เกษตรอำเภอหนองแค สนับสนุนการใช้ “แหนแดง” สารพัดประโยชน์ด้านการเกษตร

สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ขานรับนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนการใช้ “แหนแดง” เพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร เผยประโยชน์จากแหนแดงตอบโจทย์ในด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์

นายณรงค์เวทย์ สงวนพรรค Smart Farmer

นางสาวอัจฉรา สุขสมบูรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน เกษตรอำเภอหนองแค กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิดตัวโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร อันเนื่องมาจากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและผันผวน จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้พืชปุ๋ยสด มีการรณรงค์ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีที่เกษตรกรสนใจใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพงในขณะนี้คือ การผลิตและใช้แหนแดง

สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เห็นควรส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ “แหนแดง” เพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยได้มีการนำแหนแดงจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีมาทดลองเพาะเลี้ยงในสำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อเตรียมขยายผลและแบ่งปันไปยังเกษตรกร สำหรับ “แหนแดง” เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน

โดยกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล ทั้งนี้ จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจข้อมูลการผลิตและใช้แหนแดงพบว่า มีการส่งเสริมการผลิตและใช้แหนแดงในพื้นที่ 743 อำเภอ ใน 73 จังหวัด โดย 96% ใช้ในนาข้าว อาหารสัตว์ ปุ๋ยพืชสด และใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก ตามลำดับ ซึ่งการรับองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับแหนแดงได้รับโดยตรงจากนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด ศดปช.ระดับเขต หรือระดับจังหวัดในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น ศดปช. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน

Advertisement

นายณรงค์เวทย์ สงวนพรรค สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี และเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ตำบลกุ่มหัก อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแคและสื่อสังคมออนไลน์ว่า ขณะนี้มีการใช้แหนแดงในนาข้าว รวมทั้งใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และสัตว์อื่นๆ ดังนั้น จึงได้ทดลองเลี้ยงแหนแดงในเศษวัสดุเหลือใช้ ได้แก่ ล้อยางรถยนต์ กะละมัง และกระถาง เป็นต้น เพื่อเตรียมขยายผลแบ่งปันไปสู่เพื่อนสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งการเลี้ยงแหนแดงนับว่าตอบโจทย์ในการช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน สามารถนำไปใช้ในนาข้าวทำให้ข้าวเจริญเติบโตช่วยลดต้นทุน ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ได้เป็นอย่างดี ถือว่าแหนแดงเป็นพืชมหัศจรรย์และมีประโยชน์มาก ทั้งด้านการเกษตร ประมง และเลี้ยงสัตว์

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โทร. 036-371-230

Advertisement