อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จัดอบรมเกษตรกรและพัฒนาวิทยากรพี่เลี้ยง ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร

สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค เร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่นำมาพัฒนาและใช้ในการอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร การทำงานโรงเรียนเกษตรกรมุ่งเน้นให้เกษตรกรร่วมกันทำการศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง (Learning by doing) เริ่มตั้งแต่การวางแผนการศึกษา วิเคราะห์ ทดลอง และทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีการพบปะกันระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในไร่นา ตั้งแต่เริ่มปลูกเพื่อจะได้เรียนรู้การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละช่วงอายุการเจริญเติบโต ความสัมพันธ์ และการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศดิน น้ำ และพืช แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจจัดการกับพืชที่ปลูก ซึ่งวิธีการนี้เป็นการฝึกให้เกษตรกรได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตนเอง รวมถึงการนำวิธีการที่ได้ผลจากคำแนะนำของทางราชการหรือความรู้จากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นมาฝึกทำเองอย่างง่ายๆ เพื่อพิสูจน์และเปรียบเทียบผล

โดยแบ่งเกษตรกรออกเป็นกลุ่มทำงานที่สอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ ให้เกษตรกรมีโอกาสนำเสนอผล อภิปราย และตัดสินใจเลือกวิธีการที่เหมาะสมร่วมกันในกลุ่มของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดอบรมให้

นายปรีชา สายแสง เกษตรจังหวัดสระบุรี เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรมาใช้ถ่ายทอดความรู้ในการแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาดเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2535 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งได้มีการปรับปรุงและประยุกต์ใช้เทคนิคตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรมาพัฒนากิจกรรมโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตลอดกระบวนการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่การจัดการดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช การเตรียมพันธุ์ที่สะอาด เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ การควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (IPM) ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเองผ่านแปลงเรียนรู้ ทดสอบ พิสูจน์ทราบด้วยตัวของเกษตรกรเองจนเกิดความเชื่อมั่น แล้วนำไปปฏิบัติ และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นด้วยกันเอง โดยขับเคลื่อนในงานส่งเสริมการเกษตรผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) มีเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงช่วยจัดการการเรียนรู้ร่วมกันตลอดกระบวนการ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับทราบถึงเทคนิควิธีการ และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อจะนำไปพัฒนาศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร 77 จังหวัดต้นแบบ ในพื้นที่รับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

​ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค ได้คัดเลือกกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลโคกแย้ หมู่ที่ 15 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบด้านการผลิตข้าว พร้อมกำหนดจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ด้านการบริหารจัดการศัตรูข้าว ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2566 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์อย่างถูกต้อง รวมถึงวิธีการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์ศัตรูข้าว ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรและชุมชน โดยมีสมาชิกแปลงใหญ่ข้าวตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรซึ่งบรรจุใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ จำนวน 30 ราย เป็นเป้าหมายในการอบรมถ่ายทอดความรู้ นำทีมถ่ายทอดความรู้

โดย นายปรีชา พุทธิโชติ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และทีมงานสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 แบ่งการอบรมออกเป็น 5 ครั้งทุกวันศุกร์ ดังนี้

​- ครั้งที่ 1 วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกษตรกร การบรรยายหัวข้อ การผลิตปุ๋ยหมักผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน

​- ครั้งที่ 2 วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วย การลงแปลงสำรวจระบบนิเวศ/วิเคราะห์แปลงเรียนรู้ และนำเสนอผลการสำรวจแปลง รับฟังบรรยายและฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์และศัตรูพืชในแปลงนาข้าว

​- ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ประกอบด้วย การลงแปลงสำรวจระบบนิเวศ/วิเคราะห์แปลงเรียนรู้ และนำเสนอผลการสำรวจแปลง การบรรยายและฝึกปฏิบัติทำสารสกัดจากสะเดาป้องกันศัตรูพืช

​- ครั้งที่ 4 วันที่ 23 มิถุนายน 2566 การลงแปลงสำรวจระบบนิเวศ/วิเคราะห์แปลงเรียนรู้ และนำเสนอผลการสำรวจแปลง รับฟังบรรยายหัวข้อเรื่อง ความรู้เรื่องโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ

​- ครั้งที่ 5 วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 การลงแปลงสำรวจระบบนิเวศ/วิเคราะห์แปลงเรียนรู้ และนำเสนอผลการสำรวจแปลง รับฟังบรรยายหัวข้อเรื่อง การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย

นางสาวอัจฉรา สุขสมบูรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน เกษตรอำเภอหนองแค กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสำหรับเจ้าของแปลงเรียนรู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรครั้งนี้ โดยเป็นแปลงนาข้าวของ นางสาวคำพูล สุทาดล พื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 30 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นแปลงเรียนรู้ จำนวน 15 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก คือ กข 85 เริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 คาดว่าจะเก็บเกี่ยววันที่ 13 สิงหาคม 2566

​ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติทุกครั้งที่พบกันในโรงเรียนเกษตรกร คือ การลงสำรวจแปลงนาข้าว โดยแบ่งเกษตรกรออกเป็นกลุ่ม ลงแปลงปลูกพืชที่ใช้เป็นแปลงเรียนรู้เพื่อตรวจสภาพต่างๆ ในแปลงปลูก การเก็บตัวอย่างพืช การโฉบแมลง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ แล้วบันทึกสิ่งที่พบ ตัวอย่างเช่น ความหนาแน่นของศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืช ความสมบูรณ์ของพืช สภาพทั่วไปของแปลงปลูก สภาพภูมิอากาศ โดยมีวิทยากรพี่เลี้ยงเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ จากนั้น วิเคราะห์ระบบนิเวศในแปลงปลูก ถือเป็นหัวใจของการประชุมในแต่ละครั้งที่จะต้องปฏิบัติ โดยแต่ละกลุ่มจะใช้ข้อมูลที่ได้จากการลงสำรวจแปลง แล้วร่วมกันแสดงออกมาเป็นภาพ ซึ่งภาพจะประกอบด้วย ศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติ สภาพแปลงปลูกพืช สภาพอากาศ และการปฏิบัติอื่นๆ ในช่วงนั้น และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ภายในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปในการตัดสินใจดำเนินการ ต่อมาเป็น การเสนอผลการตัดสินใจ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ร่วมกันภายในกลุ่มจะถูกนำเสนอโดยให้ทุกกลุ่มส่งผู้แทนมานำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อการอภิปรายและเป็นการฝึกหัดเสนอผลต่อคนหมู่มาก ในระหว่างการนำเสนอจะมีการซักถาม และตอบข้อซักถาม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยวิทยากรพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและบันทึกข้อสรุปผลการตัดสินใจของเกษตรกร ข้อมูลจากการตัดสินใจนี้จะใช้เป็นข้อมูลให้เจ้าของแปลงเรียนรู้นั้นดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับทราบถึงผลของการดำเนินการตามที่ตัดสินใจกันไว้แล้วในครั้งต่อไปที่นัดมาพบปะกัน ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ สมาชิกได้รับทราบข้อมูลการปฏิบัติของเกษตรกรรายอื่น และพิจารณานำไปใช้ในแปลงของตนเอง ในกรณีที่มีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือมีวิธีการในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันหลายวิธี อาจจะใช้เป็นประเด็นเพื่อทดลองพิสูจน์ทราบ ด้วยการแบ่งพื้นที่แปลงเรียนรู้ทำการทดลองหรือฝึกปฏิบัติได้

​ด้าน นางอัจฉรี แข็งบุญ ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลโคกแย้ หมู่ที่ 15 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี กล่าวถึง การจัดอบรมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรว่า สมาชิกกลุ่มได้รับประโยชน์มากจากการอบรมครั้งนี้ ได้เรียนรู้ลักษณะศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ จะได้ช่วยกันรักษาระบบนิเวศวิทยา และใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องลดน้อยลง รวมทั้งได้ทราบถึงสถานการณ์ในแปลงนาข้าวที่บางครั้งการระบาดอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำความเสียหายกับต้นพืช แล้วสมาชิกแปลงใหญ่ที่นี่ทุกคนมีความกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มาแปลงนากันตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อลงโฉบแมลงแล้วนำมาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการอบรมได้มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ราย ได้แก่ สมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่ 2 กลุ่ม และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรน้องใหม่ 1 กลุ่ม มีการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ซึ่งช่วยให้สมาชิกในกลุ่มได้ผ่อนคลาย กระตุ้นให้เกษตรกรเข้าใจถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหา การฝึกหัดสร้างความเป็นผู้นำ ทำให้มีความสนิทสนมกันเพิ่มมากขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกร

นอกจากนี้ ทางผู้จัดยังได้เชิญวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อพิเศษ เช่น เรื่องการใช้สารเคมี วงจรชีวิตของศัตรูพืช เป็นต้น และหลังการอบรมยังมีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณผู้ผ่านการอบรมครั้งนี้จาก ท่านปรีชา สายแสง เกษตรจังหวัดสระบุรีด้วย

​แม้ว่าการจัดอบรมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรทั้ง 5 ครั้งจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทั้งทีมวิทยากรพี่เลี้ยงและสมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวตำบลโคกแย้ ก็ยังมีการติดตามผลการดำเนินงานในแปลงนาอยู่เป็นระยะ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบข้าวในพื้นที่ให้ได้ และดูแลผลผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต เพื่อขยายผลไปสู่สมาชิกเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ต่อไป