี หากพลาดช่วงนี้ นั่นหมายความว่าสวนทุเรียนปีนี้เสียหาย ไม่มีผลผลิตอย่างแน่นอน ดังนั้น ตั้งแต่ออกดอกต้องมีโปรแกรมดูแลอย่างใกล้ชิด เริ่มจากการตัดแต่งกิ่งดอก ปกติหากต้นสมบูรณ์ ทุเรียนจะออกดอกทั่วทั้งลำต้น แต่เกษตรกรควรเก็บไว้เฉพาะส่วนที่สำคัญและส่วนที่ไว้ลูกได้ ดอกที่อยู่ปลายกิ่งหรืออยู่บนกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ควรปลดออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะในส่วนของกิ่งที่รับน้ำหนักลูกได้เท่านั้น

ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งดอกคือ ลดการใช้พลังงานของลำต้นลง เพราะหากปล่อยดอกไว้ทั้งหมดโดยไม่ทำอะไรเลย ต้นก็กระจายสารอาหารไปได้ไม่หมดทุกส่วน ดังนั้น ดอกในตำแหน่งที่ไม่ต้องการ ซึ่งแย่งอาหาร ทำให้ดอกในตำแหน่งที่เหมาะสมได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่ จึงต้องตัดแต่งออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะส่วนที่ต้องการ เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงาน และทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ ดอกมีความสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้พัฒนาการของผลดีขึ้น

“ช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องของศัตรูพืช โรคพืช ที่เริ่มเข้ามาวนเวียน รบกวนต้นทุเรียน ซึ่งก็ต้องคอยหมั่นดูว่ามีศัตรูพืชชนิดไหนเข้ามา ต้องวางแผนเรื่องการจัดการ เพราะช่วงนี้พลาดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอาจเสียรอบการผลิต เสียเวลาหรือเสียโอกาสในปีนั้นได้เลย” คุณณัฐพัชร์ กล่าว

การให้น้ำช่วงการออกดอก ต้องมีระยะที่เหมาะสม เช่น ช่วงที่กำลังดอกพุ่ง เพิ่มการให้น้ำเพื่อให้ดอกพุ่งเต็มที่ ซึ่งดอกพัฒนาการตั้งแต่ ไข่ปลา ตาปู เหยียดตีนหนู มะเขือพวงเล็ก มะเขือพวงใหญ่ หัวกำไร และช่วงหัวกำไรจะเริ่มเข้าดอกหอม ต้องปรับเรื่องการให้น้ำใหม่ เพราะระยะใกล้ดอกหอมจะลดการให้น้ำลง ทั้งนี้ ทำให้ดอกซึ่งมีน้ำหวานอยู่มีความเข้มข้นขึ้น จะเป็นตัวจับเกสรตัวผู้ได้ดี ทำให้การปฏิสนธิของดอกสมบูรณ์ขึ้น หากให้น้ำโดยไม่ได้ควบคุม จะทำให้น้ำหวานไม่เหนียวข้น การสัมผัสกับเกสรตัวผู้ การปฏิสนธิ ก็ไม่ดีเท่าที่ควร เป็นอีกสิ่งที่ต้องควบคุม

ประมูลทุเรียนสวนสกุลรุ่ง รายได้มอบให้โรงเรียนบ้านกุยแหย่ ตำบลลิ่นถิ่น

ดอกทุเรียนจะบานเพื่อรองรับการผสมเพียงแค่คืนเดียวเท่านั้น ถ้าพลาดก็เท่ากับไม่มีการผสมเกสรของดอกนั้นๆ ไปเลย จึงถือเป็นระยะที่สำคัญมาก เมื่อผ่านพ้น 2 เดือนช่วงที่ดอกบาน เข้าสู่กระบวนการติดผล ซึ่งมีระยะตั้งแต่หางแย้ หางแย้ไหม้ โดยตั้งแต่ปลายขึ้นไป ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน เมื่อหางแย้ไหม้หมด ก็เริ่มนับเป็นวันที่ 1 ซึ่งการทำทุเรียนคุณภาพก็เริ่มจากตรงนี้ โดยดูพันธุ์ทุเรียนประกอบกัน หากเป็นหมอนทอง อยู่ที่ 120 วัน เป็นระยะที่ทุเรียนสุก แก่พร้อมเก็บผลผลิตได้ หากเป็นพันธุ์อื่นต้องดูว่าอายุการแก่ของทุเรียนอยู่กี่วัน ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ หากทำเป็นทุเรียนคุณภาพ ต้องดูแลใส่ใจตรงนี้ เมื่อหางแย้ไหม้หมด ก็เขียนวันติดไว้ที่ผลหรือต้นว่าดอกบานวันที่เท่าไร นับจากนั้นไปอีกประมาณ 120 วัน จะเป็นการประเมินคุณภาพทุเรียนได้ค่อนข้างแม่นยำ

“ระยะนี้ ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญที่ต้องคอยเสริมคือ แคลเซียมโบรอน ถือเป็นธาตุอาหารที่สำคัญตั้งแต่ออกดอก ไปจนถึงไข่ไก่ ไข่ห่าน และไม่ได้ฉีดพ่นทางใบเพียงอย่างเดียว ต้องใส่ทางดินด้วย เนื่องจากแคลเซียมเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช โดยแคลเซียมมีบทบาทกับทุกส่วนที่พืชเจริญเติบโตออกมาใหม่ ไม่ว่าเป็นดอก ก้าน ส่วนต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นในแต่ละวัน แคลเซียมเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ทั้งหมด จึงขาดไม่ได้” คุณณัฐพัชร์ กล่าว

