พาไปดูนาเกลือ ถนนพระราม 2 สืบทอดวิถีนาเกลือร้อยปี

นาเกลือสมุทร จัดเป็นเกลือสมุทร (Sea Salt) เป็นเกลือที่ผลิตขึ้นโดยพึ่งพาธรรมชาติ “ดิน น้ำ ลม ไฟ” เริ่มจากนำน้ำทะเลขึ้น มาตากแดดให้น้ำระเหยไป หลอมรวมกันจนกลายเป็นผลึกเกลือสีขาวสะอาด โดยทั่วไป หากสภาพลมฟ้าอากาศไม่แปรปรวน เกษตรกรมีโอกาสทำนาเกลือถึงปีละ 4 รอบ ราคาขายเกลือขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากปีใดแล้งจัด เกลือมาก ขายได้ราคาถูก หากปีไหน ฝนตกชุก เกลือขาดตลาด ขายได้สูงถึงเกวียนละ 3,000 บาท

นาเกลือที่กำลังเก็บผลผลิต

นาเกลือสมุทรสงคราม

ในอดีตจังหวัดสมุทรสาคร ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตนาเกลือมากที่สุดของประเทศไทย เส้นทางสายนาเกลือครอบคลุมตั้งแต่ ตำบลกาหลง ตำบลนาโคก ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ และบริเวณสองข้างทางของถนนพระราม 2 จนถึงเขตจังหวัดสมุทรสงคราม แต่กระแสความเจริญของสังคมเมืองรุกขยายเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ทำให้ตัวเลขนาเกลือสมุทรสาครลดลงเรื่อยๆ

ตำบลนาโคก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ราบลุ่ม อยู่ติดกับทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเกลือและเลี้ยงกุ้ง หากใครสนใจวิถีชาวนาเกลือ สามารถแวะชมได้ที่ ร้านลุงนงป้าน้องค้าเกลือ ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 50+600 ขาออก เบอร์โทร. 081-944-8289 นอกจากนาเกลือแล้ว ยังเปิดธุรกิจใหม่ “ร้านนาเกลือคอฟฟี่วิว” เป็นรายได้เสริม มีมุมถ่ายรูปสวยอยู่ริมแปลงนาเกลือ นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและถ่ายรูปวิวนาเกลือสวยๆ ตลอดเวลา

รื้อแปลงเกลือ

สืบทอดวิถีนาเกลือร้อยปี

ลุงนง หรือ คุณทนง เพ็ชรพุ่ม หนึ่งในเกษตรกรชาวนาเกลือ ตำบลนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร ที่สืบทอดภูมิปัญญาการทำนาเกลือแบบดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี

ลุงนง กล่าวว่า นาเกลือแปลงนี้อยู่ในพื้นที่ตำบลนาโคก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นนาเกลือสมุทรสาครที่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว ครอบครัวสืบทอดอาชีพการทำนาเกลือมาจากรุ่นปู่ย่าตายายนับเป็น 100 ปีแล้ว รุ่นพ่อมีลูกหลายคนแบ่งที่ดินกันไปคนละ 10-20 ไร่ อาชีพการทำนาเกลือ หากแยกกันทำ ได้ผลน้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่ดินแปลงนี้ 70-80 ไร่เป็นของพี่น้องหลายคน หมุนเวียนกันทำนาเกลือคนละปี เรียกว่า นาเวร ปัจจุบันพี่น้องหลายคนไม่อยากทำอาชีพทำนาเกลือ ก็ขายเวรให้ลุงนงดูแล

ลุงนงกับสินค้าที่ภาคภูมิใจ

“ผมเป็นรุ่นที่ 3 สมัยก่อน การทำนาเกลือใช้แรงงานครอบครัวช่วยกันทำ ผมส่งลูกไปเรียนหนังสือ อาศัยจ้างคนแรงงานมาช่วยทำงาน รุ่นลูก ไม่รู้ว่าใครจะสืบทอดอาชีพนี้ต่อไปหรือเปล่า การทำนาเกลือไม่ใช่งานสบาย คนทำนาต้องเป็นคนใฝ่รู้ ช่างสังเกต และมีประสบการณ์ นาเกลือหลายแห่งบนถนนพระราม 2 มีนายทุนมาซื้อที่ดินไปทำโรงงาน ไร่ละ 3 ล้านบาท หากขายที่ดินก็รวยแล้ว แต่เราไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ก็ทำนาเกลือไปเรื่อยๆ” ลุงนง กล่าว

วิธีการทำนาเกลือ

กระบวนการทำนาเกลือ นับตั้งแต่การระบายน้ำเข้าสู่นาตากจนถึงนาปลง โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน สามารถผลิตผลึกเกลือ โดยธรรมชาติแล้ว เกลือกับฝนไม่ถูกกัน หากมีฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยวจะทำให้กองเกลือที่เตรียมขาย ละลายกลายเป็นน้ำในพริบตา แถมต้องเริ่มต้นทำความสะอาดนาและปล่อยน้ำเข้านาปลงใหม่ ดังนั้น ลุงนงจึงหยุดทำนาเกลือตลอดฤดูฝน

โดยทั่วไป ฤดูกาลการทำนาเกลือ จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป การเตรียมพื้นที่นา ลุงนงจะลากท่อนซุงหรือใช้รถไถ ปรับดินในแปลงนาให้เรียบและแน่น ยกขอบแปลงให้สูงเหมือนคันนา และมีร่องระบายน้ำระหว่างแปลง แปลงนาเกลือแบ่งที่ดินเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. นาขัง หรือ นาวัง 2. นาตาก นาประเทียบ หรือ นาแผ่ 3. นารองเชื้อ 4. นาดอก หรือ นาเชื้อ และ 5. นาวาง นารื้อ หรือ นาปรง

บดอัดให้พื้นแน่นก่อนปล่อยน้ำเข้าตากทำเกลือ

นาแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน นาขัง (นาวัง หรือ วังน้ำ) จะมีพื้นที่มากที่สุด และอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลมากที่สุด เพื่อความสะดวกในการระบายน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ สำหรับนาในส่วนอื่นๆ จะแบ่งเนื้อที่ใกล้เคียงเท่าๆ กัน “นาตาก” “นาเชื้อ” และ “นาปลง” มีระดับสูงต่ำตามลำดับ เพื่อระบายน้ำเข้าสู่แปลงนาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ

ขั้นตอนการทำนาเกลือสมุทร เริ่มจากปล่อยน้ำทะเลให้เข้าสู่แปลงนาขัง เพื่อให้น้ำทะเลตกตะกอนจากนาขังสู่นาตาก ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำให้น้ำทะเลระเหยออกเพื่อเพิ่มระดับความเค็ม โดยเมื่อน้ำมีระดับความเค็มที่ 3-5 ดีกรี จะถ่ายน้ำสู่นารองเชื้อ เพื่อให้มีความเค็มอยู่ที่ระดับ 15 ดีกรี และจากนั้นจะถ่ายสู่นาดอก เพื่อเพิ่มระดับความเค็มของน้ำไปจนถึง 20 ดีกรี โดยเกษตรกรทำการถ่ายน้ำกลับไป-กลับมา ระหว่างนารองเชื้อและนาดอกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความถนัดและการปล่อยน้ำของเกษตรกรแต่ละรายเพื่อเพิ่มระดับความเค็มของน้ำจนถึง 25 ดีกรี และพร้อมสู่กระบวนการตกผลึกให้กลายเป็นเกลือในนาวาง เกษตรกรจะทิ้งน้ำไว้เพื่อให้เกลือตกผลึกเป็นแผ่น เมื่อเกลือตกผลึกแล้ว จะรื้อเกลือด้วยการใช้ลั่วเดินเกลือมาแซะแผ่นเกลือ จากนั้นทำแนวและทำกองเกลือต่อไป

คนงานกำลังตั้งกองเกลือ

“หมดฝน จะเริ่มขุดนาเอาน้ำทะเลขึ้นมาตาก ประมาณ 3 เดือน น้ำเชื้อพร้อมเป็นเกลือแล้ว ไปอีกเดือนหนึ่ง ที่จะเอาขึ้นได้ ปีหนึ่งสามารถทำนาเกลือได้ 4 ครั้ง วิถีนาเกลือแบบดั้งเดิม พึ่งพาธรรมชาติ อาศัยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ (แสงอาทิตย์) หลอมรวมกันจนกลายเป็นผลึกเกลือสีขาวสะอาด” ลุงนง กล่าว

ตลาดเกลือ

หลังคนงานขูดผลึกเกลือเสร็จ จะนำเกลือสีขาวมากองรวมกัน คล้ายภูเขาสีขาวลูกเล็กๆ เรียงกันเต็มผืนนา เกลือจะถูกเก็บเข้ายุ้งรอขาย เกษตรกรสามารถกักตุนเกลือไว้ปล่อยขายช่วงที่ราคาสูง แต่ชาวนาเกลือจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ต้องกู้ยืมเงินจากพ่อค้าคนกลางหรือต้องขายเกลือล่วงหน้าให้พ่อค้าไปก่อน ทำให้สูญเสียอำนาจการต่อรองราคา

ลุงนงกำลังช้อนดอกเกลือจากแปลงนาเกลือ

“ทุกวันนี้ ชาวนาเกลือ ทำงานวัดดวงกับดินฟ้าอากาศแล้ว ยังต้องวัดดวงกับราคาตลาด ชาวนาตั้งราคาขายเองไม่ได้ เพราะพ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคา ผมอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคากลางซื้อขายเกลือ ให้ชาวนาได้รับความเป็นธรรมบ้าง” ลุงนง กล่าว

อ้างอิงข้อมูลจากผลการศึกษาของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เกี่ยวกับการผลิตเกลือทะเลในพื้นที่ภาคกลางพบว่า มีต้นทุนผลิตประมาณ 13,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่ในการผลิตเกลือทะเลจะเป็นค่าแรงงาน (ร้อยละ 63.20) และค่าเช่าที่ดิน/ค่าใช้ที่ดิน (ร้อยละ 17.20) ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ร้อยละ 19.60) ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้ผลผลิตเกลือทะเลประมาณ 8-10 เกวียนต่อไร่ (1 เกวียน เท่ากับ 1.6 ตัน)

ร้านลุงนงป้าน้องค้าเกลือ ขายเกลือและสินค้าชุมชนนาโคก

ด้านตลาด ราคาจำหน่ายเกลือทะเลที่เกษตรกรขายได้ (มกราคม-มิถุนายน 2566) พบว่า เกลือขาว ราคา 4,125 บาทต่อเกวียน (2,578 บาทต่อตัน) เกลือกลาง ราคา 3,352 บาทต่อเกวียน (2,095 บาทต่อตัน) และเกลือเหมายุ้ง ราคา 2,430 บาทต่อเกวียน (1,518 บาทต่อตัน) ส่วนใหญ่เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อผลผลิต ณ ยุ้งฉางเกลือ โดยการจำหน่ายผลผลิต มี 2 แบบ คือ การจำหน่ายแบบแยกเกรด (แบ่งเกรดเป็นเกลือขาว เกลือกลาง และเกลือดำ) และการจำหน่ายแบบเกลือคละ

ปั้นแบรนด์ขายตรง

ลุงนง กล่าวว่า ผลผลิตนาเกลือ แบ่งได้หลายเกรด ชนิดเกลือเม็ดขาว ขายได้ราคาสูง ส่วนเกลือเม็ดกลาง ราคาถูกลงมาหน่อย ส่วนเกลือเม็ดดำ นิยมใช้ในสวนเกษตร สวนมะพร้าว โรงน้ำแข็ง โรงงานไอศกรีม สมัยก่อนเรือตังเกนิยมใช้เกลือเม็ดดำไปแช่สินค้าประมง แต่ละปีจะมีรายได้จากการขายผลผลิต ประมาณ 2 แสนบาท

เกลือตัวผู้ นิยมใช้ทำยา
(ซ้ายไปขวา) ลุงนง ป้าน้อง และ ลูกชาย “พิษณุ”

นอกจากนี้ ลุงนง และภรรยา “ป้าน้อง” รวมทั้งลูกชาย “คุณนุ-คุณพิษณุ เพ็ชรพุ่ม” ร่วมกันวางแผนพัฒนาตลาดเชิงรุก นำเกลือมาใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงาม ติดฉลาก สร้างแบรนด์ “เจ๊น้องค้าเกลือ” พร้อมใส่สโลแกน “เกลือทะนง พึงรักษาความดี ดุจเกลือรักษาความเค็ม” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า พร้อมตอกย้ำแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อต้องการสินค้าเกลือ ขายราคาชาวนา ต้องนึกถึง ร้านเจ๊น้องค้าเกลือเป็นอันดับแรก

“ปัจจุบันทางร้านได้นำเกลือมาใส่กล่องติดแบรนด์ สินค้าขายดีคือ ดอกเกลือ นิยมใช้ทำอาหาร เพราะรสเค็มไม่มาก อร่อยเข้ม ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เค็มอมหวาน กินแล้วชุ่มคอ นอกจากนี้ ยังมี  ดอกเกลือตัวผู้ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท ทำยากเพราะคัดเลือกทีละเม็ด นิยมใช้ในตำรับยาแผนโบราณ และใช้ในพิธีปลุกเสกของขลัง” ลุงนง กล่าว

หากใครสัญจรผ่านเส้น ถนนพระราม 2 ขาออก กม.50+600 แวะกินลม ชมนาเกลือ จิบกาแฟอร่อยๆ และถ่ายรูปบรรยากาศนาเกลือแบบใกล้ชิด ได้ที่ ร้านลุงนงป้าน้องค้าเกลือลุงนง ป้าน้อง ใจดีมากๆ เลย พร้อมต้อนรับทุกคนด้วยความยินดี หากไปไม่ถูก สอบถามเส้นทางได้เพิ่มเติมที่เบอร์โทร. 081-944-8289 (ป้าน้อง)

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก : ร้านเจ๊น้องค้าเกลือ สมุทรสาคร