เกษตรกรเชียงใหม่ เลี้ยงปลากะพงขาวน้ำจืด ส่งร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม กำหนดราคาขายเองได้

ปลากะพงขาว (Lates calcarifer) เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของประเทศไทย เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี มีความนิยมในการบริโภคสูง อีกทั้งยังสามารถปรับตัวให้อยู่ในแหล่งน้ำที่มีระดับความเค็มแตกต่างกันได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่น้ำทะเลเค็มจัด ไปจนถึงน้ำจืดสนิทได้

ลักษณะโดยทั่วไปของปลากะพง มีรูปร่างลำตัวหนา ลำตัวแบนข้าง หัวมีขนาดประมาณ 1 ส่วน 4 ของลำตัว ดวงตามีขนาดใหญ่ และมีจะงอยปากแหลม ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย สามารถขยายอุ้งปากได้กว้างเกือบเท่าความลึกของลำตัว

โดยธรรมชาติปลากะพงขาวเป็นปลาในกลุ่มกินเนื้อเป็นอาหาร (carnivorous) โดยอาหารหลักของปลากะพงขาวตามธรรมชาติจะได้แก่ ปลา กุ้ง และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ และมีขนาดเล็กกว่าปากของปลากะพงขาว

ในปัจจุบันปลากะพงขาว ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ได้คราวละมากๆ และมีผู้เพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์ที่หลากหลาย โดยปลากะพงขาวเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย โตเร็ว มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง กินอาหารได้หลากหลาย

ประกอบกับการที่ปลากะพงเป็นปลาที่มีรสชาติดี มีเนื้อสัมผัสที่ละเอียดนุ่มละมุน จึงเหมาะแก่การนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลาย อาทิ ต้มยำ ข้าวต้มปลา ปลาเผา ทอดน้ำปลา ฯลฯ อีกหลายเมนูตามแต่วัตถุดิบในแต่ละพื้นที่จะเอื้ออำนวย ทำให้ปลากะพงขาวมีความต้องการทางตลาดสูง

ปลากะพง ถือเป็นหนึ่งในเมนูยอดฮิตตลอดกาลบนโต๊ะอาหารที่มีราคาสูง แต่ผู้บริโภคก็ยังให้ความนิยมเสมอมา เพราะด้วยเนื้อสัมผัสและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ที่ใครได้ลิ้มลองก็ต้องหลงใหล ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ชื่นชอบกินปลากะพง ยังมีประเทศอื่นๆ อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เป็นต้น ในแต่ละปีปลากะพงถูกส่งออกไปขายในประเทศเหล่านี้จำนวนมาก สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้แก่เกษตรกรไทย ปลากะพงขาวจึงเป็นปลาเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมงของประเทศไทย

บ่อปลากะพง

ด้วยภาพลักษณ์ของปลากะพงขาวที่เป็นปลาทะเลทำให้สามารถพบเห็นฟาร์มปลากะพงขาวในบริเวณชายทะเลและบริเวณปากแม่น้ำ ตั้งแต่ภาคตะวันออกของประเทศไทยไปจนถึงภาคใต้ แต่ด้วยความสามารถของปลากะพงขาวที่ปรับเปลี่ยนตัวให้อยู่ในสภาพแหล่งน้ำที่หลากหลาย ทำให้มีการทดลองเลี้ยงในพื้นที่น้ำจืดเขตภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ที่เป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย

โดยปัจจุบันจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือสุดของประเทศไทย อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ก็สามารถเลี้ยงปลากะพงขาวได้เป็นอย่างดี และมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปลากะพงขาวได้เริ่มเลี้ยงอย่างจริงจังในคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ริเริ่มทดลองเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว

