ไก่ดำมองโกเลีย สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน แห่ง เอแอนด์เอ ฟาร์ม

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมไก่เนื้อนั้นมีการขยายตัวอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะไก่ดำ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ยังคงได้รับความนิยม เนื่องจากลักษณะผิวหนังที่มีสีดำและมีสรรพคุณทางด้านยาที่ใช้ในการบำรุงร่างกาย จึงทำให้ได้รับความต้องการอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับไก่ดำมองโกเลียที่มีถิ่นกำเนิดจากแถบเหนือของมองโกเลีย ประเทศจีน รูปร่างสวยงาม แข็งแรง ผิวหนัง เนื้อ กระดูก และเครื่องในมีสีดำ ขนมีหลากหลายสีปะปนกันไป ทั้งสีดำ ขาว ทอง และสีดอกหมาก รวมถึงมีลักษณะตัวที่ใหญ่กว่าไก่ดำอินโดนีเซีย

รายงานพิเศษ 7 สายพันธุ์ ไก่เศรษฐกิจ ทำเงิน โดยเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอนำเสนอเรื่องราวของ คุณเรวัต พาดกลาง เจ้าของ เอแอนด์เอ ฟาร์ม ในพื้นที่ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ “ไก่ดำมองโกเลีย”

เมื่อเล่าย้อนเส้นทางการเป็นเจ้าฟาร์มในทุกวันนี้ คุณเรวัต เล่าว่า เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างเชื่อมโลหะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา หลังเรียนจบจึงเข้าทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนจะมองหาช่องทางในการหารายได้เสริม จึงเริ่มคิดและหาไอเดียจากความชอบส่วนตัวในเรื่องของสัตว์ปีก จึงเริ่มเลี้ยงไก่สวยงามเพาะพันธุ์ขาย ทำให้มีรายได้เข้ามาไม่ขาดมือ

คุณเรวัต พาดกลาง

ต้องยอมรับว่าในช่วงของการเริ่มเลี้ยงไก่ดำเมื่อครั้งย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเวลาว่างในการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งขายและนำเข้าไก่ดำด้วยตนเอง ศึกษาหาความรู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่หลายครั้งกว่าจะมามีฟาร์มของตนเองจนถึงทุกวันนี้

ช่วงแรกของการเลี้ยงไก่ คุณเรวัตเริ่มเลี้ยงจากไก่ซิลกี้ มีการสั่งนำเข้าไข่มาในราคาใบละ 1,024 บาท จำนวน 50 ใบ เหลือรอดเพียง 12 ใบ ไม่ได้ผลตามคาดหวัง แต่คุณเรวัตก็ไม่ย่อท้อ ยังลงมือและพยายามอยู่เรื่อยมา ก่อนจะพบคำตอบว่า คนในประเทศญี่ปุ่นนิยมรับประทานไก่ซิลกี้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มไก่ดำ แต่ไก่ซิลกี้ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม เพื่อความเพลิดเพลิน เพราะลักษณะเด่นของขนที่นุ่ม ฟู จากนั้นจึงนำไก่ซิลกี้ 12 ตัวที่รอดจากการฟักของแม่ไก่ที่บ้าน นำมาปั้นเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ระหว่างการที่เลี้ยงหมั่นสังเกตเสมอ จนเห็นว่าไก่ที่เลี้ยงอยู่มีโครงสร้างค่อนข้างไปทางไก่เนื้อ

โรงเรือนแบบเปิด

เมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งก็ได้รับข้อมูลความรู้ใหม่ว่า ไก่ดำในประเทศนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และนิยมรับประทานในกลุ่มของชาวจีน ตามความเชื่อว่าไก่ดำสามารถเป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ดี รวมถึงข้อมูลทางการวิจัยทางการแพทย์จีนของ อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ให้ข้อมูลไว้ว่า ไก่ดำมี Carnosine ซึ่งมีคุณสมบัติของ Antioxidant และ Anti-aging สูงกว่าไก่ทั่วไป มีสารสีเมลานิน (melanin) ซึ่งเป็น Antioxidant ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดโอกาสการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดการปวดประจำเดือน ฯลฯ อีกทั้งยังพบว่า มีปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณที่สูงกว่าในไก่ปกติ

ช่วงแรกของการขยายพันธุ์มีลูกค้าติดต่อเข้ามา เพื่อซื้อสายพันธุ์จำนวนมาก ทำให้มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงเปลี่ยนแนวคิดการเลี้ยงใหม่ จากเพาะขายสายพันธุ์ 100% เปลี่ยนเป็นเลี้ยงเพื่อขายเป็นไก่เนื้อ 80% อีก 20 % ขายเป็นไก่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม จึงพุ่งเป้าไปที่การขายไก่เนื้อที่มีตลาดรองรับมากกว่า รวมถึงไข่ที่สั่งมากจากประเทศนั้น แท้จริงคือ ไก่ดำ ที่มีถิ่นเกิดจากมองโกเลีย ประเทศจีน จึงเรียกตามความเข้าใจในภาษาของตนเองว่า ไก่ดำมองโกเลีย หรือ ไก่ดำมองโกล

ซึ่งลักษณะของไก่เนื้อ จะใช้ระยะเวลาเติบโต 60 วัน ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัมต่อตัวเมื่อเทียบกับไก่บ้านที่ต้องใช้ระยะเวลาเติบโตอีกเท่าตัวคือ 120 วัน ถึงจะมีน้ำหนักเท่ากัน เมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ถึงความคุ้มค่าของต้นทุน

ในด้านของอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ดำมองโกเลีย จะใช้อาหารสำหรับไก่เนื้อเท่านั้น ไม่มีการให้อาหารเสริมอย่างอื่นเพิ่มเติม มีการออกแบบโรงเรือนอุตสาหกรรมขนาดย่อแบบเปิด เน้นอากาศถ่ายเท ไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลมซึ่งสามารถช่วยลดในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

ตู้ฟักไข่ที่คิดค้นด้วยตนเอง

ภายในฟาร์มของคุณเรวัต ยังมีการนำไก่ดำเคยู-ภูพาน จังหวัดสกลนคร มีลักษณะเด่นเป็นไก่เนื้อ ขนขาว เนื้อดำ เจริญเติบโตเร็วกว่าไก่ดำมองโกเลีย เนื้อส่วนหน้าอกมากกว่า ขาสั้นกว่า และให้ไข่จำนวนมากกว่า ซึ่งเป็นไก่ดำชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์ไก่เนื้อในอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คุณเรวัตยังนำความรู้ความสามารถที่มีมาต่อยอดภายในฟาร์มด้วยการพัฒนาตู้ฟักไข่ขึ้นเอง จากเดิมที่สามารถฟักไข่ได้เพียงหลักสิบต่อวัน ให้สามารถฟักไข่ได้แตะหลักพันและหลักหมื่นฟองต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานต่อการทำงานภายในฟาร์มของคุณเรวัตได้อย่างดีเยี่ยม

ปัจจุบันภายในฟาร์มนอกจากไก่ดำที่นำมาเลี้ยงแล้ว ยังมีการนำไก่ไข่ที่คนไทยคุ้นเคยเข้ามาเลี้ยง เพื่อให้เกิดความหลากหลายภายในฟาร์มและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ยังมีการขายและส่งออกไก่ดำมองโกเลียและไก่สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ดำมองโกเลียและสายพันธุ์อื่นๆ ภายในฟาร์ม สามารถติดต่อ คุณเรวัต พาดกลาง “เอแอนด์เอ ฟาร์ม” ได้ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา หรือเบอร์โทรศัพท์ 087-949-2260 คุณเรวัตยินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