อภัยภูเบศร ผนึกกำลังชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรี สู้วิกฤตโลกร้อน ระดมปลูกต้นไม้สมุนไพร 2,222 ต้น บนพื้นที่กว่า 80 ไร่ เพื่อรักษาสมดุลโลกและคน ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคม จังหวัดปราจีนบุรี นับร้อยคน ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเดชะ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีเกษตรอำเภอบ้านสร้าง สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด สภาเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี กำนันตำบลบางพลวง ผู้ใหญ่บ้านบางไทร เจ้าหน้าที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทุ่งบางพลวงจำนวน 2,222 ต้น บนพื้นที่ จำนวน 83 ไร่ 80 ตารางวา ซึ่งได้รับบริจาคมาจาก คุณปราณี สัจจกมล เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้มูลนิธิฯ ใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์พันธุ์บัวและพืชท้องถิ่น และเพื่อปลูกวัตถุดิบสมุนไพร โดยเฉพาะกลีบบัวหลวงสีแดง (ชมพู) ในการทำผลิตภัณฑ์อภัยบี ซึ่งช่วยในการนอนหลับ ฟื้นฟูความจำและป้องกันสมองเสื่อม

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ที่เลือกปลูกต้นไม้ในวันนี้ เนื่องจากเป็นวันสำคัญของชาวอภัยภูเบศร ซึ่งตรงกับวันที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) รอนแรมผ่านหนทางลำเค็ญจากพระตะบองถึงปราจีนบุรี ส่วนจำนวนต้นไม้ 2,222 ต้นมีความหมาย หมายถึงความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความรักความเมตตาที่มอบให้แก่กัน แม้ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกจนมองไม่เห็นว่าจะเยียวยาได้อย่างไร แต่ถ้าเราลงมือทำพร้อมๆ กัน ทั้งโลกมันต้องช่วยได้

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า สภาพพื้นที่เดิมของที่ดินดังกล่าว เป็นพื้นที่ทำนา มูลนิธิฯ ได้พัฒนาพื้นที่ตามแนวคิดโคก หนอง นา ทำให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้สมุนไพรบนโคก เมื่อที่ดินมีความเหมาะสมระดับหนึ่ง จึงทำการปลูกต้นไม้สมุนไพรจำนวน 2,222 ต้น เพื่อช่วยลดโลกร้อนขึ้น ซึ่งโลกก็คงเหมือนคนที่เป็นไข้สูง ต้องการยาลดไข้ ต้นไม้เป็นยาลดไข้ที่ดีที่สุด ต้นไม้ 1 ต้นลดอุณหภูมิรอบๆ ต้นได้ 2-4 องศา ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มออกซิเจน

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงานในการตอบสนองต่อปัญหาของสังคมตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม โรคโควิด-19 การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการลดโลกร้อนนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งมาตลอด เช่น การมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ที่มีการรับรองมาตรฐาน นอกจากอินทรียวัตถุจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาสะสมไว้แล้ว ยังจะห้ามการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น การปลูกต้นไม้สมุนไพรครั้งนอกจากเป็นการรักษาโลกร้อน แล้วยังทำให้มีคลังยา คลังอาหาร คลังปุ๋ย คลังไม้ใช้สอย ทั้งช่วยรักษาผืนดินผืนน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ถือเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับมูลนิธิฯ และประเทศชาติด้วย

“การปลูกต้นไม้สมุนไพรจึงเป็นการช่วยทั้งโลกและคน ถือเป็นการผนึกกำลังของเครือข่ายภาคประชาสังคมของมูลนิธิฯ ในจังหวัดปราจีนบุรีที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในงานนี้ได้กำหนดชนิดของต้นไม้ไว้ 10 ชนิด คือ กุ่ม มะดัน มะกอกน้ำ มะขวิด มะตูม มะคำไกร เลี่ยนดอกม่วง ทองหลาง พฤกษ์ ก้ามปูหรือจามจุรี โดยระยะแรกมุ่งเน้นที่ต้นไม้เร็วคือ ฉำฉาหรือก้ามปูหรือจามจุรี ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงมีคุณสมบัติในการปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้นด้วยการทำงานร่วมกับแบคทีเรียในการตรึงไนโตรเจน ใบใช้ทำปุ๋ยหมักได้ มีการนำไปผสมดินขาย เป็นดินผสมใบก้ามปู หรือนำเฉพาะใบก้ามปูแห้งมาใส่ถุงขาย สามารถสร้างอาชีพได้ ส่วนชนิดอื่นเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นดั้งเดิม ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นทั้งอาหาร ยาสมุนไพรและไม้ใช้สอยดังนี้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

ด้าน นางระตะนะ ศรีวรกุล อดีตประธานสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนช่วยกันทำงานเต็มที่ด้วยพลังกายพลังใจที่เต็มเปี่ยม ส่วนหนึ่งจากการที่ปีนี้ฝั่งปราจีนบุรีเห็นไฟป่าลุกโชนข้ามวันข้ามคืนบริเวณเขาอีโต้ทางขึ้นเขาใหญ่และทราบข่าวไฟป่าลุกลามที่จังหวัดนครนายกที่อยู่ไม่ไกลกัน รวมทั้งปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วง ตอนนี้จะเข้าพรรษาแล้วดินยังไม่ชุ่มน้ำ ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญในกิจกรรมปลูกต้นไม้สมุนไพรในทุ่งบางพลวงครั้งนี้มาก และเชื่อมั่นในมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในการดูแลต้นไม้ที่พวกเขาปลูกให้เติบโตต่อไป ทางสหกรณ์จะมาขอใช้ใบก้ามปูเอาไปทำปุ๋ยด้วย ทางเครือข่ายอยากให้มีหน่วยงานที่ลงมือทำอย่างมูลนิธิฯ พร้อมจะร่วมมือ ทั้งแรงกายและการสนับสนุนต้นไม้ ขอให้แจ้งมา

สำหรับสมุนไพรที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าว มีสรรพคุณทางยามากมาย อาทิ

เลี่ยนดอกม่วง Melia azedarach L. ใบเป็นส่วนผสมในตำรับ ยาทาพระเส้น ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ทั้งต้น เป็นยาอายุวัฒนะ ดอกมีกลิ่นหอมใช้สกัดน้ำหอมและใช้บูชาพระ

มะตูม Aegle marmelos (L.) Corrêa เป็นยาอายุวัฒนะ ผลนำมาทำน้ำมะตูม ชามะตูม ใบสด คั้นน้ำกิน แก้หลอดลมอักเสบ แก้หวัด แก้ผดผื่นคัน ไทรอยด์เป็นพิษ ยอดอ่อนกินเป็นผัก ใบคั้นน้ำทำแกงบวนในงานมงคล

มะคำไก่ Putranjiva roxburghii Wall. เด่นในด้านต้านการอักเสบ ใบเข้าตำรับยาทาพระเส้นในตำราพระโอสถพระนายณ์ ใบ ตำพอกหรือดองเหล้าทาแก้ปวดข้อปวดเข่า ราก แก้กษัย แก้เส้นเย็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เอ็นพิการ เมล็ด ใช้ทำเป็นลูกประคำ ไม้ใช้สร้างบ้าน ใช้ทำด้ามจับเครื่องมือทางเกษตร

มะกอกน้ำ Elaeocarpus hydgrophilus Kurz เป็นต้นไม้สมุนไพร ที่คนปราจีนบุรีเชี่ยวชาญในการดอง แช่อิ่ม หรือกินกับน้ำปลาหวาน พริกเกลือ ช่วยแก้ไอ แก้เสมหะ ระบายความร้อนในร่างกาย เมล็ดกลั่นเป็นน้ำมันได้เหมือนน้ำมันมะกอก

มะดัน Garcinia schomburgkiana Pierre เป็นต้นไม้สมุนไพรที่คนปราจีนบุรีเชี่ยวชาญในการนำผลไปดอง แช่อิ่ม ผล ใบอ่อนช่วยปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร มีการนำผลมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ สรรพคุณทางยาคือช่วยแก้ไอ ไข้หวัด กิ่งมะดันใช้หนีบไก่ปิ้งทำให้มีกลิ่นหอมขึ้น

มะขวิด Limonia acidissima L. ใช้ปะโยชน์เช่นเดียวกับมะตูม ยางเหนียวรอบเมล็ดที่ยังไม่สุกใช้เป็นกาวทำเครื่องประดับ เป็นกาวติดกระดาษ และผสมกับปูนขาวใช้เป็นวัสดุอุดรอยต่อ ป้องกันน้ำรั่วซึมได้

ทองหลาง Erythrina fusca Lour. ใบอ่อนกินสดกับเมี่ยงปลาแนม เมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู เป็นพืชบำรุงดิน หรือนำไปอ่อนไปลวกกินกับแกงหรือใส่ในแกงได้ เปลือก ใบ ดอก เข้ายาอายุวัฒนะ ทองหลางยังให้ความชุ่มชื้นและเติมปุ๋ยให้ดิน

กุ่มน้ำ Crateva religious G.Forst. ผักกุ่มดองโดยใช้ดอกและใบอ่อนเป็นเมนูผักบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง คู่วิถีคนปราจีนบุรี เปลือกเป็นยาแก้อักเสบ ขับปัสสาวะ ช่วยบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต มีข้อควรระวังคือใบและกิ่งมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เป็นพิษ ไม่ควรกินสด ควรดองหรือต้มก่อนกิน