คุณรตพล วัฒนศิริเสรีกุล

คุณรตพล วัฒนศิริเสรีกุล หรือ คุณแชมป์ อายุ 40 ปี เจ้าของฟาร์ม “อ้วนพีพันธุ์ปลา” เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาที่หลากหลาย มหาบัณฑิตจากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คุณรตพล เกษตรกรหนุ่มจังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมเคยเป็นนักวิจัยในโครงการ “การสร้างความมั่นคงด้านอาหารโปรตีนจากปลา และสัตว์น้ำ แก่ชาวไทยภูเขา” หลังจากที่ได้จบการศึกษาได้เห็นว่าปลาในประเทศไทยยังมีปลาอีกหลายชนิดที่มีมูลค่าสูง และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมงในพื้นที่ภาคเหนือให้สามารถสร้างผลผลิตที่มีผลตอบแทนตอบโจทย์แก่การดำรงชีวิตได้ดีกว่าที่มีอยู่เดิม

จึงได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ที่เห็นว่ามีราคาดี มีความต้องการทางตลาดสูง โดยทำการทดลองทั้งจากปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ ที่สามารถหาได้ในพื้นที่ และปลาอื่นๆ ที่สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ นอกเหนือจากปลาดุก ปลานิล และปลาทับทิม ที่มีการเลี้ยงอยู่ทั่วไป แต่ผลตอบแทนอาจจะสวนทางกับจำนวนที่ผลิตได้ โดยได้นำความรู้ที่ได้จากโครงการ “การสร้างโปรตีนจากปลาฯ” เป็นพื้นฐาน และประยุกต์ให้เหมาะกับพฤติกรรมการเลี้ยง และพฤติกรรมของเกษตรกรทางการประมงในจังหวัดเชียงใหม่

ลูกพันธุ์ปลากะพง

โดยเน้นการเลี้ยงแบบต้นทุนต่ำ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงพร้อมให้คำแนะนำในการเลี้ยง ตลอดจนวิธีการให้อาหารและการสร้างอาหารธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง โดยได้ใช้ประสบการณ์ในการทำฟาร์มปลากะพงในจังหวัดจันทบุรี กับเทคนิคที่ได้จากงานวิจัย ประกอบกับความรู้ที่ได้จากสถาบันการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคของปลากะพงขาว

โดยคุณรตพล กล่าวว่า ในการโน้มน้าวเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเดิม ให้มีความสนใจในการเลี้ยงปลากะพงขาว จะเริ่มจากให้เกษตรกรปล่อยปลากะพงลงเลี้ยงในบ่อปลานิล เมื่อปลานิลเริ่มมีอายุเข้าสู่เดือนที่ 4-5 ซึ่งปลานิลที่เลี้ยงจะเริ่มวางไข่และออกลูกจนเต็มบ่อ ทำให้อาหารที่ให้แก่ปลานิลต้องให้เยอะขึ้น และสูญเสียไปกับลูกปลาที่เข้ามาแย่งกินอาหาร การปล่อยปลากะพงขาวลงไปในบ่อจะช่วยควบคุมปริมาณลูกปลานิล

อีกทั้งด้วยมูลค่าของปลากะพงขาวในภาคเหนือที่มีราคาสูง ทำให้การสูญเสียอาหารให้แก่ลูกปลานิลถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นรายได้อีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี ทำให้อาหารที่สูญเสียไปจากการที่ลูกปลาแย่งกินกลับมาเป็นผลตอบแทนได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจับขายได้

โดยในช่วงแรกคุณรตพลจะเป็นผู้รับซื้อปลากะพงกลับทั้งหมด และยังคอยให้คำแนะนำในการสร้างตลาดด้วยตนเองแก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ทำให้ราคาขายที่เกษตรกรสามารถกำหนดได้เอง จากการสร้างความต้องการบริโภคในชุมชน ทั้งจากร้านอาหาร โรงแรม และรีสอร์ตที่พักที่มีอยู่มากมายในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกษตรกรบางรายสามารถจำหน่ายปลากะพงขาวที่ผลิตได้เองโดยมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 230 บาท

เนื่องจากเป็นปลาเป็น และมีรูปแบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในตัวเกษตรกร และปลากะพงขาวที่สามารถผลิตได้ในพื้นที่ แตกต่างกับการเลี้ยงปลาที่ต้องใช้จำนวนเยอะ เพื่อตอบสนองต่อปริมาณการจับของพ่อค้าคนกลาง ที่จะเป็นผู้กำหนดราคาปลาจากความต้องการในตลาด เปลี่ยนเป็นการกำหนดราคาตามความเหมาะสม และพึงพอใจของเกษตรกรและผู้ซื้อ โดยปลากะพงขาวที่สามารถผลิตได้ คุณรตพลก็ยังคงรับซื้อกลับตามราคาขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ ประกอบกับราคาอ้างอิงจากชมรมผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงแห่งประเทศไทย ณ วันที่จับ

โดยในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถหาตลาดเองได้ เช่น ตลาดชุมชน ร้านอาหาร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน สามารถกำหนดราคาขายที่มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และร้านค้า โรงแรมที่รับซื้อ ก็เป็นคนกำหนดคุณภาพของปลากะพงขาว ทำให้ปลากะพงขาวที่ได้มีลักษณะที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง ทำให้มีเกษตรกรหลายรายที่เริ่มทำการเลี้ยงปลากะพงอย่างจริงจัง

ลูกปลากะพงจากฟาร์ม

จะเริ่มเลี้ยงลูกปลาที่มีไซซ์เล็ก ครึ่งนิ้ว ถึง 1 นิ้ว เพื่อให้ลูกปลาคุ้นชินกับสภาพน้ำ และสภาพอากาศของภาคเหนือโดยจะทำการอนุบาลในบ่อพลาสติก ขนาด 2×4 เมตร ลึก 40 เซนติเมตร (การเลี้ยงแต่ละรูปแบบสามารถปรับได้ ให้สอดคล้องกับผู้เลี้ยง) ซึ่งการอนุบาลในลักษณะนี้ทำให้สามารถดูแลทำความสะอาด และเปลี่ยนน้ำได้ง่าย ใช้ปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย อัตราส่วนในการปล่อยลูกปลาคือ น้ำ 1 ตันต่อจำนวนลูกปลา 3,000 ตัว คุณรตพล กล่าวว่า จากประสบการณ์เลี้ยงอัตราการรอดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์

อาหาร

อาหารสำหรับลูกปลา จะให้อาหารสำเร็จรูป 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งราคาอาหารสำเร็จรูป น้ำหนัก 20-25 กิโลกรัม กระสอบละ 1,300-1,400 บาท ต้นทุนอาหารไม่ถึง 1 บาทต่อตัว การให้อาหารลูกปลาจะให้ 3 ครั้งต่อวัน เช้า-กลางวัน-เย็น

การให้อาหารไม่ว่าจะเป็นลูกปลาหรือปลากะพงที่โตแล้ว ต้องให้ทีละน้อยๆ แต่ให้เรื่อยๆ จนปลาเริ่มอิ่ม เพราะปลากะพง หากให้อาหารครั้งละมากๆ เมื่อเม็ดอาหารบวมน้ำก็จะไม่กิน และส่งผลให้เกิดน้ำเสียได้ เมื่อเลี้ยงลูกปลาได้ 1 เดือน ก็จะมีขนาดไซซ์ 4 นิ้ว ซึ่งลูกปลาไซซ์ 4 นิ้ว มีความแข็งแรง พร้อมแก่การนำไปจำหน่ายเพื่อการเลี้ยงเป็นปลาเนื้อได้แล้ว

บ่อปลากะพง

การเลี้ยงปลากะพงในบ่อดิน เพื่อเป็นปลาเนื้อ

ปลากะพงจะถูกเลี้ยงควบคู่ไปกับปลานิล ปลาตะเพียน เพราะปลานิล ปลาตะเพียน เป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ออกลูกเต็มบ่อ เมื่อนำปลากะพงไปเลี้ยงร่วมกัน ปลากะพงจะกินลูกปลาเป็นอาหาร และนี่คือ วัฏจักร ธรรมชาติของปลากินเนื้อที่จะกินสัตว์น้ำที่เล็กกว่า ซึ่งเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงอีกด้วย

อัตราส่วนในการเลี้ยงปลากะพงในบ่อดิน บ่อขนาด 1 ไร่ต่อจำนวนปลา 2,500 ตัว และบ่อขนาด 1 งานต่อจำนวนปลา 500 ตัว เพื่อลดความหนาแน่น ส่งผลให้ปลามีสุขภาพดี ได้คุณภาพ และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่การเลี้ยงในแต่ละรอบการผลิต

