“แตงลาย” แตงไทย เป็นผัก ผลไม้ และยาเย็น

ชาวบ้านชนบทที่ทำไร่ไถนา ในแต่ละปีจะมีแผนการปลูกพืช อยู่ในใจแล้วว่า ช่วงไหนจะปลูกอะไรได้ความรู้มาจาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย บรรพบุรุษสอนให้จำทำให้ดู ลูกหลานก็เรียนรู้ตามต่อ เป็นวิถีชีวิตสืบกันมา อยากจะย้อนรอยถอยหลังไปถึงอดีตที่เคยได้สัมผัส เช่นเดียวกับเขาชาวบ้านเหล่านั้น ถึงสมัยนี้จะมีคำประณามหยามเหยียดส่อเสียดทิ่มแทง ของคนทั่วไปว่าเป็น “ชาวไร่เลื่อนลอย” ก็ตามที แต่อยากเล่าถึงองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาในการเพาะปลูกพืชของคนสมัยนั้น จนมาเกี่ยวพันกับพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แตงลาย” แตงของไทยแท้ ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาไทยเรา

“แตงลาย หรือ แตงไทย” เป็นไม้ประเภทเถาล้มลุก ลำต้นหรือเถาแตง มีลายเป็นสันร่องตามความยาวของเถา มีข้อ แตกกิ่งแขนง มีมือเกาะ มีขนขึ้นปกคลุมทั่วต้น ใบแตงลาย เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่พอประมาณ มีลักษณะรูปทรงกลมเป็นเหลี่ยม มีเว้าเล็กน้อย ขอบใบหยัก ก้านใบยาว มีขนขึ้นปกคลุมทั่วใบ ดอกแตงลาย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้เป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองออกที่ง่ามใบ กลีบดอกรูปทรงกระบอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีเกสรตัวผู้ 3 อัน บริเวณอับเรณูจะมีติ่งยาวยื่นออกมา ส่วนดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยวเหมือนดอกตัวผู้ มีรังไข่ที่เปิดเป็นแฉก 3-5 แฉก รอรับการผสมเกสร

ผลแตงลาย มีแบบกลมบ้าง ยาวรีบ้างตามสายพันธุ์ ผลอ่อนสีเขียว มีลายขาว หรือลายเหลืองอ่อน พาดตามยาว เนื้อในผลอ่อน แข็งสีขาวนวล เนื้อกรอบ รสจืด ถึงอมเปรี้ยวเล็กน้อย ลักษณะผลอ่อนคล้ายแตงกวา แต่ผลใหญ่ยาวแข็งกว่า สีผิวเขียวเข้มกว่า ผิวเรียบไม่มีปุ่มตุ่มหนาม หรือสีคล้ายกับแตงร้าน แต่มีลาย ผิวเรียบมันกว่า ขนาดผลโตพอกัน ผลแก่เปลือกจะบาง สีผิวเปลือกจะเป็นสีเหลือง มีลายสีขาว กลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อในสีเหลืองนวล หรือเขียวอ่อน รสชาติไม่หวานมาก ออกจะจืด และอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกแก่แล้วจะมีเมล็ดแบนเล็กในผลเยอะมาก แตงลายต้นหนึ่งจะติดผล 3-5 ผล ผลอ่อนเก็บมากินเป็นผัก เหลือผลไว้ให้แก่ต้นละ 1 ผล ไว้เก็บกินเป็นผลไม้

“แตงลาย” หรือ แตงไทย (Musk Melon) เป็นพืชในตระกูลแตง CUCURBITACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L.var.conomon “แตงลาย” เป็นชื่อเรียกของชาวบ้านภาคเหนือ หรือเรียกว่า มะแตงสุก ภาคกลางเรียก แตงไทย ภาคอีสานเรียก แตงกิง หรือแตงจิง เขมรเรียก ซกเซรา ส่วนกะเหรี่ยงเรียกสั้นๆ ว่า “ดี” แตงลาย เป็นชื่อเรียกตามลักษณะที่มองเห็น ตั้งแต่เถาต้นลาย ผลอ่อนลาย ผลแก่ก็ลาย ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีอยู่ทั่วทุกภาค เดี๋ยวนี้เริ่มมีการปลูกเพื่อการค้ากันมากขึ้นแล้ว เพราะแตงชนิดนี้สามารถนำมาประกอบอาหาร แปรรูปอาหารได้หลายอย่าง มีคุณสมบัติทางยาป้องกันรักษาโรค และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของคนรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น แถมยังสามารถสกัดสารที่สำคัญมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่างทีเดียว

การปลูกแตงลาย ของชาวไร่เลื่อนลอยสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านเขาปลูกเป็นพืชแซม ปะปนกับข้าวไร่ และพืชไร่อื่นๆ ในการปลูก “ข้าวไร่” เมื่อก่อนนั้นมีการถางฟันป่าบนเนินเขา ตีนเขา อาจถึงยอดเขา ถ้าได้กิ่งไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กๆ ก็เก็บรวบรวมไว้ทำรั้ว ทำฟืน เผาถ่าน ถ้าเป็นไม้ไผ่ไร่ก็ตัดเอาลำไผ่ที่แกร่งไปใช้หรือขายให้ชาวสวน นำไปทำค้างปลูกถั่ว ปลูกบวบ ไม้ไผ่ที่ปล้องยาวเอาไปทำกระบอกใส่น้ำ ใส่เมล็ดพืช ใช้เป็นกระบอกข้าวหลาม หรือใช้แทนหม้อแกงทำอาหาร ไม้ไผ่และไม้ที่โตหน่อย เอามาทำห้างพักนั่งนอนเล่น อ้อ! ที่ซากกอไผ่ อีกไม่นานจะมีหน่อไม้เรียก “หน่อหุ้น” ออกมาให้แกง อร่อยมาก ถางป่าพง ป่าหญ้า ทิ้งไว้จนซากเศษกิ่งไม้ใบไม้แห้ง จึงจะเผาเศษกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้าแห้ง พร้อมกับตัดถางหญ้าและยอดไม้ที่ออกใหม่ สุมไฟเผาให้พื้นที่โล่งเตียน นี่ละกระมังที่สมัยนี้ประณามว่าชาวบ้าน “สร้างมลพิษ” ช่างเขาเหอะนะ เรื่องผ่านมานาน เดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้ว หรือไม่มีที่ป่าให้ถางให้เผาแล้ว อะฮิอะฮิ

เมื่อได้ที่โล่งเตียนแล้ว กะเก็งเอาว่าวันใดฝนจะตก ทำการปลูกข้าวไร่และพืชต่างๆ โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้แล้ว กรรมวิธีปลูกข้าวไร่นั่นแหละ คือกำเนิดของ “แตงลาย” ที่กำลังจะพาไปเก็บกิน วิธีการปลูกข้าวไร่ หลังจากพื้นที่พร้อมแล้ว ชาวบ้านก็ชักชวนสมัครพรรคพวก ลูกหลานช่วยกันลงมือ อุปกรณ์การปลูก คือกระบอกไม้ไผ่ที่ปล้องยาวๆ ตัด 1 ปล้อง มีข้อปิดหัวท้าย ปลายด้านบนตัดเป็นปากฉลาม ใช้เป็นเสียม เจาะรูที่ข้อขนาดประมาณนิ้วมือ เป็นรูใส่บรรจุเมล็ดพืชเข้า และเทออกตอนหยอดปลูก มีเชือกเป็นสายคล้องไหล่ อุปกรณ์นี้ใช้สำหรับใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ คลุกยาผงป้องกันแมลง และพร้อมกันนั้น จะใส่เมล็ดแตงลายหรือเมล็ดพืชอื่นๆ ที่อายุสั้น ลงไปผสมรวมกันในกระบอก วิธีหยอดเมล็ด ไม่มีการขึ้นแปลง ไม่ต้องไถพรวน เขาใช้เดินเรียงหน้า ก้มลงจิ้มแทงกระบอกไม้ไผ่ด้านปากฉลามลงพร้อมกับปล่อยนิ้วมือที่ปิดปากรู ให้เมล็ดพืชหยอดลงรอยร่องที่เจาะโดยปากกระบอก เขี่ยดินกลบ รอฝนเป็นอันเสร็จเรียบร้อย อีกไม่นาน ข้าวไร่โต ต้นแตงลายก็โตตาม ข้าวไร่ตั้งตัวโตขึ้น แตงผลอ่อนให้เก็บมากินได้แล้ว และโตขึ้นๆ จนเป็นแตงสุก เกี่ยวข้าวเสร็จ แตงลายให้ผลสุก เก็บไปกินไปขายได้แล้ว ทิ้งเศษซากต้นใบ ดังที่เรียกกันสมัยน้ำว่า “แตงเถาตาย” ปลูกพืชไร่รอบเดียว ได้ผลผลิต 2 อย่าง หรืออาจจะมีหลายอย่าง ตามแต่จะใส่เมล็ดพันธุ์ลงไปในกระบอก เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว ฟักทอง บวบเหลี่ยม บวบกลม หรือมะนอยอ้อมแอ้ม งาดำ งาขี้ม้อน

