โรคแพนิค

โรคแพนิค เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานอย่างมากจากอาการวิตกกังวล ซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง และอาการนั้นมีความรุนแรงจนรบกวนกับชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง (panic attacks) ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอาการเหล่านั้นได้

อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า แพนิค ที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง โดยมากจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และจะมีอาการสั้นๆ 5-10 นาที ไม่นานเกิน 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยกลัวที่จะเกิดอาการซ้ำอีก กังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอาการ หรือกลัวเกิดอาการซ้ำในที่สาธารณะจนหลีกเลี่ยงการออกไปไหนมาไหน จึงมีผลรบกวนกับชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ

อาการของแพนิคมีได้หลายอย่าง ได้แก่ ใจสั่น เหงื่อแตก มือเท้าชา หายใจไม่อิ่ม หรือรู้สึกมีก้อนจุกที่คอ แน่นหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ มวนท้อง มีความรู้สึกภายในแปลกๆ เช่น รู้สึกมึน งง คล้ายจะเป็นลม รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย รู้สึกหวิวๆ ลอยๆ คล้ายอยู่ในฝัน โดยที่จะมีอาการหลายอย่างดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการ

สาเหตุการเกิดโรคแพนิค มีสมมุติฐานที่อธิบายหลายอย่าง ประกอบด้วย สาเหตุทางพันธุกรรม ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง การเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในอดีต รวมทั้งความเครียดในปัจจุบัน ทำให้เกิดสัญญาณหลอก (false alarm) ราวกับว่าร่างกายกำลังเผชิญหน้ากับอันตราย ร่างกายจึงหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนบางตัวออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติทำให้เกิดอาการดังกล่าว

เนื่องจากอาการหลายอย่างของโรคแพนิคสามารถเกิดได้จากโรคทางกายอื่นๆ เช่น อาการแน่นหน้าอกจากโรคหัวใจหรือโรคปอด อาการใจสั่นหน้ามืดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด รวมทั้งยาเสพติดและกาเฟอีน ดังนั้น เมื่อเกิดอาการขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเมื่อไม่แน่ใจในสาเหตุของอาการ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องก่อนว่าอาการไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น และถ้าไม่แน่ใจหรืออาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

การรักษาโรคแพนิค ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช โดยที่การรักษาจะใช้การผสมผสานระหว่างการให้ยาเพื่อลดอาการแพนิค และให้ยาเพื่อคุมอาการในกรณีที่มีอาการมาก ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม เช่น การทำพฤติกรรมบำบัด การฝึกการผ่อนคลาย หรือการทำจิตบำบัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจรักษาภาวะทางกายหรือจิตเวชอื่นๆ ที่อาจจะพบร่วมกับโรคนี้ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลชนิดอื่นๆ รวมทั้งการติดสุราหรือสารเสพติดอื่นๆ เมื่อรักษาด้วยยาคุมอาการ อาจจะมีความจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องหลายเดือน ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองต่อยา

เวลาเป็นแพนิค อย่าตกใจ อย่าคิดต่อเนื่องไปว่าจะป่วยหนักหรือจะหัวใจวายตาย เพราะจะยิ่งทำให้เครียด และยิ่งเป็นมากขึ้น ให้นั่งพักและรออาการสงบ ซึ่งจะหายไปเองเหมือนครั้งก่อนๆ ที่เคยเป็น หรือกินยาที่แพทย์ให้ไว้ใช้เวลาที่เกิดอาการแล้วพักสักครู่รอยาออกฤทธิ์ ขอให้มั่นใจว่า ไม่เคยมีใครตายจากโรคแพนิค มีแต่คนที่เป็นแล้วคิดมากจนไม่มีความสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก

ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ 

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย