เกษตรกรรุ่นใหม่ แม่ใจ พะเยา เลี้ยงกว่าง ต่อยอดสู่เกษตรอินทรีย์

ถ้าพูดถึงสัตว์เลี้ยงประเภทสวยงามนั้นทุกท่านคงจะนึกถึงสัตว์จำพวกปลาหรือนก แต่ในประเทศไทยนั้นยังมีสัตว์สวยงามจำพวกแมลงอยู่ชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาเลี้ยง สัตว์จำพวกนี้เป็นแมลงปีกแข็งที่คนไทยรู้จักกันในนามของกว่างหรือด้วงกว่างนั่นเอง

คุณชิณภัทร กับกว่างที่ได้รับรางวัล

ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ผู้เขียนเข้าไปพูดคุยกับ คุณชิณภัทร บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สุก ซึ่งผู้เขียนเองเคยรับตำแหน่งเกษตรอำเภอแม่ใจอยู่ประมาณ 6 เดือน ยอมรับว่าไม่เคยเข้าไปในพื้นที่นี้ พอตามจีพีเอสไป ก็ไปไม่ถูก เลยก็ต้องโทร.หาคุณชิณภัทร แต่กำลังติดไลฟ์สดประมูลขายกว่างอยู่ เลยให้คุณพ่อมารับเข้าไปที่บ้านซึ่งทำเป็นฟาร์มเลี้ยงกว่าง ผ่านสันอ่าง ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูทำนา ทางอ่างได้ปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้ชาวนาได้ไถหว่านข้าวกัน ถือว่าเป็นบริเวณที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เป็นบริเวณต้นน้ำ เมื่อไปถึงคุณชิณภัทรก็ยังติดไลฟ์สดอยู่เลยต้องคุยกับคุณพ่อไปก่อน

คุณพ่อเล่าว่า คุณชิณภัทรชอบกว่างมาตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนคนทางภาคเหนือจะนิยมกีฬาชนกว่าง กัน คุณชิณภัทรก็จะไปหากว่างจากธรรมชาติมาขาย มีรายได้ตั้งแต่ ป. 2 จากนั้นก็ทำรายได้ถึงขนาดส่งเสียตนเองได้โดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน เคยเลี้ยงในวงบ่อปรากฏว่ากว่างออกมาไม่สวยไม่สมบูรณ์ เลยเลิกเลี้ยงไป เรื่องทางเข้าฟาร์มพ่อบอกว่าให้ทำป้ายบอกทางก็ยังไม่มีเวลาทำ คนที่เข้ามาศึกษาดูงาน ก็บอกว่าหาทางเข้ายาก

กว่างนักสู้

เมื่อเสร็จจากการไลฟ์สดจึงมีโอกาสพูดคุยกับคุณชิณภัทร ซึ่งเล่าว่าจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนแม่ใจวิทยาคมแล้ว ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตอนเป็นเด็กก็เลี้ยงควายอยู่บ้าน ก็เลยมีโอกาสไปจับกว่าง รู้สึกมีความสุขมาก หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ไปทำงานกับเอกชนเป็นบริษัทขายเครื่องสำอาง ก็เจริญเติบโตทางสายงานได้ดี จนเป็นหัวหน้างาน เป็นวิทยากรอบรมพนักงานใหม่ รับผิดชอบงานตั้งแต่จังหวัดภาคเหนือตอนล่างถึงภาคเหนือตอนบน จากนั้นไปรับผิดชอบเขตอีสานทั้งหมด จนเกิดความอิ่มตัว เคยยื่นวีซ่าไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากป้าอยู่ที่นั่นแต่วีซ่าไม่ผ่าน ต่อมามีพนักงานที่บริษัทเดิมที่รักนับถือกัน ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย ชวนไปหาประสบการณ์ที่ออสเตรเลีย เมื่อไปออสเตรเลียก็ไปศึกษาด้านภาษาก่อน แล้วไปทำงานร้านอาหารไทย และร้านคาเฟ่ยุโรปเพื่อศึกษาอาหารของฝรั่ง พอได้ระยะหนึ่งก็กลับมาเพื่ออยู่ดูแล ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

กว่างหรือด้วงกว่างหรือทุกท่านอาจจะรู้จักกันในชื่อแมงคามหรือแมงกระแจก็สามารถเรียกได้เหมือนกัน กว่างของประเทศไทยนั้นมีชุกชุมอยู่ในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคอีสาน ส่วนภาคกลางก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก กว่างเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนไทยนิยมนำมาเลี้ยงกันตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพราะลักษณะของมันที่มีเขาโง้งสวยงามและยังสามารถนำมาต่อสู้กัน เพื่อความสนุกสนานได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงด้วงกว่างเพื่อความเพลิดเพลิน

ด้วงกว่างที่กำลังจะเข้าสู่วัยกว่างเต็มตัว

ด้วงกว่างหาได้จากที่ไหน ก่อนที่เราจะเลี้ยงด้วงกว่างนั้นเราต้องหาวิธีจับด้วงกว่างให้ได้เสียก่อนครับ ด้วงกว่างเป็นสัตว์เลี้ยงที่หาจับได้ตามธรรมชาติ โดยด้วงกว่างจะเริ่มมีชุกชุมในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม เราสามารถจับด้วงกว่างได้ตามต้นไม้ต่างๆ แนะนำให้หาจับตามต้นคามครับ เพราะเป็นต้นไม้ที่กว่างชอบอยู่ หรือถ้าหากทุกท่านไม่อยากจะหาจับตามต้นไม้ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่ง โดยในช่วงเช้ามืดด้วงกว่างมักจะชอบบินมาเล่นไฟตามแสงไฟจากชานบ้านหรือไฟส่องทางตามขอบถนน หากทุกท่านลองเดินไปดูบริเวณแสงไฟก็จะเห็นกว่างนอนหงายท้องตะกุยตะกายอยู่

ที่อยู่ของกว่าง เมื่อเราสามารถจับด้วงกว่างได้แล้ว ลำดับต่อไปเราก็ต้องหาที่อยู่ให้มัน ถ้าจะทำตามวิธีของคนโบราณก็คือนำด้ายมาผูกที่เขาด้านบนของกว่างแล้วนำด้ายเส้นเดียวกันนั้นมัดยึดไว้กับลำอ้อยที่เป็นอาหารโปรดของมัน ให้กว่างเกาะอยู่ที่ลำอ้อยนั้น จากนั้นก็นำลำอ้อยไปแขวนไว้ตามราวหรือคานของบ้านเรือน นี่เป็นวิธีทำที่อยู่ให้กว่างตามแบบฉบับโบราณ

อาหารโปรดของด้วงกว่างคืออ้อยหวานๆ นั่นเอง หรือถ้าใครไม่มีอ้อยก็สามารถใช้ผลไม้รสหวานอื่นๆ เช่น กล้วย สับปะรด มะละกอ ฯลฯ แทนได้เหมือนกัน

อาหารเลี้ยงด้วงกว่าง

ระยะเวลาในการเลี้ยงด้วงกว่าง เนื่องจากด้วงกว่างเป็นสัตว์เลี้ยงตามธรรมชาติเมื่อเราได้จับมันมาเลี้ยงแล้วเมื่อถึงเวลาก็ต้องนำมันไปปล่อยคืนที่เดิมของมันเพื่อให้มันได้ออกไปขยายเผ่าพันธุ์ การทำเช่นนี้ถือเป็นการอนุรักษ์ด้วงกว่างไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย โดยส่วนมากนั้นเรามักจะนิยมปล่อยด้วงกว่างกันในช่วงกลางๆ เดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลของด้วงกว่างแล้ว

กลับมาคุยกันต่อกับคุณชิณภัทรหลังจากกลับมาอยู่กับพ่อแม่ ก็ได้มาปลูกบ้านอยู่ในบริเวณที่ตั้งฟาร์มในปัจจุบัน ช่วงก่อนไปออสเตรเลีย ก็ได้มีการเลี้ยงกว่างมาก่อน เมื่อกลับมาจึงดำเนินการเลี้ยงต่อ กับคำถามที่ว่าทำไมจึงเลี้ยงกว่าง คุณชิณภัตร ตอบว่า ประการ 1. กว่างในธรรมชาติเริ่มหมดไปจากการบริโภค และจากสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไปสภาพโลกร้อน ทำให้คนสัตว์อยู่ลำบากขึ้นจะต้องช่วยโลกซึ่งเท่ากับช่วยคนและสัตว์ไปด้วย และความสุขในวัยเด็กที่อยู่ในความทรงจำก็จะกลับมา ประการที่ 2. ในช่วงที่อยู่ออสเตรเลียก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของวงการกว่างทางสื่อโซเชียล เนื่องจากเวลาของไทยกับออสเตรเลียแตกต่างกัน 4 ชั่วโมง พบว่าในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ไม่มีผลต่อวงการกว่างเลย มีเพื่อนบางคนเลี้ยงกว่างนับหมื่นตัวต่อฤดู ขายเฉลี่ยตัวละ 200-300 บาท คิดดูว่าทำรายได้เท่าใด เมื่อกลับมาและจะเลี้ยงกว่างพ่อก็ถามว่าจะไปได้หรือ ก็บอกพ่อว่าทำได้และจะทำให้ดู ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์เดิมก็มีอยู่ลงทุนเพิ่มอีกเล็กน้อยก็สามารถที่ไปต่อได้ การเลี้ยงกว่าง คุณชิณภัทร บอกว่า ไม่ใช่ที่สุดแต่เป้าหมายสุดท้ายเป็นเพียงจุดเริ่มต้น อนาคตจะทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์

กว่างที่เพาะไว้ในแก้วน้ำ

การเลี้ยงกว่างจะเลี้ยงในถังพลาสติก (ถังกะปิเดิม) โดยอาหารของด้วงกว่างมีขี้เลื่อย รำละเอียด มูลวัว น้ำหมักจุลินทรีย์ผลไม้ ฮอร์โมนไข่ อีเอ็ม น้ำตาลทรายแดง ผสมหมักให้จุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายวัสดุเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เช็กโดยการเอามือล้วงเข้าไปในกอง หากไม่ร้อนถือว่าใช้ได้สามารถนำเอาไปเลี้ยงด้วงกว่างได้ เลี้ยงครั้งละ 800-900 ถัง จะเปลี่ยนอาหารให้ด้วงกว่างทุก 2 เดือน ซึ่งเท่ากับจะได้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ 400-500 กิโลกรัม นำไปบรรจุกระสอบ กระสอบละ 25 กิโลกรัม ขายในราคา 50 บาท ทำรายได้ให้อีกทางหนึ่งในอนาคต เมื่อทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยในฟาร์มต่อไป โดยจะเปลี่ยนอาหารให้ด้วงกว่าง 2 เดือนครั้ง ครั้งที่ 4 ด้วงกว่างจะทำโพรงเพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย เป็นกว่างที่พร้อมจะเข้าประลอง หรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ขณะนี้มีด้วงกว่างที่เลี้ยงไว้ประมาณ 6,000 กว่าตัวที่ออกมาให้ยลโฉมกัน และจะสร้างรายได้ให้กับคุณชิณภัทร ไม่น้อยกว่า 6 หลักอย่างแน่นอน ติดตามการไลฟ์สดประมูลขายกว่างกันได้ หรือติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ 062-585-6985

อีกคำถามหนึ่งคือ เรื่องความแข็งแกร่ง ผู้เขียนได้รับข้อมูลมาว่ากว่างของทางภาคเหนือจะแข็งแกร่งกว่ากว่างทางภาคอีสาน เพราะกว่างทางเหนือเกิดในดิน แต่กว่างทางภาคอีสานเกิดจากกองชานอ้อย จึงไม่แข็งแรงเท่า

ด้วงกว่างที่กำลังจะเข้าสู่วัยกว่างเต็มตัว

คุณชิณภัทร บอกว่า ไม่เป็นความจริง ปัจจุบันมีคนทางเหนือไปสอนคนอีสาน ไปหากว่างมาขายเพื่อเอามาประลอง แบ่งเกรดเป็น VIP A B C และ D ราคาลดหลั่นกันไป VIP หลักร้อยถึงพันบาท มีคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หากถึงช่วงที่กว่างออกเขาจะกลับไปบ้านทำอาชีพหากว่างขาย ซึ่งทำรายได้ดีกว่าการขับรถในกรุงเทพฯ อีก กว่างอีสานแถบป่ามอหินขาว ผาเบียด ชัยภูมิ และนครไทย ของพิษณุโลก เริ่มหายากแล้ว และมีนำกว่างอีสานมาผสมพันธุ์กับกว่างเหนือ ทำให้ปัจจุบันเริ่มเป็นกว่างลูกผสม 100 เปอร์เซ็นต์ อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องนำกว่างอีสานมาผสมเนื่องจากกว่างในธรรมชาติทางภาคเหนือ การอนุรักษ์เมื่อมีการผสมกันเอง ทำให้เลือดชิด ออกมาไม่สมประกอบ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์โดยใช้กว่างจากถิ่นอื่นเข้ามาผสม เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์และมีความแข็งแกร่ง สามารถประลอง และขยายพันธุ์ได้ อีกเหตุผลหนึ่งที่กว่างธรรมชาติหมดไปเพราะมีคนนิยมนำไปบริโภค จึงมีความจำเป็นเพาะเลี้ยงขึ้นมา เกร็ดความรู้ที่คุณชิณภัทรบอกมาคือกว่างอีสานชอบกินสับปะรด อีกเหตุผลหนึ่งที่มีการเลี้ยงกว่างคือจะทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ขึ้นคือใช้ประโยชน์จากขี้เลื่อย ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่มีรายได้จากการขายอ้อย ซึ่งเป็นอ้อยพื้นเมืองสำหรับอาหารให้กว่าง อีกเรื่องที่คุณชิณภัทรบอกมาคืออ้อยโรงงานเมื่อนำมาให้กิน หากต้นอ้อยใช้ปุ๋ยไม่หมด จะทำให้กว่างที่กินน้ำอ้อยเข้าไปตายทันที กว่างถือเป็นตัวชี้วัดความเป็นอินทรีย์ได้ทางหนึ่ง ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงใช้อ้อยพื้นเมืองเป็นอาหารให้กว่าง นอกเหนือจากกล้วย สับปะรด หรือมะละกอ

กว่างที่ไลฟ์สดขาย

ในส่วนของการเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์กว่างนั้น เพราะย้อนรำลึกถึงวัยเด็กที่จับกว่างจากธรรมชาติมีความสุข ปัจจุบันภาวะโลกเข้ามาทำให้อยากจะฟื้นฟูธรรมชาติ และช่วยอนุรักษ์ให้กว่างมีการพัฒนาไปในแนวทางที่ดี เมื่อหมดฤดูกว่างก็จะคัดเลือกกว่างที่ลักษณะสมบูรณ์สวยงาม มีความเก่งในเชิงประลอง นำมาผสมพันธุ์และเลี้ยงจนกว่าจะถึงฤดูต่อไป อีกส่วนหนึ่งจะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ แต่ไม่บอกว่าจุดไหนกลัวคนไปเก็บมาบริโภค คุณชิณภัทรเคยสอบถามคนที่มาศึกษาดูงานส่วนใหญ่เป็นคนที่นิยมกีฬาประลองกว่าง พบว่าปีหนึ่งหมดเงินไปกับการซื้อกว่างอย่างน้อย 5,000-6,000 บาท หากนำเงินนี้ไปซื้อวัสดุอุปกรณ์มาเลี้ยงกว่าง จะได้กว่าง ใช้ประโยชน์จากกว่าง และปุ๋ย มาใช้ในการปลูกพืชที่เป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อชีวิตของตนเอง

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ไม่มีกัก ไม่ห่วงเทคนิค ไม่กลัวคนลอกเลียนแบบ เพราะทุกคนแตกต่างทั้งสถานที่ ปัจจัยอื่นอีกมากหมายที่จะต้องไปปรับให้เป็นกิจกรรมของตนเอง จะลอกไปทั้งดุ้นไม่ได้แน่นอน แต่อยากให้ทุกคนหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อให้แมลง สัตว์ และมนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เป้าหมายสูงสุดของคุณชิณภัตรคือการทำการเกษตรอินทรีย์ โดยในปีนี้ได้สมัครเข้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา และเข้าร่วมเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับรองมาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (INTERNATIONAL FEDRTION OF ORGANIC AGRICLTURE MOVEMENTS) หรือ IFOAM อีกทั้งสภาพพื้นที่ที่ตั้งแปลงเหมาะสมเพราะอยู่ติดอ่างเก็บน้ำแม่สุกถือเป็นต้นน้ำ น้ำที่นำมาใช้ ไม่ได้ผ่านแปลงเกษตรหรือโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าอนาคตอันใกล้นี้จะมีแปลงเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาอย่างแน่นอน

การไลฟ์สดประมูลขายกว่าง