ผู้เขียน | นายนพรัตน์ โชติเกษมกุล |
---|---|
เผยแพร่ |
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เร่งเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนหรือปลานีโม่รวม 15 ชนิด ปีละกว่า 4 หมื่นตัว ทั้งขายตรง และขายออนไลน์ ป้อนตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ ราคาตั้งแต่ตัวละ 35-350 บาท โดยส่วนหนึ่งปล่อยกลับสู่ทะเล เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล
วันนี้ (27 ก.ค.66) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง น.ส พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ พาผู้สื่อข่าวไปดูความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนหรือปลานีโม่รวม 15 สายพันธุ์ ทั้งปลาการ์ตูนประจำถิ่นและปลาการ์ตูนลูกผสม เช่น ปลาการ์ตูนส้ม-ขาว,ลูกผสมปีกัสโซ่,แพลตตินั่ม,เพอร์คูล่า,แบลคสโนว์ การ์ตูนอานม้า,การ์ตูนลายปล้อง การ์ตูนมะเขือเทศ ฯลฯ ซึ่งเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่ปี 2553 และขยายสายพันธุ์ที่มีสีสันสวยงาม ลวดลายโดดเด่น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ
จนกระทั่งปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ตัว ราคาขายถูกสุดเช่น ส้ม-ขาว ซึ่งเป็นปลาการ์ตูนประจำถิ่น ขนาดความยาวไม่เกิน 1.6 เซนติเมตร ราคาตัวละ 35 บาท ขนาด 3-4 เซนติเมตรตัวละ 70 บาท ส่วนที่มีราคาแพงที่สุดคือปลาการ์ตูนลูกผสมในกลุ่มปิกัสโซ่ ขนาดความยาว 3-4 เซนติเมตร ราคาตัวละ 350 บาท โดยเปิดขายตรงให้ลูกค้าไปเลือกเองที่ศูนย์วิจัยฯ และขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีการนำภาพปลาการ์ตูนไปโพสลงในเฟสบุ๊กของศูนย์วิจัยฯ หากลูกค้าชอบก็จะติดต่อซื้อขายและส่งปลาไปให้ถึงบ้าน พร้อมคำแนะนำการเลี้ยงที่ถูกวิธี ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 300,000 บาทต่อปี
ส่วนลูกค้ามาจากทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพและมาเลเซีย ซึ่งแต่ละปีจะนำปลาการ์ตูนส้มขาว ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่น ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติกว่า 10,000 ตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ สร้างสีสันและความสวยงามให้กับแหล่งดำน้ำดูปะการังโดยเฉพาะในจ.ตรังและฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีปลาการ์ตูนแหวกว่ายอยู่คู่กับดอกไม้ทะเลตามเกาะแก่งต่างๆ มากขึ้น ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเกษตรกรสนใจซื้อปลาการ์ตูนไปเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์และส่งขายเป็นรายได้เสริมเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเกษตรกรรายใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจ.ตรัง หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 075-274077-8
สำหรับปลาการ์ตูน 1 คู่จะวางไข่เดือนละ 2 ครั้ง ๆ ละ 300-800 ฟอง อายุประมาณ 2-3 เดือนก็เริ่มจับขายได้ โดยให้กินไรน้ำเค็ม และอาหารเม็ดขนาดเล็กตามอายุของปลาวันละ 2 ครั้งคือเช้ากับเย็น เมื่อปลาเริ่มโตขึ้นจะสลับกับการให้อาหารสด เช่นเนื้อหอยและเนื้อกุ้งสับละเอียด ซึ่งเกษตรกรมือใหม่จะมีอาหารปลาพร้อมน้ำทะเลที่เหมาะกับการเลี้ยงแถมให้ฟรี
ขณะที่ น.ส พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรังกล่าวว่า ตอนนี้ที่ศูนย์วิจัยฯ สามารถเพาะปลาการ์ตูนได้ 15 ชนิดส่วนที่ลูกค้าต้องการเยอะที่สุดคือสายพันธุ์ลูกผสมชื่อปิกัสโซ่ ราคาตัวละ 350 บาท ความยาว 3-4 เซน ส่วนอีกสายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดคือส้ม-ขาว ขนาด 3-4 เซนราคา 70 บาท ซึ่งตอนนี้สามารถผลิตปลาการ์ตูนได้ปีละประมาณ 30,000-40,000 ตัว ลูกค้ามีทั้งในจ.ตรังและต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ขายระบบออนไลน์ ส่งเข้ากรุงเทพฯและมาเลเซีย
ส่วนช่องทางการขายมี 2 แบบคือให้ลูกค้ามาเลือกปลาการ์ตูนที่ศูนย์ฯ เอง และแบบขายออนไลน์ โดยให้เจ้าหน้าที่ฯ ส่งภาพไปในไลน์ของลูกค้าประจำให้เขาเลือกมาว่าต้องการลักษณะแบบไหน ก็จะส่งให้ตามที่ต้องการ แต่ละปีขายได้ประมาณ 20,000-30,000 ตัวส่วนที่เหลือจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มผลผลิตในธรรมชาติ ส่วนแนวโน้มความต้องการของตลาดเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มีลูกค้าต้องการมากขั้นทั้งในและต่างจังหวัด
ซึ่งมองว่าลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเพราะสีสันและลูกผสมที่ผลิตได้ สีสันจะแตกต่างจากปลาการ์ตูนปกติ อาจจะเป็นสีส้มหรือสีดำที่เด่นขึ้นมาจากสายพันธุ์ปกติ ทำให้มีความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ส่วนเกษตรกรรายใดสนใจ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งตรัง.