“บาตามัส” ทุเรียนหมอนทองชายแดนใต้ ผลิตจากการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหาราคาผลิตทุเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกดราคา จำหน่ายทุเรียนได้ในราคาต่ำมาเป็นเวลานาน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระ ราชดำริ ที่เข้าไปดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี ๒๕๖๑ จึงร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี นราธิวาสและยะลา โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเริ่มต้นจากการทำความ“เข้าใจ” พบว่า สาเหตุของปัญหามาจากคุณภาพของทุเรียนที่ขาดการดูแลที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแล การบำรุงต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีหนอนเจาะเมล็ด ผลมีหนามแดง ต้องจำหน่ายแบบเหมาสวน จากนั้นจึง “เข้าถึง” เกษตรกรโดยการคัดเลือกคนที่หัวไวใจสู้และมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพทุเรียนมาเข้าร่วมกับโครงการก่อน โดยจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและจัดทำขั้นตอนในการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “พัฒนา”

“ต้นทาง คือ การให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการดินและน้ำในแปลง การดูแลตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางทาง คือ การติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ คือ ทุเรียนต้องไม่อ่อน ปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๒ และปลายทางคือ เชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ”

การพัฒนาคุณภาพทุเรียนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกของโครงการฯ เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตทุเรียนคุณภาพจาก ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ เป็น ๑,๕๗๑ กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวม ๔๐๒.๐๒ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากรายละ ๖๐,๐๐๐ บาท เป็น ๒๖๒,๗๓๑ บาทต่อปี จำนวนเกษตรกรที่เคยได้รับความรู้จากสถาบันฯ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕ มีจำนวน ๑,๒๒๙ ราย จำนวนต้นทุเรียน ๔๘,๖๓๔ ต้นในพื้นที่ปลูก ๒,๔๓๒ ไร่ มีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม ๗๗๐ คน และมีเกษตรกรที่สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพรวม ๙๐ ราย เมื่อเทียบกับงบประมาณดำเนินการ ๖๑,๖๘๙,๗๗๗ บาท คิดเป็นสัดส่วนความคุ้มค่าต่อการลงทุน ๖.๔๗ เท่า ส่วนในปี ๒๕๖๖ คาดการณ์จะมีผลผลิต ๗๐๐ ตัน จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวม ๕๙.๕ ล้านบาท (ที่กิโลกรัมละ ๘๕ บาท)

นายกฤษฎา  กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมที่เกษตรกรอยู่ต่างพื้นที่ ต่างคนต่างทำ ทำให้ต้นทุนในการผลิตมีต้นทุนสูง มีปัญหาการปลูกไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่มีอำนาจต่อรองในการขายผลผลิต สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพ ๒๐ วิสาหกิจชุมชน และรวมกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืนทั้งเรื่องคุณภาพ ตลาด และราคาที่เกษตรกรกำหนดได้เอง มีการจัดตั้งกองทุนปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น “หมอนทอง” (Monthong Application) สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ได้ทันท่วงที และพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์แบบสั่งจองล่วงหน้า

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของโครงการฯ ยังปรับเปลี่ยนให้รายได้ของเกษตรกรจากทุเรียนจากรายได้เสริมกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ยกระดับเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer ที่สามารถดูแลสวนทุเรียนอย่างเป็นระบบตามหลักเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ รู้จักกลไกตลาด การรวมกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองราคา และวิธีบริหารจัดการ เป็นต้น

สำหรับผลผลิตทุเรียนของโครงการฯ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้มุ่งมั่นตั้งใจสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “บาตามัส” ซึ่งแปลว่าหมอนทอง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ “กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน” เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจำหน่ายออกสู่ตลาดในหลายรูปแบบ ได้แก่ การจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อทุเรียนในพื้นที่ในรูปแบบพันธมิตรการค้า หรือล้งพันธมิตร ที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปและยินดีร่วมสนับสนุนเงินเพื่อสบทบเข้ากองทุนพัฒนาทุเรียนของโครงการกิโลกรัมละ ๒ บาท โดยเงินกองทุนนี้จะนำไปพัฒนาความรู้ของเกษตรกรในการดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์ในรูปแบบการสั่งจองล่วงหน้า ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนมากขึ้นและการประมูลผลผลิตทุเรียนยกสวนให้แก่ผู้รับซื้อหลายรายที่ให้ราคาสูงที่สุดซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการขายที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการขายรูปแบบใหม่ที่ที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาทุเรียนได้เอง ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา

จากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องมาตลอด ๕ ปี พบว่า เกษตรกรที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อน เริ่มเห็นถึงกระบวนการ และผลการพัฒนาของโครงการ จึงขอให้อาสาสมัครพัฒนาคุณภาพทุเรียนของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ช่วยแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้ดีอย่างหนึ่ง

ปัจจุบันเครือข่ายฯ เริ่มมีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้ด้วยกลุ่มเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไปสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาเพื่อให้กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน