‘ลำไยสด’ ล้น เร่งปรับกลยุทธ์ สกัดปัญหา ‘รูดร่วง’

“ลำไย” เป็นผลไม้ที่มีเปลือกหุ้ม มีเนื้อในสีใสขุ่น รสชาติหวาน กรอบ ส่วนใหญ่ปลูกพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อระดับประเทศและขจรขจายในระดับโลกเห็นจะเป็นผลผลิตจากเชียงใหม่ ลำพูน ไล่มายังเชียงราย พะเยา เป็นต้น แต่ละปีจะมีการนำผลผลิตลำไยแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งส่งออกไปจีน เป็นกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่ ส่วนหนึ่งเกษตรกรก็เก็บช่อสดขายให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ

นางภูษณิศ ไชยมณี ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า เชียงใหม่และลำพูนเป็นแหล่งผลผลิตลำไยใหญ่ที่สุดใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เฉพาะของเชียงใหม่คาดว่าปีนี้มีประมาณ 1.3 แสนตัน ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์ช่วงต้นฤดูที่ผ่านมา การส่งออกลำไยอบแห้งชะลอตัว ล้งที่เคยรับซื้อประมาณ 10 กว่าแห่ง หยุดรับซื้อ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงมี นโยบายให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ พบว่าเกษตรกรที่ขายแบบรูดร่วง ราคาทรงตัวอยู่ที่ประมาณกิโลละ 12 บาท มีการรับซื้อไปแล้วตั้งแต่ต้นฤดูนำไปทำลำไยอบแห้ง ประมาณ 6 หมื่นตัน เหลืออีก 4 หมื่นตัน

“ยอมรับว่าช่วงนี้ตลาดหลักลำไยอบแห้งที่ประเทศจีนยังไม่ถึงช่วงบริโภคเพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน จังหวัดจึงให้อำเภอที่มีโรงอบออกสำรวจร่วมกับพาณิชย์จังหวัดเพื่อช่วยทำลำไยอบแห้งเก็บไว้ ขณะที่ตลาดส่งออกผลสด ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน ทุกตลาดเริ่มเปิดรับซื้อแบบไม่อั้นแล้ว จึงเป็นข่าวดีของเกษตรกรหันมาส่งผลสดกระจายภายในประเทศ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยของเชียงใหม่ออกมากที่สุดเกือบวันละ 2 พันต้น เมื่อแบ่งสัดส่วนการกระจายผลผลิตออกไปแล้วจะเหลือโอเวอร์ซัพพลายประมาณวันละ 500 ตัน”

นางภูษณิศ บอกด้วยว่า มีการหารือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายกระจายผลสดออกนอกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิต เชียงใหม่ได้โควต้าวันละ  500 ตัน จาก 1 พันตัน ต้องรวบรวมผลผลิต คัดแยกเกรด จัดลงแพคเกจกระจายออกทุกจังหวัดที่ไม่ใช่แหล่งผลิต รวม 22 จังหวัด จังหวัดละ 3 ตัน รวม 60 กว่าตัน ตามโครงการกระจายผลผลิตลำไยผ่านศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค ร่วมกับลำพูนและจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตอื่นๆ

“ถือเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่จะทำสดช่อส่งให้ผู้บริโภคในประเทศ กำหนดราคารับซื้อนำตลาดกิโลละ 20 บาท ในเกรด AA+A ที่เป็นช่อสด น่าจะดีกว่ารูดร่วง 12 บาท ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการกับจังหวัดเชียงใหม่มีตั้งแต่กลุ่มวิสาหกิจสหกรณ์ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจากทุกส่วนที่ร่วมมือกัน โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ (คจก.) ทำหน้าที่ประสานบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง”

ด้าน นางอำไพพรรณ กันทาแก้ว ผู้บริหารอำไพพรรณการเกษตร อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ เผยว่า ปีนี้ผลผลิตลำไยมากสุดในโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 100% จากไร่ละ 300-400 กิโลกรัม เป็น 700-800 กิโลกรัม เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะ อำเภอดอยเต่าฮอด จอมทอง ดอยหล่อ สันป่าตอง และ อำเภอแม่วาง มีผลผลิต 50,000-60,000 ตัน ผู้ประกอบการรับซื้อกว่า 30 ราย ปีที่แล้วผลผลิตน้อย ราคาสูง เกรด AA กิโลละ 38-42 บาท ลำไยอบแห้งกิโลละ 130 บาท ปีนี้ ลำไยสด เกรด AA ตกเหลือกิโลละ 12-13 บาท เกรด A 7 บาท ลำไยอบแห้ง 55 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง 60-70%

“ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ลำไยสดออกสู่ตลาดกว่า 30% แล้ว และออกสู่ตลาดมากที่สุดตั้งแต่กลางสิงหาคมนี้ ผู้ประกอบการรับซื้อลำไยสด หยุดรับซื้อวันที่ 3 สิงหาคม เป็นเวลา 1 วัน เพื่อเริ่มอบลำไยแห้ง เนื่องจากตลาดยังพอไปได้อยู่ และมีการสั่งซื้อจากจีน อินโดนีเซีย เวียดนามเพิ่มขึ้น”