โรคและปัญหาที่เคยเจอจากการเลี้ยง

คุณรตพล กล่าวว่า การเลี้ยงปลากะพงจำเป็นอย่างมากคือ ออกซิเจนในน้ำ ดังนั้น ในการเลี้ยงปลากะพงขาวหากมีการควบคุมความหนาแน่นที่ดีในการเลี้ยงที่ความหนาแน่นไม่มากเกินไป ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยง และต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงได้ ทำให้ภาระของเกษตรกรลดลงในแง่ของการดูแล และแก้ปัญหาเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง เนื่องจากปลากะพงเป็นปลาที่มีมูลค่าผลตอบแทนสูง ผู้เลี้ยงจึงไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะขาดออกซิเจนลงได้

โรคที่พบในการเลี้ยงจะได้แก่ โรคจากเชื้อรา และโรคตัวด่าง แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่เกลือในน้ำ เกลือจะช่วยปรับสมดุลเกลือแร่ในเลือดของปลา ทำให้ปลามีความแข็งแรงและสดชื่นขึ้น โดยโรคที่พบจะพบเฉพาะในบ่ออนุบาลของทางฟาร์มเนื่องจากมีการเลี้ยงที่มีความหนาแน่นสูง แต่ยังไม่พบการเกิดโรคในบ่อเลี้ยงปลากะพงที่ซื้อลูกพันธุ์จากทางฟาร์ม เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้เกิดจากการเลี้ยงในปริมาณความหนาแน่นที่มากเกินไป และปลากัดกันเกิดบาดแผลทำให้สามารถติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ง่าย

การตลาด

คุณรตพลจะแบ่งตลาดของฟาร์มออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ลูกพันธุ์ปลาที่ผลิตจากฟาร์ม โดยจะมีการจัดจำหน่ายโดยทำการขนส่งด้วยตัวเองจนถึงที่ทั่วทั้งภาคเหนือตอนบน
  2. ตลาดปลากะพงเนื้อ โดยฟาร์มจะเป็นผู้รับซื้อ หรือเกษตรกรจะเป็นผู้ขายให้แก่ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม และตลาดปลาในพื้นที่ใกล้กับฟาร์มเลี้ยง
  3. ปลากะพงเป็นสำหรับกีฬาตกปลากะพง ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากในภาคเหนือ ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาตกปลา ต่างแวะเวียนมาที่นี่ เพราะมีปลากะพงที่ขนาดใหญ่ และค่าใช้จ่ายในการตกปลากะพงขาวถูกกว่าการขับรถ หรือนั่งเครื่องบินไปตกที่จังหวัดชายทะเล อีกทั้งยังสามารถมาได้บ่อยตามที่ต้องการ

คุณรตพลกล่าวถึงเหตุผลที่ทำตลาดเนื้อปลากะพง ที่โซนภาคเหนือ เพราะภาคเหนือไม่มีทะเล ดังนั้น การขนส่งปลาทะเลอย่างปลากะพงขาว มายังภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายสูง และปลาที่ได้ไม่สดเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันทางฟาร์มมีปลาสดพร้อมจำหน่าย ทำให้มีความต้องการทางตลาดภาคเหนือสูง ผู้ซื้อสามารถมั่นใจได้ว่าปลาที่ได้สดอย่างแน่นอน และราคาขายทางฟาร์มสามารถกำหนดเองได้

“นอกจากปลากะพงแล้ว ประเทศไทยยังมีปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยง แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงาม โดยคุณรตพลมีความคิดว่า ผู้เลี้ยงปลาควรทำการประเมินศักยภาพของบ่อ และเลือกวิธีการเลี้ยงปลาที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างกระบวนวิธีเลี้ยงที่เฉพาะ และเหมาะสมกับพื้นที่ ประกอบกับผู้เลี้ยงควรริเริ่มหาตลาดท้องถิ่นใกล้ๆ ตัวเองและวางแบบแผนในการขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ในทุกๆ วัน”

สำหรับท่านใดที่สนใจ ลูกพันธุ์ปลากะพงขาว ปลากะพงสด บ่อตกปลากะพงขาว ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณรตพล วัฒนศิริเสรีกุล อาศัยอยู่ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 082-986-7414 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : อ้วนพีพันธุ์ปลา