เอลนีโญ-ลานีญา อะไรกันนักหนาหนอ?

3 ปีที่ผ่านมาเกิด “ปรากฏการณ์ลานีญา” มาอย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อฝนในไทย โดยเฉพาะภาคใต้ ฤดูฝนมีแนวโน้มจะสั้นลง ฝนจะหายไปเร็ว ขณะเดียวกัน ก็คาดว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” จะรุนแรงขึ้น ผลของมันคือจะทำให้ฝนฟ้าไม่ปกติ น้ำจะท่วมหนัก และจะสลับแล้งหนักท่วมหนักเช่นนี้ต่อไปอย่างที่ยังไม่รู้ว่าจะไปยุติตรงไหน และจะมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนการผลิตอาหารของโลก

อะไรกันนักหนา? เดี๋ยวลานีญา เดี๋ยวเอลนีโญ มันจะมาอีท่าไหนกัน?

แล้วที่ว่าจะมีผลต่อการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารป้อนโลก หรือพูดให้ตรงกว่านั้น มีผลต่อชาวไร่ชาวนาทั้งโลกนั้น จะมีผลอย่างไร? รุนแรงแค่ไหน? หรือจะต้องถึงล้มหายตายจากกันเสียสิ้นในคราวนี้?

อธิบายกันแบบสั้นที่สุดคือ เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์สุดขั้วตรงข้ามของกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก กระแสลมเปลี่ยนทิศ กระแสน้ำในมหาสมุทรปรวนแปร มีผลต่อสภาวะอากาศของโลกเป็นวงกว้าง รวมทั้งแถบเอเชียเราด้วย

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือคาดการณ์เวลาได้แน่ชัด จากสถิติเรารู้เพียงว่า ทุกๆ 2 ถึง 7 ปี มักเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาขึ้น โดยเอลนีโญมักเกิดขึ้นในช่วงปลายปี กินเวลาตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปี ขณะที่ลานีญาสามารถเกิดขึ้นยาวนานยิ่งกว่า คือราว 9 เดือนไปจนถึง 2 ปีเลยทีเดียว

ผลกระทบของเอลนิโญต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเกิดพายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งสัตว์ทะเลและมนุษย์ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่ยังคงพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้หลัก และถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แต่ในช่วงใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น อุณหภูมิภายในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เคยมีฝนฉ่ำ ก็จะแห้งแล้ง อันนี้รวมถึงพื้นที่นาข้าวของไทย

เอลนิโญส่งผลกระทบต่อการเกษตรโดยตรง โดยเฉพาะการใช้น้ำในการเกษตรที่สูงถึง 70-80% ของการใช้น้ำทั้งหมดในแต่ละปีของไทย และพื้นที่เพาะปลูกอยู่นอกเขตชลประทานมากถึง 78% โดยผลกระทบของเอลนีโญคือสร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรกรของไทยอย่างมาก ศูนย์วิจัยหลายแห่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรกรของไทยอย่างมากในปี 2566

“เอลนีโญ” (El Niño) เป็นภาษาสเปน แปลว่าเด็กผู้ชาย ลานีญามีความหมายว่า “เด็กผู้หญิง” ฟังชื่อน่ารักน่าเอ็นดู แต่พิษสงไม่น่ารักน่าใคร่เท่าไหร่นะ บอกตรง

หากเกิดเอลนีโญ ปริมาณฝนของไทยจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิก็จะสูงกว่าปกติ ถ้าเอลนีโญรุนแรง ผลกระทบก็จะชัดเจนมากขึ้น

ปีที่มีลานีญา ปริมาณฝนจะสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน อุณหภูมิจะต่ำกว่าปกติในทุกฤดู ความรุนแรงแค่ไหนก็ผิดปกติชัดเจนเท่านั้น พูดกันง่ายๆ คือฟ้าฝนจะวิปริต ควรจะฝนไม่ฝน ควรจะร้อนไม่ร้อน ควรจะหนาวไม่หนาว เราเองก็สัมผัสมันได้ชัดเจนทุกปี ซักเสื้อกันหนาวรอหนาวแล้วหนาวเล่าทุกปี

เทียบกันแล้ว เอลนิโญออกฤทธิ์แรงกว่าเอลนิญา เด็กชายอาละวาดเปิดเปิงกว่าเด็กผู้หญิง แต่ผู้หญิงอาละวาดยืดเยื้อกว่า

เอลนีโญสามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและระบบนิเวศของมนุษย์ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุหมุนเขตร้อน อากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด ไปจนกระทั่งไฟป่าขนาดใหญ่อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ฮาวาย และแคนาดา และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกเนื่องจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม ในบางกรณี อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของศัตรูพืชและโรคได้ เกษตรกรที่พึ่งพาการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบของเอลนีโญ

จากข้อมูลของ World Economic Forum เอลนีโญส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อเมริกากลาง โดยเฉพาะกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และนิการากัว รวมทั้งเฮติและตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล มีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีนี้ ในขณะที่ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนของอาร์เจนตินา กัวเตมาลา และเปรู

ลานีญาครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2563 จนทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามติดตามมาในไม่ช้า ซึ่งก็คือปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต โดยมีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ถึงกว่า 50%

การเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน เป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะทำให้เกิดเอลนีโญซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามบ่อยครั้งและถี่กว่าลานีญา

โดยทั่วไปแล้ว เอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส จึงนับว่าเสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อการทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด ตอนนี้นานาประเทศได้กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือราวร้อยปีก่อน แต่ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในอดีตอยู่แล้วถึง 1.2 องศาเซลเซียส

ปีนี้เตรียมรับมือกับความผันแปรของภูมิอากาศที่จะมาเยือนเรือกสวนไร่นาเรา ทางหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ อันคำว่ามีประสิทธิภาพก็หมายถึงใช้แต่น้อย ใช้แต่พอเหมาะ ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดเท่าที่มี พูดง่ายทำยาก

แต่ต้องทำ