กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมยินดี ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนนาหนองไผ่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศรายชื่อศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 โดย ศดปช. ตำบลนาหนองไผ่ จังหวัดสุรินทร์ ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศ รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 เป็นของ ศดปช. ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง และ ศดปช. ตำบลแม่น้ำคู้ จังหวัดระยอง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลการคัดเลือกการประกวดศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือก ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ผลปรากฏว่า ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนรางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ ศดปช. ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ศดปช. ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และ ศดปช. ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท

​สำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลนาหนองไผ่ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากมีจุดเด่นและได้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ มาถ่ายทอดให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่หรือแปลงเกษตรของตัวเอง ประกอบด้วย 1. การปรับที่นาด้วยเลเซอร์ 2. การดีท็อกดินด้วยชีวภัณฑ์ (Detox Din) 3. การเพาะเลี้ยงและขยายแหนแดงพันธุ์ Azolla microphylla 4. การใช้แบค – บอล (Bac – Ball) เพื่อย่อยสลายสารเคมีและควบคุมโรคพืชที่ตกค้างในดิน 5. การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ PGPR II เพื่อลดต้นทุนการผลิต และ 6. การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่สมาชิกและเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย และให้บริการกับเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก นอกจากนี้ ศดปช. ตำบลนาหนองไผ่ ยังมีการวิเคราะห์ศักยภาพและจัดทำแผนพัฒนา ศดปช. ด้วยเครื่องมือ Smart A4 และบรรจุแผนดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล ปี 2566-2570

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง โดดเด่นในด้านการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปจัดการอย่างเหมาะสม ได้แก่ การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก และไบโอชาร์ มีเครือข่ายด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และสามารถบริหารจัดการงบประมาณหรือเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่ม ก่อให้เกิดรายได้ สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ ศดปช. เช่น มีการระดมหุ้น จากสมาชิกจำนวน 142 ราย และมีเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลแม่น้ำคู้ จังหวัดระยอง โดดเด่นในด้านการวางแผนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อจัดการของเหลือใช้ทางการเกษตรสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยได้นำเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศของกรมวิชาการเกษตรมาปรับใช้อย่างเหมาะสม การเพาะขยายแหนแดงเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ มีแปลงเรียนรู้ยางพาราและมันสำปะหลังในการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และสมาชิกร่วมกันวิเคราะห์กลุ่มและจัดทำแผนพัฒนา ศดปช. ด้วยเครื่องมือ SWOT Analysis และ TOWs Matrix และนำแผนที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่น

สำหรับการประกวด ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. คัดเลือก ศดปช. ดีเด่นระดับประเทศ ที่มีผลงานดีเด่นในด้านบริหารจัดการและการขยายผลการส่งเสริมการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต จนเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้ 2. เพื่อให้ ศดปช. ดีเด่น ระดับประเทศ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน สร้างความภาคภูมิใจในการดำเนินกิจกรรมที่มีส่วนในการพัฒนาเกษตรกรในชุมชน

3. เผยแพร่ผลงานของ ศดปช. ที่ได้รับการคัดเลือก และ 4. สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของ ศดปช. โดย ศดปช. ที่จะเข้าร่วมประกวดในระดับประเทศ ต้องดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี และได้รับการคัดเลือกเป็น ศดปช. ดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2566 ส่วนหลักเกณฑ์การให้คะแนนจะเน้นใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความคิดริเริ่ม 2. ความสำเร็จในการดำเนินงานของ ศดปช. 3. ความสามารถในการบริหารจัดการ 4. การมีส่วนร่วมของสมาชิก และ 5. ความมั่นคง ยั่งยืน

ทั้งนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เป็นเครือข่ายด้านดินและปุ๋ยของกรมส่งเสริมการเกษตร แหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว บริการงานวิชาการ จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ย พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้ และจุดสาธิตให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