ผู้เขียน | วิภาวรรณ เพ็ชรศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
ในช่วงอากาศร้อน เหงื่อตก ร่างกายต้องการน้ำ ถ้าได้มะพร้าวน้ำหอมสักหนึ่งลูก คงจะดีไม่ใช่น้อย แต่การที่จะหามะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติหอมหวานนุ่มนวล อร่อย อุดมด้วยแร่ธาตุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากกล่าวถึงมะพร้าวน้ำหอม หลายท่านต้องนึกถึงพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี เพราะที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมรสชาติชั้นดี ที่ใครได้ลิ้มลองต่างพากันติดใจอย่างแน่นอน
ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมยังคงเป็นสินค้าที่มีการขยายตัวของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตลาดที่ผู้คนนิยมบริโภคมะพร้าวน้ำหอมอย่างในประเทศจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะด้วยคุณประโยชน์นานาชนิดที่มีอยู่ในมะพร้าวน้ำหอม จึงทำให้เหล่าแฟนตัวยงของมะพร้าวน้ำหอมต่างปฏิเสธไม่ลง
ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีเกษตรกรที่ทำการปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่จำนวนมาก มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวหลักแสนไร่ สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตได้เกือบหลักหมื่นล้านบาทต่อปี เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับรองการขึ้นทะเบียน GI มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มะพร้าวน้ำหอมที่ผลิตในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ อำเภอดำเนินสะดวก วัดเพลง บ้านโป่ง เมืองราชบุรี บางแพ ปากท่อ และโพธาราม เช่นเดียวกับ คุณบวร ศาลาสวัสดิ์ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 แปลง บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ มีต้นมะพร้าวมากกว่า 2,700 ต้น
เกษตรกรมือฉมัง แค่เอ่ยชื่อ ใครๆ ต้องรู้จัก
เทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของคุณบวร หนุ่มใหญ่ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมะพร้าวน้ำหอมอย่างยาวนานในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จึงทำให้เป็นที่รู้จักของแวดวงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมด้วยกันเอง คุณบวร เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกมะพร้าวน้ำหอมนั้น เกิดจากเดิมทางครอบครัวมีการทำเกษตรมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการปลูกหอมแดง พริก เป็นต้น จนกระทั่งวันหนึ่งวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป คุณบวรอยากทดลองปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ จึงปลูกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบจากอำเภอบ้านแพ้วในปี พ.ศ. 2548
เรียนรู้ เข้าใจ ธรรมชาติของมะพร้าวน้ำหอม
หากถามถึงเทคนิคการปลูกมะพร้าวภายในสวนของคุณบวร สิ่งแรกที่ควรทำคือการคัดเลือกสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ได้มาตรฐานทางสายพันธุ์ ต้นกล้าของมะพร้าวที่ลงปลูกภายในแปลงควรมีอายุอยู่ที่ 5 เดือนขึ้นไป และก่อนการปลูกพืชทุกชนิดลงแปลงปลูก คงหนีไม่พ้นขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ปลูกด้วยการยกร่องสวน ให้มีความกว้างอยู่ที่ 4 เมตร นำดินเลนใส่ก้นหลุม กลบให้มิด เพื่อป้องกันปัญหาโคนต้นมะพร้าวล้ม จากสาเหตุโค้นต้นมะพร้าวลอยพ้นดิน ควรปลูกในระยะ 6×6 เมตร
ถัดมาในส่วนของร่องน้ำควรมีความลึกอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร ควรให้ร่องน้ำมีน้ำตลอดทั้งปี เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่ชื่นชอบน้ำและมีน้ำเป็นตัวนำในการหล่อเลี้ยงลำต้นให้มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีนั่นเอง
สำหรับการดูแลต้นกล้ามะพร้าว หลังจากลงแปลงปลูกแล้วในช่วง 1-2 เดือน ผู้ปลูกควรหมั่นดูแลและใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ในอัตราส่วน 100 กรัมต่อต้น เพื่อบำรุงให้ต้นมะพร้าวที่ปลูกภายในสวนสมบูรณ์ แข็งแรง ซึ่งมะพร้าวจะเริ่มให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุอยู่ที่ประมาณ 2 ปีครึ่ง มะพร้าวจะเริ่มตกจั่นบริเวณยอด
จั่น หรือ จาว คืออะไร?
จั่น กับ จาว เป็นคำเรียกส่วนของพืชตระกูลปาล์ม เช่น ตาล หมาก มะพร้าว จั่น หมายถึงช่อดอกที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ช่อดอกหมาก เรียกว่า จั่นหมาก ช่อดอกมะพร้าว เรียกว่า จั่นมะพร้าว อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
เทคนิคบำรุงต้นมะพร้าวให้มีผลผลิตดี
สำหรับช่วง 4 จั่นแรก คุณบวร บอกว่า ผู้ปลูกยังไม่ต้องให้ความสนใจมากนัก เพราะเป็นช่วงผสมเกสรไม่สมบูรณ์ เมื่อเข้าสู่จั่นที่ 5 มะพร้าวจะเริ่มติดลูกและให้ผลผลิตแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเริ่มเปลี่ยนสูตรปุ๋ยที่ใช้ เป็นสูตร 25-7-7 โดยช่วง 6 เดือนแรก คือเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน จะมีการแบ่งใส่ปุ๋ยทุก 3 เดือน ในอัตราส่วน 500 กรัมต่อต้น ถัดมาช่วง 6 เดือนหลังของปี คือช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม จะเปลี่ยนมาใช้สูตร 14-7-35 และมีการแบ่งใส่ปุ๋ยทุก 3 เดือน ในอัตราส่วน 500 กรัมต่อต้นเช่นกัน
นอกจากการใช้ปุ๋ยสูตรดังกล่าวแล้ว ส่วนมะพร้าวน้ำหอมของคุณบวรยังมีการใส่มูลนกกระทาเสริมเข้าไปอีกปีละ 2 ครั้ง ในอัตราส่วน 2 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งวิธีการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมะพร้าวนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบำรุงต้นให้มีผลผลิตอย่างสม่ำเสมอตลอดปี สามารถตัดผลมะพร้าวได้ทุก 20 วัน หรือตัดผลผลิตได้ 18 ครั้งต่อปี
“ห้ำ” แมลงธรรมชาติ กำจัดศัตรูพืช
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญของการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ผู้ปลูกต้องหมั่นสังเกตภายในสวนว่ามีโรคหรือแมลงเข้าทำลายมะพร้าวภายในสวนหรือไม่ หากมีเกิดขึ้นและเป็นโรคระบาด ผู้ปลูกต้องทำลายด้วยการฉีดพ่นทันที
แต่หากเป็นโรคที่ไม่ระบาด ผู้ปลูกสามารถนำแมลงจากธรรมชาติ อย่างตัว “ห้ำ” เพื่อเข้ามาช่วยกำจัดและทำลายแมลงชนิดอื่นที่เข้ามาสร้างความเสียหายแก่มะพร้าวที่ปลูกภายในสวน
ผึ้งจิ๋ว “ชันโรง” สุดยอดตัวช่วยชั้นดี
ต่อมาในเรื่องผลผลิตภายในสวน มีการจำหน่ายให้กับตลาดรับซื้อที่อยู่ใกล้เคียงในพื้นที่ สามารถขายผลผลิตได้ทั้งปี แต่ในช่วงหลังต้องยอมรับว่าสภาพอากาศเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดผลผลิตของมะพร้าวแต่ละปี ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้มะพร้าวไม่ติดดอก ผลผลิตน้อยลง
จึงใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการหาซื้อชันโรงมาปล่อยภายในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยในเรื่องการผสมเกสรของต้นมะพร้าว ซึ่งสามารถช่วยลดเวลา ประหยัดต้นทุนในการฉีดพ่นอาหารเสริมต่างๆ
ทำความรู้จัก “ชันโรง”
“ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว” คือ แมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง น้ำผึ้งของชันโรงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ชันโรงมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นาน เพราะกล้ามเนื้อส่วนอกที่แข็งแรง ทำให้สามารถกระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสรและดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