คุณค่าทางอาหาร แตงลาย หรือแตงไทยผลอ่อน ที่นิยมนำมากินเป็นผัก 100 กรัม มีคุณค่าทางอาหาร ได้แก่ ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 3.7 กรัม น้ำตาล 8 กรัม โปรตีน 0.8 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม เส้นใยอาหาร 0.5 กรัม และธาตุอาหารต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม 267 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม แคลเซียม 20 มิลลิกรัม โซเดียม 16 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม วิตามินเอ 2.0 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.02 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีหก 0.1 มิลลิกรัม วิตามินซี 31 มิลลิกรัม วิตามินเค 4 มิลลิกรัม และมีกรดที่เป็นประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น กรดแกลลิก กรดเอลลาจิก กรดคาเฟอิก เป็นต้น

ชาวบ้านนำแตงลายมาประกอบอาหาร เอามากินได้ตั้งแต่ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ผลอ่อน และผลแก่ นำมาประกอบอาหาร หรือเป็นผักสดได้หลากหลาย เป็นผลไม้ได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก แกงเลียง หรือลวกต้มจิ้มน้ำพริก ผลแตงอ่อนเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก โดยเฉพาะน้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกเห็ดด่าน น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะกอก น้ำพริกน้ำผัก ผัดใส่หมู ชุบแป้งทอดกรอบ ผัดใส่ไข่ แกงเผ็ดไก่ แกงเผ็ดหมู แกงส้มกุ้งฝอยปลาน้อย ต้มจืดกระดูกหมู เป็นผักเคียงยำ ลาบ พล่า ซอยจุ๊ ข้าวผัด ข้าวราดแกง นำมาทำตำซั่ว ส้มตำแตง ส้าแตง แตงดอง ส่วนผลแก่ หรือผลแตงสุก ใช้เป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาลต่ำ เนื้อนุ่ม รสชาติดี กลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นผลไม้ไทยที่นิยมกินกันมาก โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า นำมาทำขนมหลายอย่าง เช่น ขนมแตง แกงบวดแตง แตงเชื่อม ใส่น้ำแข็งไสรวมมิตร น้ำแตงปั่น

แตงลาย มีสรรพคุณเป็นยาพื้นบ้านป้องกันรักษาโรคต่างๆ และมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย ได้แก่ ดอกอ่อนตากแห้ง ต้มน้ำกินช่วยอาเจียน ระบายท้อง บดเป็นผงใช้พ่นจมูก ผลแตงลายอ่อน แก้โรคดีซ่าน ช่วยขับปัสสาวะ รักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับเหงื่อ ขับน้ำนม แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เลือดกำเดาไหล มีวิตามินบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ บำรุงสมองและประสาท ควบคุมน้ำหนัก ลดการอักเสบ เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ดับกระหายคลายร้อน ชะลอวัย ลดผิวหยาบกร้าน ด่างดำ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ท้องอืด ท้องเสีย เกิดแก๊สในกระเพาะ มีเส้นใยอาหารช่วยระบบการย่อยอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย มีประโยชน์ต่อร่างกายเรามากมาย ที่สำคัญ เป็นผัก เป็นผลไม้ ที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ สะสมความเป็นธรรมชาติไว้อย่างดี

สิ่งที่คาดหวังไว้ในยามนั้น ขณะนี้เริ่มมีเค้าความเป็นไปได้ คือ “แตงลาย” จะเป็นผลไม้ระดับชาติ ที่มีตลาดกว้างใหญ่ มีลูกค้านิยมชมชอบมากมาย เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย จะใช้ชื่อ “แตงลาย” หรือ “แตงไทย” ก็ได้ทั้งนั้น ขณะนี้เริ่มมีการพัฒนาการปลูก พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ สร้างสีสัน ทำสื่อเผยแพร่ เปิดตลาด ส่งเสริมการแปรรูปมากยิ่งขึ้นแล้ว และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า “แตงลาย” หรือ “แตงไทย” ถึงแม้ประวัติจะระบุว่าต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย ว่าแต่ในดงหิมะเช่นนั้น จะมีพืชพรรณที่ลักษณะเช่น “แตงลาย” เจริญพันธุ์ได้ดีหรือ เชื่อเหอะว่า ถ้าไทยจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ “แตงลายแตงไทย” คงไม่ผิดนัก