เมื่อออกผลขนาดประมาณไข่นกกระทา มาเป็นไข่ไก่ ก็เริ่มให้ปุ๋ยธาตุอาหารหลัก โดยเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของไนโตรเจน (N) ที่สูงขึ้น เพื่อช่วยแต่งทรงพุ่มของทุเรียนให้สวยงาม พร้อมสัดส่วนฟอสฟอรัส (P) ที่มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากฟอสฟอรัสช่วยเรื่องของการสร้างเม็ดทุเรียน ซึ่งทุเรียนต้องสร้างเม็ดเพื่อจะเป็นตัวดึงสารอาหารเข้ามาสู่ผล ถ้าไม่มีเม็ด การพัฒนาของผลก็ไม่ดี ต้องสร้างเม็ดก่อน ให้เม็ดสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาเป็นผลที่สมบูรณ์นั่นเอง

หากช่วงนี้มีฝนตกด้วย ต้นทุเรียนมีปุ๋ยส่วนหนึ่งที่ได้จากน้ำจากอากาศอยู่แล้ว ควรลดสัดส่วนของไนโตรเจน (N) ลง เพื่อไม่ต้องการให้สูงเกินไปเพราะทำให้สร้างส่วนอื่นแทนการพัฒนาของผล จึงต้องมีการควบคุมด้วย การใช้ปุ๋ยช่วงนี้ควรประเมินสภาพแวดล้อม สภาพอากาศรวมด้วย เหตุผลหลักๆ ก็เพื่อดึงทรง สร้างผล

สวนสกุลรุ่ง ปลูกทุเรียนจันทบุรี 10 เนื้อนุ่ม หอมละมุน หวานอร่อย

ขนาดผลจากไข่ไก่ มาเป็นไข่ห่าน แล้วมาเป็นกระป๋องนม ขนาดผลระยะนี้ มีอายุประมาณ 60 วันแล้ว ก็เริ่มสร้างเนื้อ ช่วงนี้ก็เปลี่ยนสูตรปุ๋ยอีก จะเป็นปุ๋ยที่มีโพแทสเซียม (K) สูง ซึ่งมีบทบาทในการสร้างเนื้อ สร้างน้ำหนัก รสชาติ ความหวาน ดังนั้น ก็ใส่ปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง ไนโตรเจน (N) เลี้ยงไว้ไม่ให้ต้นเสียทรง ฟอสฟอรัส (P) ไม่ควรสูงมาก เพราะเม็ดจะหยุดพัฒนาแล้ว จะไม่ให้พัฒนาต่อ เพราะจะกลายเป็นทุเรียนเม็ดโต ปรับฟอสฟอรัส (P) ลงมา เม็ดไม่โตก็ได้เนื้อมากขึ้น อาจใช้ปุ๋ยสูตร 15-5-25 ก็ได้ และจากระยะ 60 วัน ไป 70-75-80 วัน ถ้าต้องการให้ผลโตเร็ว ได้เนื้อมากขึ้น อาจเปลี่ยนสูตรให้โพแทสเซียม (K) สูงขึ้นอีกเล็กน้อย หรือจะยืนสูตร 15-5-25 ไปตลอดก็ได้

ช่วงนี้เป็นช่วงขยายขนาดผล ซึ่งขยายไปได้ถึงประมาณ 90 กว่าวัน แล้วก็หยุด จากนั้นก็พัฒนาภายใน ดังนั้น ปุ๋ยก็ใช้ไปถึงประมาณ 90 กว่าวันถึงหยุดให้ปุ๋ยทางดิน ช่วงนี้กระบวนการภายในก็เริ่มสร้างสี สร้างเนื้อ สร้างความหวาน สร้างคุณภาพผลผลิต แคลเซียมโบรอนก็ควรต้องใช้อยู่ประจำ

ทุเรียนเมื่ออายุเลย 90 วันไปแล้ว อาจถึง 110 วัน หรือ 115 วัน ก็เริ่มเห็นแล้วว่าการพัฒนาเป็นไปได้ขนาดไหน เกษตรกรอาจมีการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตว่าเนื้อข้างในเป็นอย่างไร การตรวจสอบง่ายๆ ก็คือ เก็บผลที่เป็นหางดอก นำลงมาผ่าดูว่าเนื้อข้างในพัฒนาถึงไหนแล้ว เพื่อประเมินการตัดทุเรียน วิธีนี้สามารถกำหนดวันตัดได้ชัดเจน ได้ทุเรียนที่ชัดเจนเรื่องของคุณภาพ ที่ใส่ใจรายละเอียดมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการตรวจเช็กก่อนตัด

“ถ้าภาวะปกติ ก่อนตัดสัก 5 วัน งดให้น้ำ เพราะทุเรียนเมื่อแก่แล้ว ผลไม่ได้มีการพัฒนาแล้ว ก็ต้องให้คายน้ำ คายความชื้นออกมา จึงต้องงดให้น้ำด้วย วิธีนี้ทำให้เนื้อทุเรียนแห้ง ไม่แฉะ ไส้ไม่ซึม ซึ่งมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รสชาติดี เนื้อไม่แฉะนั่นเอง” คุณณัฐพัชร์ กล่าวปิดท้าย