ส่วนปัญหาลำไยสดปีนี้ คือ มีผลผลิตล้นตลาดและแรงงานหายาก ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว 90% คนไทยเพียง 10% เท่านั้น ค่าจ้างแรงงานจากวันละ 300 บาท เป็นวันละ 400-500 บาท ทางออกควรบริหารจัดการแผนการตลาดลำไยในฤดูและนอกฤดูอย่างเหมาะสม พร้อมส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ คัดคุณภาพผลผลิตเป็นหลัก เพื่อบรรจุลำไยสดส่งออกและบริโภคในประเทศแทน

ในส่วนของพะเยา ผลผลิตลำไยอันดับรองจากลำพูนและเชียงใหม่ ปีนี้ให้ผลผลิตประมาณ 2 หมื่นกว่าตัน มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว ต้นปีของฤดูกาลลำไยต้นเดือนกรกฎาคม 2560 การซื้อขายลำไยรูดร่วงของพะเยา เปิดตัวที่ AA กิโลกรัมละ 18 บาท ตามด้วยเกรด A 13 บาท B 8 บาท และ C 3 บาท เมื่อต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวราคาเปิดตัวกิโลละไม่ถึง 20 บาท ทำให้มองเห็นแนวโน้มราคาลำไยลดต่ำลงต่อเนื่อง ต่อมาไม่นานในเดือนกรกฎาคม 2560 ตลอดทั้งเดือน ราคาลำไยในพะเยาและทั่วภาคเหนือลดลงทุกวันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 บาท จนล่าสุดวันที่ 26 กรกฎาคม ราคาลำไยลดลงมาอยู่ที่กิโลละ 12-7-4-1 บาท ตามเกรดคือ AA A B และ C จนถึงวันนี้ (2 ส.ค.60) ไม่มีการขยับแม้แต่น้อย

เกษตรกรชาวสวนลำไยต่างดิ้นรนทุกวิธีทางเพื่อให้อยู่รอด เพราะต่างหวังเงินจากการขายลำไยมาใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้าน(กทบ.) โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 นี้ ทั้งนี้ยังไม่นับหนี้นอกระบบ

ที่ผ่านมา ชาวสวนลำไย ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ประชุมหารือเพื่อส่งเสียงความเดือดร้อนจากปัญหาราคาลำไยตกต่ำถึงรัฐบาล ทางจังหวัดไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จึงเร่งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะลงตัวที่รูปแบบการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคทุกช่องทาง เป็นการทำงานเชิงรุกที่หนักหน่วงเช่นกัน

โดยสหกรณ์จังหวัดพะเยา พาณิชย์จังหวัดพะเยา ได้ประสานงานผ่านเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) หรือตามงานต่างๆ ที่จะสามารถนำผลผลิตลำไยออกไปวางขาย เช่น สหกรณ์จังหวัดพะเยา ประสานงานขายผลผลิต “ลำไยสดช่อ” ถึงสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 5 ตัน

ไพรัตน์ เสมอเชื้อ สหกรณ์จังหวัดพะเยา กล่าวว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาลำไยจังหวัดดำเนินการเชิงรุกช่วยกระจายผลผลิตลำไยสดช่อ มีเกษตรกรจาก 5 อำเภอ เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย อำเภอเชียงคำ อำเภอแม่ใจ อำเภอภูซาง อำเภอจุน และ อำเภอเชียงม่วน พร้อมส่งขายผ่านทางสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร ฯลฯ จำนวนกว่า 1.3 พันตัน และสามารถเพิ่มเติมได้หากผู้บริโภคมีความต้องการต่อเนื่อง โดยราคารับซื้อปลายทางลำไยสดช่อ เกรด AA บวก A กิโลกรัมละ 30 บาท

“ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อลำไยสดช่อจากสหกรณ์ต่างจังหวัดเข้ามาแล้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่เพียงการส่งขายผ่านระบบของเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ การขายตรงจากสวนถึงผู้บริโภคผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์เป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่ต้องปรับวิธีการขายของเกษตรควบคู่กันด้วย ต้องเน้นการคัดคุณภาพของขนาดลำไย อาจจะเพิ่มขั้นตอนซึ่งนั่นก็หมายถึงราคาลำไยที่จะสูงตามคุณภาพและขนาดของลำไยเช่นกัน” ต่วนกฤษ จันทะนะ เกษตรกรชาวสวนลำไย ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า การระบายผลผลิตลำไยสดช่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐช่วยเหลือเกษตรกร ยังมีพ่อค้าเอกชนจากจีนตั้งจุดรับซื้อลำไยสดช่อเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนและเวียดนาม ในราคากิโลกรัมละ 15-18 บาท ตามขนาดผลและคุณภาพของลำไย เป็นราคาที่เกษตรกรสามารถยอมรับได้ เพราะหากรอราคาขายรูดร่วง เกษตรกรจะต้องหมดตัวและเป็นหนี้สินในระยะยาวเพราะรายได้ไม่คุ้มค่าต้นทุน

อีกด้านหนึ่งคือการปรับค่านิยมของเกษตรกรให้หันมาขายสดช่อลำไยคุณภาพ ไม่รอขายรูดร่วงเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นอาจจะประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในปีนี้อีก

ล่าสุดมีเอกชนติดต่ออยากได้เนื้อลำไยสด แต่เกษตรกรไม่มีความพร้อมสำหรับแปรรูป

นี่เป็นสถานการณ์ตลาดลำไยทางเหนือ ที่ชาวสวนร่วมกับภาครัฐจัดการแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดได้อย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน