ลดต้นทุนการผลิตทางรอดของเกษตรกรไทย

คำว่า ลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรคิดแบบง่ายๆ คือการประหยัด ประหยัดอย่างไรให้ผลิตผลออกมาได้คุณภาพ ได้มีตลาดสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรในเมืองไทยส่วนใหญ่จะคิดจบง่ายๆ คือไม่มีแรงงาน ไม่มีเงินทำ ก็เลยทำตามมีตามเกิด อีกอย่างหนึ่งก็คือเกษตรกรไทยมีความเชื่อว่า ทำมากับมือ ทำมาตลอดปี นักวิชาการจะเอาอะไรมาขายอีกนะ จะเอาอะไรมาแจกอีกนะ สุดท้ายตนเองก็กลับมาทำแบบวิถีดั้งเดิมเหมือนเดิม

จริงครับถูกต้องครับ เราต้องมีพื้นฐานการปลูกพืช พื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ ใจต้องรักอาชีพเกษตร ปลูกแล้วขายใคร คือคำถามสุดท้ายที่ได้ยิน ถ้าเราคิดว่าปลูกแค่พอกินเองก่อน เหลือค่อยแบ่งปัน คำตอบนี้อาจจะมีคนชอบและคนไม่ชอบอีกเช่นกัน เกษตรกรบางท่านก็อยากปลูกอยากเลี้ยงสัตว์แล้วได้เงิน ความคิดคิดได้ครับ แต่ถ้าจัดระบบได้ก็จะเป็นการดี

ขอสร้างความเข้าใจกันสักนิด อะไรคือ การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่า การลดต้นทุนอะไรบ้างครับ จะอธิบายง่ายๆ ลดค่าปัจจัยการผลิต เช่น ลดปุ๋ยเคมี ลดสารเคมี ลดจำนวนเมล็ดพันธุ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะทำให้ต้นทุนต่อไร่ลดลง ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นและลดการสูญเปล่า เช่น ถ้าดินมีปุ๋ยอยู่ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก หรือไม่จำเป็นต้องใช้อาหารเสริมพืชราคาแพง หรือใส่ปุ๋ยแล้วให้น้ำเพื่อป้องกันการระเหิดไปในอากาศ

แล้วการเพิ่มผลผลิต ต้องเพิ่มอะไรบ้าง การทำความเข้าใจง่ายๆ วิธีการเพิ่มผลผลิต เช่น ให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง เพิ่มระบบน้ำ ใช้พันธุ์พืชที่ดี จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น เมื่อคิดต้นทุนกำไร ยังทำให้ต้นทุนต่อกิโลกรัมลดลง กำไรเพิ่มมากขึ้นด้วย เพิ่มแบบนี้เรียกว่าการจัดการระบบให้ดีขึ้น สร้างวินัยในการทำงาน ให้อาหารให้น้ำตรงตามเวลาที่ตั้งไว้ ต่อมาเรื่องการเพิ่มมูลค่าการตลาด เช่น แปรรูปให้เป็นทางเลือกเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคได้มีทางเลือก เพิ่มบรรจุภัณฑ์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสนใจ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น มีกำไรมากขึ้นด้วย ที่สำคัญที่สุด ต้องสร้างสตอรี่ สร้างเรื่องราวให้เป็นที่น่าสนใจและจดจำ

เพิ่มการทำเกษตรแบบผสมผสานทางเลือกแบบนี้ก็เป็นที่น่าสนใจและได้รับการยอมรับในปัจจุบัน อีกหนึ่งที่สำคัญคือ การดำรงชีพแบบพอเพียง เช่น ปลูกพืชผสมผสาน ทำให้ใช้ปัจจัยการผลิตมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปขายได้ เกิดการเกื้อกูลกัน นำไม้ นำผักโตเร็ว รายวัน รายเดือน รายปี ที่ผู้บริโภคได้ใช้ได้กินตลอดปี จะทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลงและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงจะเกิดการพึ่งตนเองได้มากขึ้น

การลดต้นทุนวัสดุในการปลูกผัก การสร้างโรงเรือน หลายคนเมื่อคิดถึงโรงเรือน ก็ต้องคิดถึงเงินเป็นแสน หลายแสน ย้อนกลับไปในอดีต เกษตรกรในอดีตเขาก็มีของดีนะครับ สร้างโรงเรือนโดยใช้ไม้ไผ่ ที่เป็นวัสดุหาง่าย ไม่ต้องใช้เหล็กที่ราคาแพง ถ้าพืชชนิดนั้นมีเวลา รอบเกิดอยู่ที่ 3-4 เดือนการเริ่มต้นจากลงทุนน้อยที่สุด อย่างการนำไม้ไผ่มาเป็นโครง มาทำเป็นโรงเรือนอย่างง่ายๆ เกิดการลดต้นทุนการผลิตไหม โรงเรือนปลูกผักหลายคนอาจนึกถึงโรงเรือนอย่างดีที่มีราคาหลักหมื่นหลักแสน ไม่ลองหันมามองสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา วัสดุที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นนำมาประยุกต์ใช้ดูบ้าง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ เพื่อต้องการพรางแสงให้ร่มเงาผักในยามแดดร้อนจัด เพื่อป้องกันพายุลูกเห็บที่จะทำความเสียหายให้กับผัก เพื่อป้องกันลมแรง ทำรูปทรงโค้งเตี้ย ไม่ทำสูงมากนัก เพื่ออากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี

ขอยกตัวอย่างเกษตรกรรายนี้ คุณภัทราพล วนะธนนนท์ เจ้าของสุขใจฟาร์ม ฟาร์มปลูกผักอินทรีย์ ที่ปลูกในตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง นี่คือโรงเรือนปลูกผักแบบมินิ ที่ทำจากไม้ไผ่ ยึดด้วยสายรัดเคเบิ้ลทาย มุงด้วยซาแรนกรองแสง ทำได้ง่ายๆ คนเดียวก็ทำได้ ในงบหลักพัน ราคาค่าไม้ไผ่ผ่าซีก 500 บาท ค่าซาแรนบังแดด 1,650 บาท ค่าสายรัดเคเบิ้ลทาย 340 บาท รวม 2,490 บาท ผู้เขียนมั่นใจว่าผักที่ปลูกจะให้ผลผลิตดี มีเรื่องราวที่ที่ดี ที่สำคัญอายุการใช้งานของวัสดุ สามารถปลูกได้หลายรอบ คุณภัทราพล ได้อธิบายว่า “ที่นี่คือ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน” ที่พร้อมให้ทุกคนมาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ท่านจะมาดูโรงเรือนปลูกผัก หลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสน ก็มีให้ดูเปรียบเทียบเอาละกันแล้วพิจารณาถึงต้นทุนเงินในกระเป๋าว่าจะเอาแบบไหน เหมาะสมกับรูปแบบใด ตัวเราต้องพึ่งตัวเราให้ได้มากที่สุด”

ลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนเกษตรกรสบายใจ เป็นความสุขทางใจก่อน เมื่อเราอยู่ในยุคที่ต้องพึ่งตนเองก่อน เงินในกระเป๋าก็ต้องคิดให้หนักว่าจะใช้สอยอย่างประหยัดได้อย่างไร ย้ำเสมอว่าเราต้องรอด เกษตรกรอย่างเราต้องเรา ค่อยๆ ทำจากเล็กๆ ไปหาใหญ่ ค่อยเสริมองค์ความรู้เข้าไป จุดเริ่มต้นจากเล็กๆ จะเป็นความยั่งยืนในที่สุด